รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 29 กรกฎาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 29, 2013 11:24 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 กรกฎาคม 2556

Summary:

1. พณ.หั่นเป้าส่งออกเหลือร้อยละ 6.5

2. สศอ. ปรับเป้าหมาย GDP อุตสาหกรรม ปี 56 อยู่ที่ร้อยละ 3.0 - 4.0

3. รัฐบาลไต้หวันพิจารณามาตรการภาษี สกัดกั้นฟองสบู่ภาคอสังหาฯ

Highlight:

1. พณ.หั่นเป้าส่งออกเหลือร้อยละ 6.5
  • ปลัดกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า การส่งออกในช่วง 6 เดือนแรกของปีมีมูลค่า 113,304 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.95 การนำเข้ามีมูลค่า 129,075.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.32 ดุลการค้าขาดดุล 15,771.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจากสถานการณ์การส่งออกในครึ่งปีแรก ขยายตัวไม่ถึงร้อยละ 1 และจากเป้าทั้งปีที่ตั้งไว้จะขยายตัวร้อยละ 7.0 - 7.5 นั้น ในครึ่งปีหลัง หากจะผลักดันการส่งออกให้ได้ตามเป้า จะต้องมีมูลค่าเกินเดือนละ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องยาก ดังนั้น จึงลดเป้าส่งออกมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6.0 - 6.5
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลเดือนล่าสุดในเดือน มิ.ย. 56 พบว่ามูลค่าการส่งออกหดตัวร้อยละ -3.4 โดยเป็นการหดตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าเกษตร เป็นสำคัญ ส่วนด้านตลาดหลักในการส่งออกพบว่า การส่งออกไปยังจีนเป็นแหล่งที่มาหลักในการหดตัวของการส่งออกในเดือนที่ผ่านมา และหากพิจารณาในช่วง 6 เดือนแรก การส่งออกขยายตัวเพียงร้อยละ 0.95 โดยมีสินค้าส่งออกหลักคือสินค้ายานยนต์ ส่วนสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ยังคงมีการหดตัวในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ หากพิจารณาช่วงครึ่งปีหลัง พบว่าการส่งออกของไทยยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งได้ส่งผลต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจประเทศต่างๆรอบโลก จึงอาจเป็นแรงกดดันสำคัญทำให้การส่งออกของไทยในปี 56 อาจจะขยายตัวได้ดีกว่าปีที่ผ่านมาไม่มากนัก
2. สศอ. ปรับเป้าหมาย GDP อุตสาหกรรม ปี 56 อยู่ที่ร้อยละ 3.0 - 4.0
  • ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยถึงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ไตรมาส 2 ปี 56 หดตัว 5.2 ส่งผลให้ในช่วง 6 เดือนแรกปี 56 (ม.ค.- มิ.ย. 56) หดตัวร้อยละ 1.1 ดังนั้นจึงทำให้ สศอ.ปรับประมาณการผลิตของภาคอุตสาหกรรมปี 2556 จากเดิมที่คาดการณ์ว่าการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมอุตสาหกรรม (GDP อุตสาหกรรม) จะขยายตัวร้อยละ 5-6 ลงมาเหลือร้อยละ 3.0 - 4.0
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 56 อาทิ 1. การฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเฉพาะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป และเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังประสบปัญหา ประกอบกับจีนจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอความร้อนแรงลง โดยจะส่งกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านด้านภาคการค้าระหว่างประเทศ และ 2.การชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศ ที่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานที่สูงขึ้นในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้ จากการที่ สศอ. ปรับลดคาดการณ์ GDP ภาคอุตสาหกรรม ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 56 จะขยายตัวในอัตราชะลอลงเช่นกัน เนื่องจาก GDP ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 39.0 ของเศรษฐกิจรวม อย่างไรก็ดี สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 56 จะขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 4.5 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 56)
3. รัฐบาลไต้หวันพิจารณามาตรการภาษี สกัดกั้นฟองสบู่ภาคอสังหาฯ
  • รัฐบาลไต้หวันกำลังพิจารณามาตรการทางภาษีเพิ่มเติมเพื่อควบคุมความร้อนแรงในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน ขัดแย้งกับภาคเศรษฐกิจจริงที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจโลก โดยมาตรการทางภาษีที่ทางรัฐบาลไต้หวันประกาศใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ การเก็บภาษีร้อยละ 15 กับอสังหาริมทรัพย์ที่ขายหลังจากการซื้อไม่เกินหนึ่งปี และเก็บในร้อยละ 10 ในกรณีไม่เกิน 2 ปีเพื่อลดแรงจูงใจในการเก็งกำไร อย่างไรก็ดี ช่องว่างระหว่างราคาอสังหาริมทรัพย์และรายได้ประชากรโดยเฉพาะในเมืองไทเป เมืองหลวงของไต้หวัน กลับถ่างออกอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนราคาบ้านต่อรายได้ในไตรมาสแรกของปี 2556 (จากข้อมูลของกระทรวงกิจการภายในของรัฐบาลไต้หวัน) อยู่ที่ 8.9 เท่าเพิ่มขึ้นจาก 8.2 เท่าในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สำหรับมาตรการที่ออกมาใหม่จะพุ่งเป้าไปที่มาตรการที่สามารถลดแรงจูงใจในการเก็งกำไรในระยะที่ยาวขึ้นมากกว่า 2 ปี หรืออาจออกมาตรการที่เก็บภาษีจากฝั่งผู้ซื้อ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สำรวจข้อมูลสัดส่วนราคาอสังหาริมทรัพย์ต่อรายได้จากเว็บไซต์ numbeo.com ในปี 55 พบว่า ไต้หวันอยู่ที่อันดับ 15 ของประเทศที่มีสัดส่วนสูงที่สุด โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 17.9 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่างจากการประกาศของทางการไต้หวันจากการคำนวณดัชนีที่ต่างกัน (numbeo.com คำนวณจากค่ากลางของราคาอพาร์ทเมนท์) อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีสัดส่วนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งในปีดังกล่าวโดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 31.8 เท่าที่สังเกตจากข้อมูลจะพบว่า ประเทศในกลุ่มที่มีสัดส่วนสูงมักจะอยู่ในเอเชียซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีเศรษฐกิจที่เติบโตสูง โดยใน 20 อันดับแรกประกอบไปด้วยประเทศจากเอเชียถึง 8 ประเทศด้วยกัน เช่น จีนมีสัดส่วนอยู่ที่ 29.8 ฮ่องกง 29.5 เท่า เวียดนาม 21.6 เท่า ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับที่ 22 โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 15.5

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ