รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 16 สิงหาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 16, 2013 11:48 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 16 สิงหาคม 2556

Summary:

1. ส.อ.ท. เปิดเผย ยอดส่งออกรถยนต์ไทย เดือน ก.ค. 56 หดตัวร้อยละ -13.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

2. HSBC คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้โตร้อยละ 5.0 แต่ต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต

3. ยอดค้าปลีกของสิงคโปร์ เดือน มิ.ย. 56 กลับมาหดตัวอีกครั้ง

Highlight:

1. ส.อ.ท. เปิดเผย ยอดส่งออกรถยนต์ไทย เดือน ก.ค. 56 หดตัวร้อยละ -13.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือน ก.ค. 56 อยู่ที่ 82,710 คัน หดตัวร้อยละ -13.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ด้วยมูลค่า 2.8 แสนล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ -16.2 อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกรถยนต์ ช่วง 7 เดือนแรกของปี 56 ยังคงขยายตัวที่ร้อยละ 6.1
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สินค้าในหมวดยานยนต์ถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยอันดับแรก จากสัดส่วนในปี 55 อยู่ที่ร้อยละ 10.0 ของมูลค่าการส่งออกรวม (สัดส่วนปี 55) ยอดการส่งออกรถยนต์ในเดือน ก.ค. 56 ที่หดตัวนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานสูงในช่วงปี 55 ประกอบกับการขยายตัวในอัตราเร่งของยอดส่งออกยานยนต์และส่วนประกอบในช่วงครึ่งปีแรก ที่ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 14.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งมีส่วนทำให้การส่งออกสินค้าดังกล่าวเริ่มชะลอลงบ้างเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ตลาดส่งออกรถยนต์ของไทยยังมีแนวโน้มขยายตัว จากความต้องการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกไปยัง ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย ช่วงครึ่งแรกของปี 56 ยังคงขยายตัวได้ในอัตราสูงที่ร้อยละ 54.7 4.1 และร้อยละ 12.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ
2. HSBC คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้โตร้อยละ 5.0 แต่ต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต
  • นักวิเคราะห์เศรษฐกิจเอเชียของ HSBC คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 56 น่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 5.0 แต่มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับการปฏิรูปโครงสร้างหรือ Structural Reform ในหลายด้าน โดยเฉพาะ การพัฒนาคุณภาพศึกษา การเร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมการแปรรูปกิจการของรัฐ รวมทั้งการลดการให้เงินสนับสนุนโดยภาครัฐ เพื่อเป็นการยกระดับผลิตภาพการผลิต (Productivity) และความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้เศรษฐกิจของไทยสามารถขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพและมีความต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีปัจจัยจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีทิศทางสดใสขึ้นอาจส่งผลในทางลบต่อนักลงทุนไทยที่กู้ยืมจากสหรัฐฯ ในขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจส่งผลในทางบวกต่อการลงทุนในไทย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยโดย HSBC ค่อนข้างสอดคล้องกับการคาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 56 โดย สศค. ซึ่งแสดงว่าเศรษฐกิจไทยปี 56 น่าจะขยายตัวที่ ร้อยละ 4.5% โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ระหว่าง 4.0-5.0% เนื่องจาก ปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ยังมีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่อง จากแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน และแนวโน้มการหดตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจยูโรโซน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยให้ปรับตัวลดลง ดังนั้น เพื่อให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยมีเสถียรภาพและมีความต่อเนื่องในระยะยาว การปฏิรูปโครงสร้างทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการศึกษาและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเพิ่มผลิตภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ภาครัฐได้เล็งเห็นในความสำคัญ โดยในด้านการศึกษาจำเป็นจะต้องมีการผลิตบุคคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานให้มากขึ้น และในด้านโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นจะต้องมีการลงทุนในโครงข่ายการคมนาคมเชื่อมโยงในภูมิภาค ซึ่ง สศค. คาดว่าการลงทุนภาครัฐในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 13.3 (คาดการณ์ ณ มิ.ย. 56)
3. ยอดค้าปลีกของสิงคโปร์ เดือน มิ.ย. 56 กลับมาหดตัวอีกครั้ง
  • สำนักงานสถิติสิงคโปร์ เผยตัวเลขยอดค้าปลีกของสิงคโปร์ เดือน มิ.ย. 56 กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากขยายตัวร้อยละ 2.9 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 8 เดือน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดค้าปลีกของสิงคโปร์ที่กลับมาหดตัวอีกครั้งในเดือน มิ.ย. 56 เป็นผลจากยอดขายรถยนต์ที่หดตัวลงอย่างมากถึงร้อยละ -26.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราภาษีการจดทะเบียนรถยนต์ต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน มี.ค. 56 อย่างไรก็ตาม หากหักยอดขายรถยนต์จะพบว่า ยอดค้าปลีกของสิงคโปร์ในเดือนนี้ยังคงขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 ซึ่งเป็นผลจากยอดขายสินค้าในหมวดอัญมณีที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 15.5 เป็นสำคัญ รวมทั้งยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ก็ปรับตัวสูงขึ้นด้วย สะท้อนภาพเดียวกับอัตราขยายตัวของ GDP ในไตรมาสที่ 2 ของปี 56 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนเป็นอย่างมาก จากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 2.7 เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสิงคโปร์ยังคงมีความเสี่ยงจากอุปสงค์ภายนอกที่ชะลอตัว ตามเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 3 ของสิงคโปร์ ที่มีสัญญาณการชะลอตัวที่ชัดเจน ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่าในปีนี้เศรษฐกิจของสิงคโปร์จะขยายตัวร้อยละ 2.2 (คาดการณ์ ณ มิ.ย. 56)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ