รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 17 กรกฎาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 17, 2013 10:56 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 กรกฎาคม 2556

Summary:

1. ห่วงเศรษฐกิจไทยขยายตัวไม่ถึงร้อยละ 4 แนะรัฐลงทุนเพิ่ม

2. "นายก" เตรียมประชุมรับมือค่าครองชีพที่สูงขึ้น

3. ธนาคารกลางอินเดียประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อป้องกันการอ่อนค่าของค่าเงินรูปี

Highlight:

1. ห่วงเศรษฐกิจไทยขยายตัวไม่ถึงร้อยละ 4 แนะรัฐลงทุนเพิ่ม
  • อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจ และแนวโน้มในครึ่งปีหลังว่า เศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 56 มีแนวโน้มชะลอตัว โดยดัชนีชี้ภาวะเศรษฐกิจ ทั้งดัชนีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะดัชนีผลผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่มีสัญญาณการหดตัวชัดเจน และต่ำต่อเนื่องจากไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 56อาจโตไม่ถึง 4% ดังนั้น รัฐบาลจะต้องมีการการลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุดเดือน พ.ค. 56 บ่งชี้เศรษฐกิจไทนในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 56 มีสัญญาณชะลอตัวลงต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 สะท้อนได้จากการผลิตจากภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวร้อยละ -7.5 ต่อปี และภาคอุปสงค์ต่างประเทศจากปริมาณการส่งออกปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวโดยหดตัวร้อยละ -5.2 ต่อปี ขณะที่การลงทุนภาครัฐที่แท้จริงในไตรมาส 1 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 18.8 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 31.1 จากการลงทุนในหมวดก่อสร้าง และการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 13.4 และ 30.3 จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 27.1 และ 38.7 ตามลำดับ จากการก่อสร้างของรัฐบาลกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ชะลอลง ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการลงทุนของภาครัฐที่แท้จริงในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 13.3 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 12.8 - 13.8) เพิ่มขึ้นจากปี 55 ที่ขยายตัวร้อยละ 8.9 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายรัฐบาลที่เน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งรายจ่ายงบประมาณลงทุนและรายจ่ายตามแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาวของภาครัฐวงเงินลงทุนรวม 3.5 แสนล้านบาท และเศรษฐกิจไทยในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.0 - 5.0) คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 56
2. "นายก" เตรียมประชุมรับมือค่าครองชีพที่สูงขึ้น
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ว่า นายกรัฐมนตรี แสดงความเป็นห่วงราคาน้ำมันตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นจนส่งผลให้น้ำมันเบนซินปรับขึ้นต่อเนื่อง และส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของประชาชน ดังนั้น จะมีการเรียกประชุมกรอบการดูแลค่าครองชีพประชาชนและทิศทางราคาน้ำมันในสัปดาห์หน้า และกระทรวงพลังงานจะเรียกประชุมคณะทำงานเพื่อเสนอกรอบการดูแลแก่นายกรัฐมนตรีต่อไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ข้อมูลล่าสุดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิ.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.3 ลดลงจากต้นปีที่อยู่ที่ร้อยละ 3.0 แต่สูงขึ้นร้อยละ 0.15 เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค. 56 (% mom )จากการสูงขึ้นของหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารที่สูงขึ้นร้อยละ 0.56 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศที่ร้อยละ 1.79 ซึ่งจากผลการสำรวจของ Bloomberg (ณ มี.ค. 56) พบว่าประเทศไทย อยู่อันดับ 47 จาก 60 ประเทศ ของประเทศที่มีราคาน้ำมันแพง แต่เมื่อเทียบกับค่าครองชีพแล้ว พบว่าอยู่ในอันดับที่ 10 ของโลก โดยคนไทยบริโภคน้ำมัน ซึ่งคิดเป็นการบริโภคทางตรง และทางอ้อม เช่น ค่าขนส่งสินค้า ฯลฯ สูงถึงร้อยละ 25 ของรายได้ อย่างไรก็ตาม สศค. คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 56 ว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 56 จะอยู่ที่ 106.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (ช่วงคาดการณ์ที่ 101.0-111.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) และ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.0 - 3.0)
3. ธนาคารกลางอินเดียประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อป้องกันการอ่อนค่าของค่าเงินรูปี
  • ธนาคารกลางอินเดีย ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรการที่ใช้สำหรับปล่อยกู้ให้กับธนาคารพาณิชย์ ในช่วงเวลาที่เกิดการขาดแคลนเงินทุนในตลาด และดอกเบี้ยที่ปล่อยให้กับธนาคารพาณิชย์ โดยการส่งสัญญาณถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากสูงถึงร้อยละ 2.00 จากเดิมที่ดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 8.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 10.25 และคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิมที่ร้อยละ 7.25 ทั้งนี้ การขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อทำให้นักลงทุนมีแรงจูงใจมากขึ้น ที่จะถือครองเงินรูปีไว้ และอาจดำเนินมาตรการอื่นๆ ที่จำเป็นอีก เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจมหภาค
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารกลางอินเดียส่วนหนึ่งเนื่องเป็นผลมาจากการป้องกันการอ่อนค่าของเงินรูปี อันจะเป็นผลทำให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น และส่งผลต่อเนื่องให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงขึ้น โดยจากต้นปีถึงปัจจุบันค่าเงินรูปีเทียบกับเงินดอลลาร์อ่อนค่าสูงถึงร้อยละ -7.7 ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด GDP ของอินเดียในไตรมาสที่ 1 ปี 55 อยู่ที่ร้อยละ 4.8 ลดลงจากร้อยละ 5.1 ในปี 55 ทั้งนี้ อินเดียเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย โดยในปี 55 ไทยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกไปยังอินเดียคิดเป็นร้อยละ 4.9 ของมูลค่าการส่งออกรวม และยังมีการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยสูงสุดในกลุ่มเอเชียใต้ หรือ คิดเป็นส่วนร้อยละ0.64 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งหมดของไทย ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ มิ.ย. 56 ว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอินเดียในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 5.8

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ