รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 9 สิงหาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 9, 2013 10:45 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 9 สิงหาคม 2556

Summary:

1. TMB ร่วมมือกับกลุ่ม CPF เตรียมเงินกู้ 1 พันล้านบาท เพื่อสนับสนุนภาคการผลิตอาหารของไทย

2. ส่งออกจีนเดือน ก.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 5.1 ขณะที่นำเข้าขยายตัวร้อยละ 10.8

3. อัตราการว่างงานออสเตรเลียในเดือน ก.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 5.7 คงที่จากเดือนก่อน

Highlight:

1. TMB ร่วมมือกับกลุ่ม CPF เตรียมเงินกู้ 1 พันล้านบาท เพื่อสนับสนุนภาคการผลิตอาหารของไทย
  • นายเอศ ศิริวัลลภ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร บริหารผลิตภัณฑ์และการขายสินเชื่อเครือข่ายธุรกิจ ธนาคารทหารไทย (TMB) เปิดเผยถึง โครงการสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อาหารไทย เพื่อสนับสนุนภาคการผลิตอาหารและรองรับการเจริญเติบโตของตลาดในอนาคต โดยธนาคารได้สนับสนุนกระบวนการผลิตด้วย Supply Chain เป็นสำคัญ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิต แบ่งเป็น 2 โครงการ คือ 1)โครงการสินเชื่อระยะยาวให้ผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงสุกร ภายใต้สัญญาส่งเสริมการเลี้ยงสุกรของซีพีเอฟ ซึ่งประสบความสำเร็จ โดยมีเกษตรกรได้รับการสนับสนุนดังกล่าวไปแล้วกว่า 100 โรงเรือน และในครั้งนี้เป็นโครงการที่ 2 ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างธนาคาร TMB และกลุ่ม CPF โดยเป็นการสนับสนุนสินเชื่อระยะยาวเพื่อสร้างฟาร์มให้เช่า วงเงินรองรับรวมกว่า 1,000 ล้านบาท เบื้องต้นอนุมัติโครงการดังกล่าวแก่ บริษัท กุนซือฟาร์ม จำกัดไปแล้วกว่าร้อยล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ตลาดผลิตภัณฑ์อาหารของไทยในปัจจุบันนับว่ามีการเติบโตที่ต่อเนื่องทั้งในประเทศและในภูมิภาค อีกทั้งภาคการผลิตอาหารของไทยเองถือว่ามีความโดดเด่นกว่าประเทศอื่นในอาเซียน โครงการสนับสนุนสินเชื่อดังกล่าว เป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการขยายการลงทุนของภาคเอกชนซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป ประกอบกับภาคธุรกิจดังกล่าวมีความสำคัญเชื่อมโยงต่อภาคอุตสาหกรรมการเกษตรสมัยใหม่ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ ทั้งนี้ ผลผลิตสุกรในช่วงครึ่งแรกของปี 56 มีการขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากปี 55 ที่ร้อยละ 7.9 อีกทั้งราคาขยายตัวในระดับสูงเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 8.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน การปล่อยสินเชื่อในครั้งนี้ จึงน่าเป็นอีกปัจจัยสนับสนุนภาคการเกษตรในสาขาการเลี้ยงสุกร อีกทั้งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ ที่ในช่วงครึ่งแรกของปี 56 ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 14.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
2. ส่งออกจีนเดือน ก.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 5.1 ขณะที่นำเข้าขยายตัวร้อยละ 10.8
  • สำนักงานศุลกากรจีนเปิดเผยยอดการค้าระหว่างประเทศประจำเดือน ก.ค. 56 ว่ามูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -3.3 ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 10.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.9 ทำให้ดุลการค้าในเดือน ก.ค. 56 เกินดุล 17.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่เกินดุล 27.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกจีน เดือน ก.ค. 56 ที่กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากอุปสงค์ภายนอกที่ฟื้นตัวขึ้น ทำให้การส่งออกไปในหลายประเทศเริ่มกลับมาขยายตัว โดยเฉพาะสหรัฐฯ (คู่ค้าอันดับ 1 สัดส่วนร้อยละ 17.2 ของมูลค่าส่งออกรวม) และฮ่องกง (คู่ค้าอันดับที่ 2 สัดส่วนร้อยละ 15.8 ของมูลค่าส่งออกรวม) สำหรับมูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ค. 56 ที่กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 10.8 เป็นผลจากการนำเข้าสินแร่เหล็กและทองแดงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนว่าอุปสงค์ภายในประเทศของจีนอาจเริ่มฟื้นตัว โดยการนำเข้าที่ขยายตัวในอัตราที่มากกว่าการส่งออกนี้ ทำให้ดุลการค้า เดือน ก.ค. 56 เกินดุลที่ 17.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ น้อยกว่าเดือนก่อนกว่า 9.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขนาดของการเกินดุลการค้าที่ลดลงนี้ อาจช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินหยวนซึ่งแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องและแข็งค่าขึ้นสูงสุดตั้งแต่ปี 36 ที่ระดับ 6.1192 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 56 ทั้งนี้ ภาคการค้าระหว่างประเทศของจีนที่เริ่มฟื้นตัวเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจจีนอาจผ่านจุดต่ำสุดแล้วและอาจสามารถขยายตัวได้ตามเป้าที่ร้อยละ 7.5 ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ยอดการค้าระหว่างประเทศที่ดีกว่าคาดการณ์นี้ อาจทำให้ทางการจีนเกิดความลังเลที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหม่ในปีนี้ได้
3. อัตราการว่างงานออสเตรเลียในเดือน ก.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 5.7 คงที่จากเดือนก่อน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลียประกาศอัตราว่างงานเดือน ก.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 5.7 ของกำลังแรงงานรวม คงที่จากเดือนก่อน แม้ว่าทั้งจำนวนงานแบบเต็มเวลา และแบบ part-time ในตลาดแรงงานในเดือน ก.ค. 56 จะลดลง 6,700 และ 3,500 ตำแหน่ง ตามลำดับ แต่อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน (Labor Force Participation Rate) ในเดือน ก.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 65.1 น้อยลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 65.3 จึงส่งผลให้อัตราว่างงานยังคงที่อยุ่ที่ร้อยละ 5.7 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และเป็นอัตราว่างงานที่สูงสุดในรอบ 4 ปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ทำให้อัตราว่างงานของออสเตรเลียปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์นั้นอาจมาจากอัตราการเพิ่มของจำนวนประชากรที่อยุ่ในระดับสูง โดยอัตราการเพิ่มของประชากรในปี 55 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 ซึ่งถ้าเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ จะพบว่าเป็นอัตราการขยายตัวที่อยู่ในระดับสูง (เปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวของจำนวนประชากรของกรณีสหรัฐฯ และอังกฤษ อยู่ที่ร้อยละ 0.9 และ 0.5 ตามลำดับ ) ดังนั้น หากจะควบคุมไม่ให้อัตราว่างงานสูงขึ้น จะต้องเพิ่มจำนวนงานในแต่ละเดือน แต่ในสภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจของออสเตรเลียอยู่ในสภาวะชะลอตัว ดังสะท้อนใน GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 56 ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยชะลอจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 การเพิ่มจำนวนงานในตลาดแรงงานภายใต้สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวดังกล่าว จึงเป็นสิ่งที่กระทำได้ยาก ทั้งนี้ ออสเตรเลียเป็นเศรษฐกิจแบบปิด โดยมีการใช้จ่ายภาคเอกชนเป็นเครื่องยนต์หลักทางเศรษฐกิจด้วยสัดส่วนร้อยละ 82 ของ GDP (สัดส่วนปี 55) การว่างงานที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอาจเป็นอุปสรรคในการขยายตัวของเศรษฐกิจออสเตรเลียในระยะต่อไปได้จึงควรเฝ้าติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ พร้อมกับแนวโน้มอัตราว่างงานของออสเตรเลียอย่างใกล้ชิดต่อไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ