Macro Morning Focus ประจำวันที่ 2 สิงหาคม 2556
1. สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดส่งออกข้าวทั้งปี 6.5 ล้านตัน โดยครึ่งปีหลังฟื้นตัวได้ดีกว่าครึ่งปีแรก
2. GDP สหรัฐฯ ไตรมาส 2 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวเร่งขึ้น และ FOMC ยังคงสนับสนุน QE
3. อัตราเงินเฟ้ออินโดนีเซียปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 4 ปี
Highlight:
- สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดการณ์ว่า การส่งออกข้าวไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 56 น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นกว่าช่วงครึ่งแรกของปี จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากจีน สิงคโปร์ และฮ่องกง โดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยประมาณการว่า การส่งออกข้าวในปี 56 จะมีปริมาณทั้งสิ้น 6.5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 4.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีแรกมีการส่งออกข้าวแล้วเป็นปริมาณ 2.9 ล้านตัน ถือเป็นการหดตัวที่ร้อยละ -8.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้มูลค่าการส่งออกหดตัวลงร้อยละ -3.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
- สศค. วิเคราะห์ว่า การคาดการณ์ของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยที่แสดงว่า ในครึ่งปีหลังจะมีการส่งออกปริมาณ 3.6 ล้านตันเทียบกับ 2.9 ล้านตันในครึ่งปีแรกนัน ถือว่าเป็นปัจจัยที่ส่งสัญญาณบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเสี่ยงจากสภาพเศรษฐกิจของจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่จากไทย ที่ยังมีทิศทางไม่สดใสนัก ดังจะเห็นได้จาก เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจของจีน อาทิ การนำเข้าในครึ่งปีแรกที่หดตัว -0.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม โดย HSBC เดือน ก.ค. 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ที่ต่ำสุดในรอบ 11 เดือน ที่ระดับ 47.4 จุด ซึ่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนนี้ จะส่งผลต่อเศรษฐกิจของสิงคโปร์และฮ่องกงได้ อย่างไรก็ตาม ข้าวยังคงเป็นสินค้าจำเป็นเพื่อการบริโภคของประชาชน อีกทั้งยังเป็นอาหารหลักของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งการบริโภคภายในประเทศของจีนยังคงเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ สะท้อนจากยอดค้าปลีกที่ขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 56 และในเดือน ก.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 13.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จึงจำเป็นต้องจับตาดูสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลต่ออุปสงค์ข้าวไทยในตลาดโลกต่อไป
- ทางการสหรัฐฯ ประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งแรกปี 56 ขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.4 จากการลงทุนภาคธุรกิจที่กลับมาขยายตัวถึงร้อยละ 4.6 จากไตรมาสก่อน ขณะที่ผลการประชุม FOMC เมื่อคืนที่ผ่านมา บ่งชี้ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งแรกของปีขยายตัวในอัตราต่ำ แม้ว่าภาคการจ้างงานจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แต่อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้มติเสียงข้างมากในที่ประชุมยังคงสนับสนุนให้มีการดำเนินมาตรการ QE เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย ขณะที่บางส่วนแสดงความเห็นว่า การดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินที่มากเกินไปนั้น อาจก่อนให้เกิดสภาวะไร้สมดุลทางเศรษฐกิจและการเงินในอนาคต ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะยาวนันเพิ่มขึ้นได้
- สศค. วิเคราะห์ว่า GDP สหรัฐฯไตรมาส 2 ปี 56 ที่ออกมานันแม้ว่าจะเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า แต่อย่างไรก็ตามการขยายตัวในครึ่งแรกปี 56 นันยังคงเป็นไปอย่างเปราะบางโดยขยายตัวเฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 2.0 ประกอบกับอัตราการว่างงานสหรัฐ เดือน มิ.ย. 56 ยังคงอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 7.6 ของกำลังแรงงานรวม แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาตลาดการจ้างงานสหรัฐฯ เริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ตาม ขณะที่แรงกดดันด้านราคายังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยวัดจากดัชนีราคาค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค (PCEPI) ในไตรมาส 2 ปี 56 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ จากตัวเลขที่กล่าวมาข้างต้น สะท้อนว่าในระยะสั้นนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ น่าจะยังคงดำเนินมาตรการ QE ต่อไป จนกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะบรรลุเป้าหมายที่ระดับการว่างงานเฉลี่ยร้อยละ 6.5 และอัตราเงินเฟ้อที่เฉลี่ยร้อยละ 2.0 เป็นสำคัญ
- สำนักงานสถิติแห่งชาติอินโดนีเซียรายงานว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 8.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 5.9 และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี ทั้งนี้ เป็นผลจากการลดเงินอุดหนุนราคาน้ำมันของรัฐบาลในช่วงปลายเดือน มิ.ย.56 ที่ทำให้ราคาน้ำมันโดยเฉลี่ยสูงขึ้นถึงร้อยละ 33.0
- สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้ออินโดนีเซียในเดือน ก.ค. 56 ที่ปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 8.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนนัน ทั้งนี้ เป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากการลดเงินอุดหนุนราคาน้ำมันของอินโดนีเซียเป็นสำคัญ ซึ่งจะเห็นได้จากค่าใช้จ่ายในหมวดขนส่งที่ขยายตัวถึงร้อยละ 15.2 นอกจากนี้ เนืองจากน้ำมันเป็นต้นทุนสำคัญในการขนส่งสินค้าประเภทอาหารสด จึงส่งผลให้ราคาสินค้าในหมวดอาหารสดขยายตัวถึงร้อยละ 14.8 ตามไปด้วย ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 56 ซึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าในหมวดอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นสำคัญ ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้คาดการณ์ถึงแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากนโยบายภาครัฐดังกล่าว ในวันที่ 13 มิ.ย. 56 และ11 ก.ค. 56 ธนาคารกลางอินโดนีเซียจึงได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 เดือนต่อเนื่องกัน จากร้อยละ 5.75 ต่อปีมาเป็น 6.00 ต่อปี และปรับขึ้นเป็นร้อยละ 6.5 ต่อปีในเดือน ก.ค. 56 เพื่อเป็นการลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อพร้อมทั้งรักษาเสถียรภาพภายในระบบการเงินจากการอ่อนค่าของเงินรูเปียห์จากเงินทุนไหลออกเป็นจำนวนมากในช่วงต้นเดือน มิ.ย. 56 ทั้งนี้ ควรเฝ้าติดตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียและมาตรการการของธนาคารกลางอินโดนีเซียในการลดแรงกดดันจากเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดต่อไป
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257