รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมิถุนายน 2556 และไตรมาสที่ 2 ของปี 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 29, 2013 13:59 —กระทรวงการคลัง

ฉบับที่ 26/2556                                                                                                วันที่ 29 กรกฎาคม 2556

“สถานการณ์ล่าสุดของเศรษฐกิจไทยในเดือนมิถุนายน 2556 และไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 บ่งชี้สัญญาณการชะลอลงจากช่วงก่อนหน้า ทั้งจากด้านอุปสงค์ภายในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมหดตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐที่สามารถขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง”

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมิถุนายน 2556 และไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 ว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอลงทั้งจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์และด้านอุปทาน โดยเฉพาะเครื่องชี้เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม สะท้อนได้จากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2556 หดตัวร้อยละ -3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 หดตัวร้อยละ -5.2 โดยเฉพาะในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ วิทยุ โทรทัศน์ และอาหารเป็นสำคัญ โดยดัชนีภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่หดตัวนี้ สอดคล้องกับตัวเลขการส่งออกในเดือนมิถุนายน 2556 ที่หดตัวร้อยละ -3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 ที่หดตัวร้อยละ -2.2 โดยการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญหดตัวทั้งจากประเทศ จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ดี โดยในเดือนมิถุนายน 2556 ขยายตัวที่ร้อยละ 25.0 ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2556 มีจำนวนนักท่องเที่ยวรวมทั้งสิ้น 5.9 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 21.3 เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าโดยมาจากนักท่องเที่ยว จีน มาเลเซีย และรัสเซีย เป็นหลัก นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องและเบิกจ่ายได้ตามเป้า โดยในเดือนมิถุนายน 2556 การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวที่ร้อยละ 5.7 และอัตราการเบิกจ่ายสะสมในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณอยู่ที่ร้อยละ 69.3 เทียบกับเป้าหมายการเบิกจ่ายที่อยู่ร้อยละ 69.0

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ชี้แจงข้อมูลเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติมว่า “สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปสงค์ภายในประเทศวัดจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณชะลอลงเช่นกัน สะท้อนได้จากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนมิถุนายน 2556 หดตัวร้อยละ -2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ใน ไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 หดตัวร้อยละ -0.2 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า สำหรับการบริโภคสินค้าคงทนสะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนมิถุนายน 2556 หดตัวร้อยละ -17.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 หดตัวร้อยละ -3.3 ลดลงมากจากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยหลักจากการส่งมอบรถยนต์จากโครงการรถยนต์คันแรกที่ได้ดำเนินการไปแล้วในช่วงปลายปี 2555 และต้นปี 2556 เช่นเดียวกับปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนมิถุนายน 2556 หดตัวร้อยละ -10.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 หดตัวร้อยละ -6.2 ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าเช่นกัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้เกษตรกรที่เริ่มหดตัวเกือบทั่วทุกภาค ตามราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลง สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรมีสัญญาณชะลอลงสะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนมิถุนายน 2556 หดตัวร้อยละ -10.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 3.2 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมีการเร่งส่งมอบรถยนต์เชิงพาณิชย์ไปก่อนหน้าแล้ว ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างมีสัญญาณชะลอลงสะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนมิถุนายน 2556 หดตัวร้อยละ -11.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 11.0 ซึ่งเป็นการชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า”

รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวสรุปว่า “เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุดบ่งชี้ เศรษฐกิจไทยในเดือนมิถุนายน 2556 และไตรมาสที่ 2 ปี 2556 มีสัญญาณชะลอลงจากไตรมาสที่ 1 ปี 2556 ซึ่ง สศค. ประเมินว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2556 เศรษฐกิจไทยอาจจะต้องเผชิญความเสี่ยงจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะทิศทางการปรับลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing: QE) ของสหรัฐอเมริกา และเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง อีกทั้งแนวโน้มของการชะลอตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ ซึ่งบทบาทนโยบายการคลังจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับนักลงทุนในระยะต่อจากนี้ไป”

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ