รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 14 สิงหาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 14, 2013 11:46 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 14 สิงหาคม 2556

Summary:

1. กบง. มีมติให้ปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันดีเซล 0.40 บาท/ลิตร

2. บริษัทอสังหาฯคาดการณ์ราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 4 ในครึ่งปีหลัง

3. สิงคโปร์ปรับเป้า GDP ปี 56 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.5 - 3.5 ต่อปี

Highlight:

1. กบง. มีมติให้ปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันดีเซล 0.40 บาท/ลิตร
  • ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เห็นชอบการปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันดีเซล 0.40 บาท/ลิตร จากเดิมจัดเก็บเข้ากองทุนฯ 0.90 บาท/ลิตร เป็น 1.30 บาท/ลิตร ซึ่งยังคงทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอยู่ที่ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ส่วนน้ำมันประเภทอื่นๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด และภายหลังจากมีการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ครั้งนี้จะทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายรับเพิ่มขึ้นจากเดิมมีรายรับประมาณ 55 ล้านบาท/วัน เป็นรายรับประมาณ 77 ล้านบาท/วัน โดยขณะนี้กองทุนน้ำมันฯ ยังคงมีฐานะเป็นบวกต่อเนื่อง ณ วันที่ 12 ส.ค. 56 กองทุนน้ำมันฯ มีฐานะสุทธิเป็นบวก 6,577 ล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันโครงสร้างราคาน้ำมันดีเซล ประกอบด้วย (1) ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นคิดเป็นร้อยละ 83.0 ของราคาจำหน่าย (2) เงินจัดเก็บเข้ากองทุนน้ำมันฯ ลิตรละ 0.9 บาท คิดเป็นร้อยละ 3.0 ของราคาจำหน่าย (3) ภาษีต่างๆ คิดเป็นร้อยละ 6.6 ของราคาจำหน่าย (4) ค่าการตลาดคิดเป็นร้อยละ 6.6 ของราคาจำหน่าย และ (5) เงินจัดเก็บข้อกองทุนอนุรักษ์พลังงานคิดเป็นร้อยละ 0.8 ของราคาจำหน่าย ดังนั้น การที่ กบง. ปรับเพิ่มขึ้น ของอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ขณะที่ระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ประชาชนน่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราเงินนำส่งดังกล่าว โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ค. 56 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าเพียงร้อยละ 0.1 และในช่วง 7 เดือนแรกของปี 56 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ สศค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 56 จะเท่ากับร้อยละ 2.5 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.0 - 3.0
2. บริษัทอสังหาฯคาดการณ์ราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 4 ในครึ่งปีหลัง
  • ประธานกรรมการบริหาร บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท หรือPS บอกว่า ในครึ่งปีหลังนี้ ราคาอสังหาริมทรัพย์มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกราว 4% หลังจากที่ในช่วงครึ่งปีแรกได้ปรับราคาขึ้นไปแล้ว 2% เนื่องจากต้นทุนที่ดิน วัสดุก่อสร้าง และค่าแรงปรับเพิ่มขึ้น ส่วนปัญหาขาดแคลนแรงงานก็ยังเป็นปัญหาอยู่ จึงต้องเพิ่มสัดส่วนแรงงานอีก 10% จากเดิมที่มีการจ้างแรงงานภาคก่อสร้างราว 2 หมื่นคน โดยกว่า 70% จะเป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า และกัมพูชา
  • สศค . วิเคราะห์ว่า แนวโน้มภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 56 ชะลอลงจากไตรมาสแรก เนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศและต่างประเทศที่มีสัญญาณชะลอตัวลง ประกอบกับปัจจุบันสถาบันการเงินมีความเข้มงวดมากขึ้นในการพิจารณาให้สินเชื่อ ส่งผลให้ภาคอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มที่ชะลอลง แต่อย่างไรก็ดี ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในต่างจังหวัดยังมีปัจจัยสนับสนุนจากกำลังซื้อ (Demand) เพิ่มขึ้นจากการที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เริ่มขยายตลาดสู่จังหวัดที่เป็นหัวเมืองรองอันดับ 2 และ3 มากขึ้น เนื่องจากมีศักยภาพในระยะยาวจากการพัฒนาเศรษฐกิจอีก 2-3 ปีข้างหน้า เช่น มีโครงการรถไฟความเร็วสูง มีโครงการอสังหาฯ เชิงพาณิชย์ไปเปิดมากขึ้น ทั้งนี้ แนวโน้มราคาอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งหลังของปี 56 อาจปรับสูงขึ้น สะท้อนได้จากดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างล่าสุดในเดือนก.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 0.3 โดยเฉพาะดัชนีในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กร้อยละ 0.5 และหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ในขณะที่การจ้างงานภาคก่อสร้างในเดือนพ.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 8.0
3. สิงคโปร์ปรับเป้า GDP ปี 56 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.5 - 3.5 ต่อปี
  • กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์ในไตรมาสที่ 2 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 3.8 ต่อปี ซึ่งนับว่าแข็งแกร่งที่สุดในรอบ 3 ปี และสูงกว่าไตรมาสแรกที่มีการขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2 ต่อปี ทั้งนี้ อัตราการเติบโตที่แข็งแกร่งดังกล่าวส่งผลให้มีการปรับเพิ่มการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 56 จากร้อยละ 1.0 - 3.0 เป็นร้อยละ 2.5 - 3.5 ต่อปี ในขณะที่ได้ปรับลดคาดการณ์ยอดส่งออกและตัวเลขการค้าโดยรวม โดยคาดการณ์ยอดส่งออกจากเดิมที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 - 4.0 เป็นร้อยละ 0.0 - 1.0 ส่วนตัวเลขการค้าโดยรวมถูกปรับลดลง เหลือขยายตัวร้อยละ 2.0 - 3.0 ในปีนี้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์ในไตรมาสที่ 2 ปี 56 ที่เติบโตได้ดีมาจากด้านการผลิตในสินค้าประเภทเวชภัณฑ์และวิศวกรรมการคมนาคม รวมถึงด้านการบริการโดยเฉพาะความแข็งแกร่งในด้านอุตสาหกรรมการเงิน ซึ่งสามารถชดเชยผลกระทบจากตลาดส่งออกเช่น จีนและยุโรปที่ซบเซาในขณะนี้ได้ อย่างไรก็ตาม การปรับลดตัวเลขการค้าของทางการสิงคโปร์ อาจส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างไทยกับสิงคโปร์ได้ ทั้งนี้ สิงคโปร์ถือเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยอันดับที่ 10 ของการส่งออกทั้งหมดและเป็นอันดับที่ 2 ของกลุ่มอาเซียน (มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 4.7 ในปี 55 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย) โดยจากข้อมูลล่าสุด 6 เดือนแรก ปี 56 มูลค่าการส่งออกไทยไปสิงคโปร์หดตัว -0.9 ต่อปี ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 56 ว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์ในปี 56 จะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 2.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 1.0 - 3.0)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ