รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 19 สิงหาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 19, 2013 11:53 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 สิงหาคม 2556

Summary:

1. ธปท. มั่นใจไทยพร้อมรับมือภาวะเงินไหลออกเร็ว หาก Fed ประกาศถอน QE

2. อุตฯ อ่วม LPG ปรับขึ้นทะลุ 30 บาท อ้างราคาตลาดโลกพุ่งแตะ 820 เหรียญสหรัฐ

3. ยูโรโซนส่งสัญญาณฟื้นตัว : ส่งออกขยายตัว-ตลาดหุ้นขาขึ้น

Highlight:

1. ธปท. มั่นใจไทยพร้อมรับมือภาวะเงินไหลออกเร็ว หาก Fed ประกาศถอน QE
  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวว่า ผลกระทบจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed จะถอนมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง หรือ QE ที่มีต่อประเทศไทยคงมีไม่มาก เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยสมดุล และมีความแข็งแกร่ง ทุนสำรองระหว่างประเทศยังมีจำนวนมาก สามารถรักษาความเชื่อมั่นต่อมเศรษฐกิจได้ ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเล็กน้อย ส่วนเอกชน และธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังในการไปลงทุนในต่างประเทศ และปิดสถานะความเสี่ยงไว้แล้ว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 56 พบว่าเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับแข็งแกร่ง สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 56 ที่อยู่ในระดับสูง 170.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.8 เท่า ซึ่งสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ ประกอบกับด้านการส่งออก พบว่า ไทยมีการกระจายตลาดส่งออก เพิ่อลดการพึ่งพาเศรษฐกิจฝั่งตะวันตกที่มีปัญหา โดยหันมาค้าขายระหว่างในภูมิภาคมากขึ้น อย่างไรก็ดี หากธนาคารกลางสหรัฐฯ มีถอนมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องหรือ QE จริง คาดว่าจะส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนของไทย
2. อุตฯ อ่วม LPG ปรับขึ้นทะลุ 30 บาท อ้างราคาตลาดโลกพุ่งแตะ 820 เหรียญสหรัฐ
  • สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)ได้ประกาศราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) สำหรับภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือน ส.ค. 56 ให้กลับมาอยู่ระดับเพดานสูงสุดอีกครั้งที่ 30.13 บาทต่อกิโลกรัม หลังจากราคาแอลพีจีในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 820 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งราคาดังกล่าวมีผลให้ LPG ภาคอุตสาหกรรมที่แท้จริงต้องปรับขึ้นเป็น 30.52 บาทต่อกิโลกรัม แต่เนื่องจากรัฐบาลกำหนดเพดานราคาไว้สูงสุดได้ไม่เกิน 30.13 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้น สนพ.จึงกำหนดให้ภาคอุตสาหกรรมซื้อ LPG ในราคาดังกล่าวตลอดเดือน ส.ค. 56
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับเพิ่มขึ้นของราคาก๊าซหุงต้มภาคอุตสาหกรรมเป็นผลมาจากความไม่สงบทางการเมืองของประเทศอียิปต์ ซึ่งส่งผลกระทบลบต่ออุปทานน้ำมันดิบโลก ประกอบกับการเก็งกำไรของนักลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์จากมาตรการ QE ของสหรัฐฯ ทำให้ราคาน้ำมันและเชื้อเพลิงต่างๆในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ การปรับตัวของราคา LPG จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมสูงขึ้น และทำให้ปริมาณการผลิตสินค้าลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวดน้ำมันสำเร็จรูป นอกจากนี้ ยังอาจเป็นปัจจัยลบที่ทำให้เศรษกิจไทยในปี 56 เติบโตได้ลดลง ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 56 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.5 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 56)
3. ยูโรโซนส่งสัญญาณฟื้นตัว : ส่งออกขยายตัว-ตลาดหุ้นขาขึ้น
  • มูลค่าการส่งออกของกลุ่มประเทศยูโรโซน 17 ประเทศ ในเดือน มิ.ย. 56 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.0 จากเดือน ก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ 2.6 นับเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของสหรัฐฯ และการเติบโตทางเศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่ ตัวเลขการส่งออกที่ขยายตัวนั้นออกมาสนับสนุนภาพของ GDP ยูโรโซนในไตรมาสที่ 2 ปี 56 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.3 หลังจาก 6 ไตรมาสก่อนหน้าเป็นการหดตัวทั้งสิ้น ถือเป็นการสิ้นสุดช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ (Recession) ที่ยาวนานที่สุดของยูโรโซน ด้านตลาดหุ้นยุโรปได้ปรับตัวสอดรับกับตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมาดีโดยได้เคลื่อนไหวในทางบวกมาเป็นเวลากว่า 3 สัปดาห์ติดต่อกัน แม้ว่าตลาดจะมีความกังวลในการปรับลดมาตรการ QE จากทางสหรัฐฯ ก็ตาม อย่างไรก็ดี การว่างงานในเดือน มิ.ย. 56 ยังอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 12.1 คงที่เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ค. 56 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.6 คงที่จากเดือนที่ผ่านมา
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สัญญาณดังกล่าวน่าจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นไปได้ที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะสามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ทั้งหมดภายในปีหน้า เข้ามาทดแทนกำลังการเติบโตที่ตกลงในจีน ซึ่งนั่นจะทำให้เศรษฐกิจโลกกลับมาเดินเครื่องได้อีกครั้ง อย่างไรก็ดี เรายังเป็นห่วงด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเหล่านี้ว่าการฟื้นตัวนั้นจะเป็นไปอย่างยั่งยืนหรือไม่ โดยเฉพาะยูโรโซนที่มีปัญหาด้านหนี้สาธารณะและการว่างงานรุนแรงยังกระจายตัวอยู่ในกลุ่มประเทศชายขอบ (Periphery economies) เช่น สเปน และกรีซ โดย สศค.คาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนในปีนี้จะหดตัวที่ร้อยละ -0.5 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 56)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ