รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 5 สิงหาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 5, 2013 13:34 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 5 สิงหาคม 2556

Summary:

1. CPF คาดส่งออกไก่ในปี 56 ขยายตัวร้อยละ 10.0 -15.0

2. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการเดือนมิ.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 46.8

3. เศรษฐกิจอินโดนีเซีย ในไตรมาส 2 ปี 56 โตต่ำกว่าร้อยละ 6.0

Highlight:

1. CPF คาดส่งออกไก่ในปี 56 ขยายตัวร้อยละ 10.0 -15.0
  • บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) เปิดเผยว่าการส่งออกเนื้อไก่ช่วงครึ่งหลังปี 56 มีแนวโน้มดีขึ้น โดย คาดว่าการส่งออกเนื้อไก่ในปี 56 จะเติบโตร้อยละ 10.0 -15.0 หรือมีปริมาณเพิ่มจาก 5.5 แสนตัน เป็น 6.2 แสนตัน โดยตลาดหลักอยู่ที่สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันกำลังรอผลการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อเปิดตลาดนำเข้าไก่สดจากไทย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกไก่ในปี 56 คาดว่าจะได้รับปัจจัยบวกจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักอย่างประเทศญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนอยู่ในระดับสูงหรือประมาณร้อยละ 53.0 ของการส่งออกไก่ทั้งหมด ประกอบกับการส่งออกไก่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว จากการที่สหภาพยุโรปประกาศยกเลิกการห้ามนำเข้าเนื้อไก่สดจากไทยที่มีมาตั้งแต่ปี 47 เนื่องจากเคยมีการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกในไทย ให้สามารถส่งออกได้ตามปกตินับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 55 เป็นต้นมา ส่งผลให้การส่งออกไก่ ในปี 55 ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 9.8 อย่างไรก็ดี ในช่วง 6 เดือนแรกปี 56 การส่งออกไก่หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
2. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการเดือนมิ.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 46.8
  • สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index : TSSI) เดือนมิ.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 46.8 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 43.5 จากเดือนก่อน และเป็นการเพิ่มขึ้นทุกภาคธุรกิจ โดยภาคค้าส่ง ภาคค้าปลีก และภาคบริการ อยู่ที่ระดับ 49.1 45.9 และ 46.8 จากระดับ 48.9 43.0 และ 41.7 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้เกษตรกรที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (TSSI) ปรับตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจด้านภาคการค้าและบริการยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างเนื่อง เนื่องจากภาคการบริการมีสัดส่วนในระดับสูง หรือประมาณร้อยละ 52.0 ของเศรษฐกิจไทยโดยรวม อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบภาคการค้าและบริการในปี 56 ได้แก่ 1. การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้จากการส่งออกไทย และ 2. แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวในอัตราเร่งผิดปกติในปี 55 รวมถึงแนวโน้มการปรับตัวเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตของธุรกิจ SME อาทิ ค่าจ้างแรงงาน เป็นต้น
3. เศรษฐกิจอินโดนีเซีย ในไตรมาส 2 ปี 56 โตต่ำกว่าร้อยละ 6.0
  • รัฐบาลอินโดนีเซียเปิดเผยข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 ปี 56 พบว่าอินโดนีเซียสามารถขยายตัวร้อยละ 5.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ และเป็นครั้งแรกที่เศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัวได้ต่ำกว่าร้อยละ 6 นับตั้งแต่ปี 53 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอุปสงค์ที่ชะลอลงของเศรษฐกิจโลก แรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นมาอยู่ในระดับสูงเพื่อลดเงินเฟ้อและลดการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เป้าหมายของรัฐบาลอินโดนีเซียที่ตั้งไว้ว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.3 ในปี 56 (เท่ากับที่ สศค. คาดการณ์ไว้ ณ มิ.ย. 56) อาจไม่เป็นไปตามที่หวัง เนื่องมาจาก 5 ปัจจัยฉุดรั้งที่สำคัญ ได้แก่ 1. การชะลอตัวลงของอุปสงค์โลกโดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของอินโดนีเซีย 2. สินค้าส่งออกหลักของอินโดนีเซียเป็นโภคภัณฑ์ที่ราคาอยู่ในช่วงขาลง ได้แก่ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และยางพารา (รวมกันประมาณร้อยละ 30 ของมูลค่าการส่งออกรวม) 3. เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงจะบั่นทอนกำลังซื้อของครัวเรือนซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดของ GDP ด้านรายจ่าย คือคิดเป็นร้อยละ 55 ของมูลค่ารวม 4. อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นก็เป็นการฉุดรั้งการบริโภคโดยเฉพาะสินค้าคงทนและที่อยู่อาศัยลง พร้อมๆกับการลงทุนที่จะชะลอลงเช่นกัน และ 5. อินโดนีเซียมีความยากลำบากในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคเพื่อรับมือกับการชะลอตัวดังกล่าว เนื่องจากต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง และธนาคารกลางมีแนวโน้มที่จะมุ่งเน้นเสถียรภาพด้านราคาและด้านต่างประเทศมากกว่าการผลักดันให้การเติบโตเป็นไปตามเป้าของรัฐบาล

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ