Macro Morning Focus ประจำวันที่ 18 กรกฎาคม 2556
Summary:
1. ประธานสภาหอการค้าฯ กังวลปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น
2. โตโยต้าฯเผยยอดขายรถยนต์ทั้งระบบในประเทศครึ่งปีแรกอยู่ที่740 ,795 คัน
3. BOJ ระบุยังไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการเพิ่ม
Highlight:
1. ประธานสภาหอการค้าฯ กังวลปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น
- นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกิตติมศักดิ์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บอกว่าแม้เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะมีแนวโน้มชะลอตัวลง ดังนั้น มาตรการของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต อาจจะส่งผลให้ระดับหนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น
- สศค .วิเคราะห์ว่า ภาวะหนี้ครัวเรือนในไตรมาสแรกของปี 56 อยู่ที่ร้อยละ 74.8 ของ GDP ลดลงจากปลายปี 55 อยู่ที่ร้อยละ 77.5 สินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลในไตรมาส 1/56 (สัดส่วนร้อยละ 25.1 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวร้อยละ 20.0 ต่อปี จากสินเชื่อเพื่อการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเฉพาะการขยายตัวของสินเชื่ออุปโภคบริโภคกรณีไม่รวมสินเชื่อเพื่อการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์พบว่า ขยายตัวลดลงอยู่ที่ร้อยละ 15.1 ต่อปี ทั้งนี้ การขยายตัวของสินเชื่ออุปโภคบริโภคแผ่วลงจากไตรมาสก่อนหน้าโดยขยายตัวร้อยละ 1.6 (q-o-q) เทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.0 (q-o-q) สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตพบว่า การผิดนัดชำระหนี้ของสินเชื่อบัตรเครดิตยังอยู่ในระดับต่ำ โดยล่าสุด ยอดค้างสินเชื่อเกิน 3 เดือนขึ้นไปต่อสินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ของสินเชื่อบัตรเครดิต สะท้อนว่าภาคครัวเรือนยังมีความสามารถในการชำระหนี้ที่ดี
2. โตโยต้าฯเผยยอดขายรถยนต์ทั้งระบบในประเทศครึ่งปีแรกอยู่ที่740 ,795 คัน
- บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด แถลงยอดขายรถยนต์ในช่วงครึ่งแรกของปี 56 (ม.ค.- มิ.ย.56) มีปริมาณการขายทั้งสิ้น 740,795 คัน คาดว่าทั้งปี 56 จะมียอดขายอยู่ที่ 1.3 ล้านคัน ลดลง 9.5% จากปีก่อนที่มียอดขายรถทั้งระบบราว 1.4 ล้านคัน หลังสิ้นสุดโครงการคืนภาษีรถยนต์คันแรก ส่วนในปี 57 คาดว่ายอดขายรถยนต์ทั้งระบบลดลงมาที่ประมาณ 1.2 ล้านคัน
- สศค. วิเคราะห์ว่า ปริมาณจำหน่ายรถยนต์ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 56 ที่ขยายตัวชะลอลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นผลจากการที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่จองรถยนต์เพื่อใช้สิทธิรถยนต์คันแรกตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ได้ทยอยรับรถเรียบร้อยแล้ว ประกอบกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์ในปัจจุบันกำลังปรับตัวเข้าสู่สภาวะปกติหลังจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปีที่แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในหมวดยานยนต์ในช่วงไตรมาสแรกของปี 56 ที่ขยายตัวร้อยละ 47.4 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 312.2 ทั้งนี้ การที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์ที่ชะลอลงจะส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชนที่แท้จริงในปี 56 ที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราชะลอลงจากปีก่อนหน้า โดย สศค. คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนที่แท้จริงจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.1 - 4.1)
3. BOJ ระบุยังไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการเพิ่ม
- ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) สรุปการประชุมในเดือน มิ.ย. 56 ว่า BOJ ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากมาตรการการซื้อขายพันธบัตรอย่างยืดหยุ่นนั้นสามารถควบคุมความผันผวนในตลาดได้ นอกจากนี้ BOJ ยังได้ยกระดับการประเมินเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยระบุว่า "เศรษฐกิจกำลังดีขึ้นเมื่อเทียบกับการประชุมครั้งก่อน (วันที่ 22 พ.ค.56) พร้อมทั้ง ยืนยันว่า BOJ จะเพิ่มฐานเงินที่อัตรา 60-70 ล้านล้านเยนต่อปี
- สศค. วิเคราะห์ว่า ธนาคารญี่ปุ่นได้ดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางเงิน (QE2) เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตั้งแต่เดือน เม.ย. 56 โดยหลักการของมาตรการ QE คือ การที่ BOJ เข้าซื้อตราสารทางการเงินในตลาดการเงินประมาณ 142 ล้านล้านเยน (ประมาณ 1.4-1.5 ล้านล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ภายในระยะเวลา 2 ปี โดยมีมาตรการต่างๆ ได้แก่ 1) การให้ความสำคัญกับฐานเงิน (money base) แทนอัตราเงินเฟ้อ (inflation rate) ซึ่งครอบคลุมถึงเงินที่หมุนเวียนอยู่ในมือของประชาชนและธนาคารพาณิชย์ที่ฝากไว้ที่ธนาคารกลาง และ 2) การเพิ่มปริมาณเงินให้ได้ปี ละ 60-70 ล้านเยนเพื่อให้ฐานเงินสูงขึ้นจาก 135 ล้านล้านเยน เป็น 270 ล้านล้านเยน ภายในมี.ค. 58 ปี ซึ่งนอกจากมาตรการ QE แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นยังมีมาตรการสำคัญเพิ่มเติมอีก 2 เรื่องคือ มาตรการการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ โดยจากข้อมูลเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุด วัดจากยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานของญี่ปุ่นในเดือน พ.ค. 56 ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 10.5 จาก -8.8 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย โดยในปี 55 ไทยส่งออกไปยังญี่ปุ่นสูงเป็นอันดับที่ 2 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.2 ของมูลค่าการส่งออกรวม และยังมีการเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยสูง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.15 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งหมดของไทย ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ มิ.ย. 56 ว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257