รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 13 สิงหาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 13, 2013 11:53 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 13 สิงหาคม 2556

Summary:

1. พาณิชย์จับมือห้าง - ร้านสะดวกซื้อลดราคาสินค้าช่วยค่าครองชีพ

2. ก.พาณิชย์จัดเวิร์กชอปช่วย SMEs

3. GDP ญี่ปุ่นในไตรมาสสองขยายตัวร้อยละ 2.6

Highlight:

1. พาณิชย์จับมือห้าง - ร้านสะดวกซื้อลดราคาสินค้าช่วยค่าครองชีพ
  • รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในโอกาสวันพาณิชย์ฉลอง 93 ปี ของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงฯ ได้ร่วมกับห้างค้าปลีกค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อ 13 ราย จัดกิจกรรมธุรกิจรวมใจลดราคาสินค้าเพื่อประชาชนเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 - 24 ส.ค. นี้ ทั้งนี้ สินค้าที่ห้างร้านนำมาลดราคาตามสาขาต่างๆ ทั่วประเทศจะอยู่ที่ 10 -70% รวมถึงการซื้อสินค้า 1 ชิ้น แถมอีก 1 ชิ้นรวมกันไม่ต่ำกว่า 10,000 รายการ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับห้างค้าปลีกค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อจัดกิจกรรมธุรกิจรวมใจลดราคาสินค้า คาดว่าจะลดแรงกดดันเงินเฟ้อในเดือน ส.ค. 56 ลง ทั้งนี้จากข้อมูลล่าสุดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย และเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวของผักผลไม้ ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาไข่และผลิตภัณพ์จากนมปรับตัวลดลงเช่นเดียวกันตามปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศ และราคาสินค้าหมวดเนื้อสัตว์เป็ดไก่มีการปรับตัวสูงขึ้นไม่มากนัก ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 7 เดือนแรกของปี 56 อยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 2.6 ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.0 - 3.0)
2. ก.พาณิชย์จัดเวิร์กชอปช่วย SMEs
  • อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผยว่า กรมฯ จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเวิร์กชอปเพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ของไทยมีความพร้อมในการปรับตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 58 โดยจะประชุมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น BOI ธนาคารพาณิชย์ และผู้แทนจากเวียดนาม สปป.ลาว และกัมพูชา เพื่อชี้ช่องทางในการทำการค้า การลงทุน และการบริการให้กับผูประกอบการไทย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ธรุกิจ SMEs เป็นกลไกสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย จากข้อมูลล่าสุดจำนวนผู้ประกอบการ SMEs ทั่งประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 2.91 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 99.6 ของจำนวนวิสาหกิจรวม ฉะนั้นธุรกิจ SMEs จึงเป็นธุรกิจสำคัญที่ภาครัฐควรให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในปี 58 ซึ่งจะมีการรวมตัวเข้าสู่ประชาคมเศราฐกิจอาเซียน (AEC) โดยธรุกิจ SMEs จำเป็นต้องเร่งปรับตัวและเตรียมความพร้อมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับธรุกิจ ในการรองรับเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงการคลังได้มีมาตรการผลักดันให้เอกชนที่มีศักยภาพไปลงทุนต่างประเทศ โดยการส่งเสริมการลงทุน การทำธุรกิจในต่างประเทศ (Outward FDI และ Portfolio)และเชี่ยมโยงตลาดทุนในอาเซียนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการในการแข่งขัน
3. GDP ญี่ปุ่นในไตรมาสสองขยายตัวร้อยละ 2.6
  • รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 2 ของปี 56 ขยายตัว ร้อยละ 2.6 ต่อปี นับเป็นการขยายตัวไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม ยังคงต่ำกว่าผลสำรวจของสำนักข่าวเกียวโตที่คาดการณ์ว่า GDP ในไตรมาสดังกล่าวจะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 3.2
  • สศค .วิเคราะห์ว่า หากพิจารณาองค์ประกอบของ GDP ญี่ปุ่นจะพบว่า การบริโภคซึ่งมี สัดส่วนมากที่สุดถึงร้อยละ 60 ของ GDP ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นับเป็นการขยายตัวเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน โดยได้รับแรงหนุนจากยอดขายที่แข็งแกร่งของสินค้าหรูต่างๆ เช่น อัญมณี เป็นต้น ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็กระเตื้องขึ้นหลังราคาหุ้นขยับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกันการส่งออกขยายตัวร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นับเป็นการขยายตัวไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มดีขึ้น และแนวโน้มค่าเงินเยนอ่อนค่าลงเพราะนโยบายทางเศรษฐกิจ "อาเบะโนมิคส์" อย่างไรก็ตาม การลงทุนทางธุรกิจยังคงซบเซาโดยขยับลดลงร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบรายไตรมาส ซึ่งถือว่าหดตัวลงเป็นไตรมาสที่ 6 ติดต่อกันแล้ว ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิญี่ปุ่นในปี 56 จะขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 56)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ