รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 1 สิงหาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 1, 2013 10:41 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 1 สิงหาคม 2556

Summary:

1. ธปท.สนับสนุนรัฐบาลลงทุนโครงการ 2 ล้านล้านบาท

2. แบงก์ชาติประเมินเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 56 ชะลอตัว คาด GDP โตต่ำกว่าร้อยละ 4.0

3. ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจยูโรโซนปรับตัวดีขึ้น

Highlight:

1. ธปท.สนับสนุนรัฐบาลลงทุนโครงการ 2 ล้านล้านบาท
  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่มูลค่า 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาล จะทำให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน แต่การลงทุนดังกล่าวต้องมีความคุ้มค่าและโปร่งใส ส่วนระดับหนี้สาธารณะของรัฐบาลในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 44 ถือว่าไม่ได้สูงเกินไป แต่ในอนาคตหลังจากที่ภาครัฐมีการลงทุน และนับเม็ดเงินเหล่านี้เข้าด้วยกัน มีโอกาสสูงที่หนี้สาธารณะจะสูงเกินร้อยละ 60 ต่อ มGDP ได้ แต่ไม่เป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะหากโครงการที่ลงทุนแล้วเกิดประสิทธิภาพก็สามารถสร้างรายได้กลับมายังรัฐบาลได้ในอนาคต กรณีนี้ก็จะทำให้ ขนาดของ GDP ใหญ่ขึ้นและสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ก็จะลดลงตามลำดับ
  • รัฐบาลได้ในอนาคต กรณีนี้ก็จะทำให้ ขนาดของ GDP ใหญ่ขึ้นและสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ก็จะลดลงตามลำดับ สศค. วิเคราะห์ว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐจะเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในอนาคต ก่อให้เกิดการจ้างงาน เกิดการกระจายรายได้ ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนสูงขึ้น ส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในระยะยาว ทั้งนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ล่าสุด ณ สิ้นเดือนเม.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 44.2 ซึ่งยังต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 อย่างไรก็ตาม โครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท ดังกล่าว รัฐบาลได้มีการเพิ่มทางเลือกในการระดมทุนภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณและช่วยลดความเสี่ยงทางการคลังโดยมีการจัดหาเงินทุนผ่านความร่วมมือภาครัฐ-ภาคเอกชน (Public Private Partnership: PPP) ประมาณ 140.4 พันล้านบาท ผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการรถฟ้าสีน้ำเงินและสายสีม่วง
2. แบงก์ชาติประเมินเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 56 ชะลอตัว คาด GDP โตต่ำกว่าร้อยละ 4.0
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 2 ปี 56 จะเติบโตต่ำกว่าร้อยละ 4.0 แต่คงไม่ติดลบแน่นอน โดยหากเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 56 น่าจะเติบโตในอัตราที่ใกล้เคียงกันหรือขยายตัวเล็กน้อย ซึ่งในระยะต่อไปคงขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของกลุ่ม G3 ที่อาจช่วยให้การส่งออกในช่วงท้ายของปีนี้ฟื้นตัวได้ และทำให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนฟื้นกลับมาได้ต่อเนื่อง ส่วนในไตรมาสที่ 3 ปี 56 ไม่น่าจะชะลอลงกว่าไตรมาสที่ 2 ปี 56 แต่ยังมีความเสี่ยงค่อนข้างมากจากปัจจัยต่างประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่มั่นคงนัก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน มิ.ย. 56 และไตรมาสที่ 2 ของปี 56 บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอลงทั้งจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์และด้านอุปทาน โดยเฉพาะเครื่องชี้เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมซึ่งสะท้อนได้จากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน มิ.ย. 56 หดตัวร้อยละ -3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ไตรมาสที่ 2 ปี 56 หดตัวร้อยละ -5.2 โดยเฉพาะในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ วิทยุ โทรทัศน์ และอาหารเป็นสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน มิ.ย. 56 ที่หดตัวร้อยละ -3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ 2 ปี 56 ที่หดตัวร้อยละ -2.2 จากการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญที่หดตัวทั้งจากประเทศ จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมะปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวได้ดี สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือน มิ.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 25.0 ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 56 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 21.3 เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 18.9 นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องและเบิกจ่ายได้ตามเป้า โดยการใช้จ่ายภาครัฐในเดือน มิ.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และอัตราการเบิกจ่ายสะสมในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณอยู่ที่ร้อยละ 69.3 เทียบกับเป้าหมายการเบิกจ่ายที่อยู่ร้อยละ 69.0 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ของไทยในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 4.5 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.0-5.0) (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 56)
3. ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจยูโรโซนปรับตัวดีขึ้น
  • ผลสำรวจเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยูโรโซนในเดือน ก.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 92.5 ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือน มิ.ย.ที่ 91.3 ซึ่งตัวเลขล่าสุดที่ออกมาสอดคล้องกับการคาดการณ์ความเชื่อมั่นที่ปรับตัวสูงขึ้นนี้ แสดงให้เห็นถึงสัญญาณที่บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจยูโรโซนกำลังจะหลุดพ้นจากภาวะถดถอยที่ยืดเยื้อ ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจะไม่หดตัวลงในไตรมาส 2 และจะกลับมาขยายตัวในไตรมาสที่ 3
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การขยายตัวของดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในเดือน ก.ค. ของยูโรโซน สูงสุดในรอบ 15 เดือนที่ผ่านมา ได้รับปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจของสี่ประเทศหลักของยูโรโซน ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี่ และสเปนที่ความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวสูงขึ้นในเดือน ก.ค. ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในหมวดอุตสาหกรรม บริการ และค้าปลีกปรับตัวสูงขึ้น ยกเว้นภาคการก่อสร้างที่ยังคงหดตัวอยู่ นอกจากนี้ ข้อมูลล่าสุดของยอดค้าปลีกของยูโรโซนในเดือน พ.ค. กลับมาขยายตัวร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ทั้งนี้ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ค. 56 ยังคงหดตัวร้อยละ -1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -0.3 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) จากการผลิตในหมวดสินค้าคงทนและสินค้าทุนที่หดตัวเป็นสำคัญ ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจของยูโรโซนในปี 56 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -0.5 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 56)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ