Macro Morning Focus ประจำวันที่ 31 กรกฎาคม 2556
1. หอการค้าแนะรัฐบาลกระตุ้นท่องเที่ยว - การค้าชายแดน
2. ครม. เห็นชอบการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็น 7 ขั้น เพื่อกระจายภาระภาษีให้เท่าเทียมกัน
3. ผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือน มิ.ย. 56 ของญี่ปุ่นหดตัวร้อยละ -3.3
Highlight:
- รองประธานกรรมการหอการค้าไทย แถลงผลการสำรวจสถานการณ์เศรษฐกิจครึ่งปีแรกและแนวโน้มครึ่งปีหลัง 56 ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง มีเพียงภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี โดยหากพิจารณาเศรษฐกิจรายภาค พบว่าภาพรวมทุกภาคมีแนวโน้มชะลอตัวลง ยกเว้นภาคตะวันออกที่ยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ขยายตัวต่อเนื่อง โดยครึ่งปีแรก 56 มูลค่าการค้าชายแดนของภาคตะวันออกขยายตัวร้อยละ 25 ต่อปี ทั้งนี้ จึงได้เสนอแนะให้รัฐบาลส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยวและการค้าชายแดนอย่างจริงจัง เนื่องจากเศรษฐกิจของเพื่อนบ้านยังเติบโตได้ดี อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลัง 56 จะเติบโตได้ร้อยละ 4 สอดคล้องกับหลายหน่วยงานที่ปรับลดเป้าหมาย GDP ลงมาต่ำกว่าร้อยละ 5 ต่อปี
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุด ชี้ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 56 มีสัญญาณชะลอลงทั้งจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์และด้านอุปทาน สะท้อนได้จากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2 ปี 56 หดตัวร้อยละ -5.2 สอดคล้องกับตัวเลขการส่งออก ที่หดตัวร้อยละ -2.2 จากการส่งออกไปยังประเทศ จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาตลาดส่งออกไปยังกลุ่มอินโดจีน (สัดส่วนร้อยละ 7.5 ของตลาดส่งออกทั้งหมด) ยังคงมีศักยภาพขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 10 ต่อปี โดยมีสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ดี โดยในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวร้อยละ 21.3 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าหากสถานการณ์ปกติทั้งปี 56 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งสิ้น 26.3 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 18.0 ต่อปี และจะสร้างรายได้ให้กับประเทศ 1.19 ล้านล้านบาท และคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 56 จะสามารถขยายตัวได้ในช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.0 - 5.0 (ณ เดือน มิ.ย. 56)
- คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 56 เห็นชอบให้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .. ตามมาตรการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อส่งเสริมความเป็นธรรมและให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจต่อรัฐสภา โดยให้ปรับปรุงขั้นและอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจาก 5 ขั้น เป็น 7 ขั้น และลดอัตราสูงสุดจากร้อยละ 37 เป็นร้อยละ 35 เพื่อกระจายภาระภาษีให้เท่าเทียมกันมากขึ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า มาตรการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังกล่าว เป็นมาตรการที่กำหนดให้สอคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและรายได้ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก โดยจะเป็นการลดภาระภาษีและสร้างความเป็นธรรมในการกระจายรายได้ให้มากยิ่งขึ้นรวมทั้งเป็นการปิดช่องโหว่ของการหลีกเลี่ยงภาะภาษีเงินได้ โดยมาตรการดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อรายได้ภาษีอากรในปีงบประมาณ 56 ประมาณ 25,000 ล้านบาท แต่จะทำให้รายได้สุทธิของผู้เสียภาษีมากขึ้น อันจะช่วยกระตุ้นให้การใช้จ่ายภายในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาวต่อไป รวมทั้งทำให้อัตราภาษีของไทยเป็นที่จูงใจ และแข่งขันกับต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 56 รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิหลังการจัดสรรให้ อปท. ได้เท่ากับ 1,616.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมากกว่าประมาณการ 82.0 พันล้านบาท หรือร้อยละ 5.3 โดยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้ 233.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมากกว่าประมาณการ 23.0 พันล้านบาท หรือร้อยละ 10.9
- ผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือน มิ.ย. 56 ของญี่ปุ่นหดตัวร้อยละ -3.3 จากเดือนก่อนหน้า ตามการลดลงของผลผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สวนทางกับการเพิ่มขึ้นในเดือนก่อนหน้าและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัวร้อยละ -1.7 ขณะที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนในเดือน มิ.ย. 56 หดตัวร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้จะมีการคาดหวังว่าน่าจะเพิ่มขึ้น หลังจากข้อมูลก่อนหน้านี้ระบุว่าดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบกว่าหนึ่งปี
- สศค. วิเคราะห์ว่า สิ่งที่เป็นประเด็นความท้าทายที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเผชิญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในขณะนี้คือ แม้ว่ารัฐบาลจะได้ดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ (Abenomics ) โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายที่ได้ส่งผลทำให้ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นปรับตัวอ่อนค่าลงและส่งผลดีต่อภาคการส่งออก สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกในเดือน มิ.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นสามารถกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง โดยล่าสุด GDP ในไตรมาสที่ 1 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ภาคการผลิตในเดือนล่าสุดของญี่ปุ่นกลับมีสัญญาณการหดตัวโดยเฉพาะการผลิตเพื่อการส่งออก นอกจากนี้ อุปสงค์ในประเทศในเดือน มิ.ย. 56 ก็เริ่มมีสัญญาณที่ไม่ดี สะท้อนจากการใช้จ่ายของครัวเรือนหดตัวร้อยละ -2.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 44.6 จุด ลดลงจากระดับ 46.0 จุด ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งนับเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 6 เดือน และสะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นที่ลดลงเนื่องจากการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นสำคัญ บ่งชี้ถึงระดับรายได้ที่แท้จริงของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นที่ลดลงโดยเปรียบเทียบทั้งนี้ สิ่งที่จะเป็นประเด็นทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่จะต้องติดตามต่อไปคือ นโยบาย Abenomics ของรัฐบาลญี่ปุ่นจะสนับสนุนการลงทุนในประเทศและการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในอนาคตต่อไปหรือไม่ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 1.5 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 56)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257