รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 30 กรกฎาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 30, 2013 11:56 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 30 กรกฎาคม 2556

Summary:

1. หอการค้าคาด Q4/56 เศรษฐกิจฟื้นตัว

2. สศก. เผยเศรษฐกิจเกษตรครึ่งปีแรกโต 0.4

3. IMF คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวร้อยละ 1.7 ในปีนี้ และร้อยละ 2.7 ในปีหน้า

Highlight:

1. หอการค้าคาด Q4/56 เศรษฐกิจฟื้นตัว
  • รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกยังคงทรงตัว ขณะที่ในครึ่งปีหลังแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดเจนโดยเฉพาะการบริโภคที่มีแนวโน้มที่ลดลง ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจจะส่งสัญญาณฟื้นตัวในไตรมาส 4/56 และคาดว่าทั้งปีเศรษฐกิจไทยจะโตแค่ร้อยละ 4.0
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัว ทั้งจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์และด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม สะท้อนได้จากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมครึ่งปีแรกหดตัวร้อยละ -0.9 สำหรับการบริโภคและการลงทุนเอกชนส่งสัญญาณชะลอตัวลงเช่นกันอย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย โดยในครึ่งปีแรกมีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาแล้วทั้งสิ้น 12.74 ล้านคน สำหรับเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะได้รับปัจจัยบวกจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ประกอบกับการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 7.5 ของการส่งออกรวม ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2556 จะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 4.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.0 - 5.0 คาดการณ์ ณ มิ.ย.56)
2. สศก. เผยเศรษฐกิจเกษตรครึ่งปีแรกโต 0.4
  • เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรฯ ครึ่งปี56 ขยายตัวเพียง 0.4 เนื่องจากผลกระทบภัยแล้งและผลกระทบจากโรคตายด่วนที่ระบาดในกุ้ง ทำให้การขยายตัวภาคประมงคาดว่าจะติดลบร้อยละ 5.5 - 6.5 สำหรับภาพรวมของเศรษฐกิจการเกษตรปี 56 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 55 อยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 - 2.5 โดยสาขาพืชขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 - 4.3 เนื่องจากผลผลิตพืชส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าผลผลิตข้าวนาปี มันสำปะหลัง อ้อยโรงงานเพิ่มขึ้น ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับ ผลผลิตปาล์ม ยาง คาดเพิ่มขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคเกษตรในปี 56 ได้แก่ 1. ปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น ภาวะภัยแล้ง และโรคระบาด ที่ส่งผลกระทบให้ผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมหดตัวลง โดยเฉพาะข้าวนาปรังที่หดตัวร้อยละ -12.2 อย่างไรก็ดี ผลผลิตยางและปาล์มน้ำมันคาดว่าจะมีผลผลิตออกมาต่อเนื่อง ตามพื้นที่การเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวที่เพิ่มขึ้น 2. อุปสงค์สินค้าเกษตรกรรมในตลาดโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้ราคาผลผลิตสินค้าเกษตรยังคงอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคายางพารา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร โดยข้อมูลล่าสุดในช่วง 6 เดือนแรกของปี 56 ราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้หดตัวที่ร้อยละ - 1.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้รายได้เกษตรกรที่แท้จริงหดตัวที่ร้อยละ -3.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
3. IMF คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวร้อยละ 1.7 ในปีนี้ และร้อยละ 2.7 ในปีหน้า
  • IMF คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวร้อยละ 1.7 ในปีนี้ และร้อยละ 2.7 ในปีหน้า ซึ่งลดลงร้อยละ 0.2 จากที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือน เม.ย. แต่จะยังคงฟื้นตัวเล็กน้อยจากแรงหนุนของมาตรการทางการเงินที่ผ่อนคลาย และจากความมั่งคั่งของภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นเพราะราคาบ้านกับราคาหุ้นสูงขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่งกว่าช่วงปีก่อนโดยเฉพาะในส่วนของตลาดแรงงานและตลาดที่อยู่อาศัย ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในช่วง วิกฤตซับไพรม์ อาทิ ยอดการสร้างบ้านใหม่ที่ประมาณ 836,000 หลัง/เดือน เทียบกับช่วงไตรมาส 2/54 ที่ประมาณ 608,000 หลัง/เดือน อัตราการว่างงานที่ร้อยละ 7.6 เทียบกับช่วงไตรมาส 2/54 ที่ร้อยละ 9.1 การเพิ่มขึ้นของราคาที่อยู่อาศัย ร้อยละ 12.05 เทียบกับช่วงไตรมาส 2/54 ที่หดตัวร้อยละ -4.39 อย่างไรก็ดี เชื่อว่า ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ระดับ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนในการประชุมวันที่ 30-31 ก.ค. นี้ เนื่องจากยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนด้านการคลังแม้เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวบ้างแล้วก็ตาม จึงมีความเป็นไปได้ที่ Fed อาจรอดูท่าทีอีกระยะหนึ่งก่อนตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ควรดำเนินการติดตามความเคลื่อนไหวของทั้งเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจหลักอื่นๆ เพื่อประเมินโอกาสการปรับทิศทางนโยบายที่เกี่ยวข้องอันจะส่งผลต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย เสถียรภาพของเงินบาท รวมถึงภาพรวมของเศรษฐกิจไทยต่อไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ