รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 13 - 16 สิงหาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 19, 2013 14:14 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary
Indicators this week
  • อัตราการว่างงานเดือน มิ.ย. 56 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.5 ของกำลังแรงงานรวม
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ในเดือน มิ.ย.56 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 2.45 ล้านล้านบาท
  • ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน ก.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • GDP ญี่ปุ่น ไตรมาส 2 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP สหภาพยุโรป ไตรมาส 2 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) หดตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ -0.7

จากช่วงเดียวกันปีก่อน

  • GDP สิงคโปร์ ไตรมาส 2 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือน ก.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 6.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้า
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน เดือน ก.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 9.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 56

ขยายตัวร้อยละ 13.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

  • มูลค่าการส่งออกเกาหลีใต้ เดือน ก.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้า

ขยายตัวร้อยละ 3.2

Indicators next week
 Indicators                               Forecast           Previous
 Jul : Passenger car Sale (% YoY)          -22.0               -17.7

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และผลจากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาลที่เริ่มลดลง นอกจากนี้คาดว่าบริษัทค่ายรถยนต์ต่างๆจะส่งมอบรถยนต์ที่ค้างจองได้ทั้งหมดในช่วงปลายปี 2556 ตามที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ( ส.อ.ท.) ระบุว่าจะสามารถเร่งทยอยการส่งมอบรถที่ค้างจองได้ทั้งหมดภายในเดือน ต.ค. 56 นี้

Economic Indicators: This Week
  • การจ้างงานเดือน มิ.ย. 56 อยู่ที่ 39.90 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 3.7 แสนคน โดยมีสาเหตุมาจากการจ้างงานปรับตัวเพิ่มขึ้นในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ภาคบริการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ อัตราการว่างงานเดือน มิ.ย. 56 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.5 ของกำลังแรงงานรวม คิดเป็นผู้ว่างงาน 2.2 แสนคน
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ในเดือน มิ.ย.56 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 2.45 ล้านล้านบาท ส่วนหนึ่งจากการที่สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราเร่งกว่าการขยายตัวของเงินฝาก โดยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 1.6 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ขณะที่เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.5 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ทั้งนี้ ควรจับตามองสถานการณ์ความไม่แน่นอนของของเศรษฐกิจโลก ที่อาจส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ภายนอกประเทศ รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลต่อการขยายตัวของสินเชื่อ และสถานะของสภาพคล่องได้ในระยะต่อไป
  • ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน ก.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว (m-o-m SA) หดตัวร้อยละ -3.0 จากเดือนก่อนหน้า สะท้อนภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์เริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีสัญญาณการชะลอตัวลง โดยความต้องการที่อยู่อาศัยชะลอลงจากช่วงก่อนหน้าที่เร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง กอปรกับธนาคารพาณิชย์เพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากความกังวลถึงผลกระทบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย สะท้อนจากจำนวนที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ในเดือน มิ.ย. 56 หดตัวถึงร้อยละ -23.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อุปทานของตลาดอสังหาริมทรัพย์มีสัญญาณการชะลอตัวเช่นเดียวกัน โดยผู้ประกอบการได้ชะลอการเปิดขายโครงการใหม่ภายหลังจากที่เร่งเปิดขายไปมากแล้วโดยเฉพาะอาคารชุด
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 91.9 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 93.1 และถือเป็นการปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 20 เดือน จากความกังวลของผู้ประกอบการเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอลง ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนไหวและอาจจะมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ภายนอกประเทศ เช่น การส่งออก เป็นต้น
Economic Indicators: Next Week
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ในเดือน ก.ค. 56 คาดว่าจะหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -22.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และผลจากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาลที่เริ่มลดลง นอกจากนี้คาดว่าบริษัทค่ายรถยนต์ต่างๆจะส่งมอบรถยนต์ที่ค้างจองได้ทั้งหมดในช่วงปลายปี 2556 ตามที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ( ส.อ.ท.) ระบุว่าจะสามารถเร่งทยอยการส่งมอบรถที่ค้างจองได้ทั้งหมดภายในเดือน ต.ค. 56 นี้

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend
  • ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 6.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) อย่างไรก็ตาม หากหักยอดขายรถยนต์ออก จะขยายตัวร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ สินค้าหมวดยานยนต์และหมวดก่อสร้างและอุปกราณ์ทำสวน ยังคงขยายตัวดีติดต่อกัน อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เท่ากับเป้าหมายของ Fed และสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.8 ผลจากราคาอาหารและน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น
Japan: improving economic trend
  • GDP ไตรมาส 2 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.6 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นครึ่งแรกปี 56 ขยายตัวร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานสูงในช่วงครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา และการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวเป็นสำคัญ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ค. 56 ปรับลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 44.0 จุด จากระดับ 44.6 จุดในเดือนก่อน สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นที่ลดลง ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากแรงกดดันด้านราคาที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขปรับปรุง) เดือน มิ.ย. 56 หดตัวร้อยละ -3.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ซึ่งหดตัวน้อยกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ออกมาก่อนหน้า สะท้อนกิจกรรมการผลิตในญี่ปุ่นที่ชะลอลงเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเร่งการผลิตช่วงที่ต้นปีที่ผ่านมาเป็นสำคัญ
China: improving economic trend
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 9.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการขยายตัวในอัตราที่สูงที่สุดตั้งแต่ต้นปี ซึ่งอาจส่งสัญญาณว่าการผลิตในภาคอุตสาหกรรมได้เริ่มฟื้นตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคการผลิตที่ค่อนข้างมากในช่วงต้นปี และการก่อสร้างในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังขยายตัวต่อเนื่องเพื่อตอบสนองต่อยอดขายที่ค่อนข้างสูง นอกจากนี้ สำหรับยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 13.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 13.3 แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเดือนอื่นตั้งแต่ต้นปี สะท้อนอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังค่อนข้างทรงตัว
Eurozone: mixed signal
  • GDP ไตรมาส 2 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) หดตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ -0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวครั้งแรกในรอบ 7 ไตรมาสที่ร้อยละ 0.3 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) จากเศรษฐกิจเยอรมนีและฝรั่งเศสที่ขยายตัว ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า หรือเร่งขึ้นร้อยละ 0.7 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากการผลิตในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคคงทนที่ขยายตัวเร่งขึ้นมาก สะท้อนภาคการผลิตที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว
Indonesia: mixed signal
  • ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 10.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 14.9 ผลจากยอดขายสินค้าในหมวดอุปกรณ์สื่อสารขยายตัวชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลดเงินอุดหนุนน้ำมันซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค
Philippines: improving economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้ง หลังจากหดตัวต่อเนื่องมา 2 เดือน ทั้งนี้ เป็นผลจากการส่งออกไปยังญี่ปุ่นที่ขยายตัวมากถึงร้อยละ 39.7
Singapore: mixed signal
  • GDP ไตรมาส 2 ปี 56 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 2.7 และภาคการส่งออกที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งที่ร้อยละ 3.1 ทั้งนี้ ตัวเลข GDP ดังกล่าวเป็นการปรับขึ้นจากการประกาศตัวเลขเบื้องต้นในครั้งก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 56 กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายรถยนต์ที่หดตัวลงอย่างมากถึงร้อยละ -26.5 ผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราภาษีการจดทะเบียนรถยนต์ มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ค. 56 กลับมาขยายตัวร้อยละ 5.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ จีน และฮ่องกง ที่ขยายตัวเร่งขึ้น
India: improving economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ค. 56 กลับมาขยายตัวร้อยละ 11.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากหดตัวติดต่อกันมา 2 เดือน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าเงินรูปีที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องและนโยบายส่งเสริมการส่งออกโดยรัฐบาลที่ได้ประกาศใช้ในเดือนก่อน มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ค. 56 หดตัวร้อยละ -6.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.4 ผลจากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดการนำเข้าโดยการเพิ่มภาษีนำเข้า อย่างไรก็ตาม ดุลการค้า เดือน ก.ค. 56 ขาดดุล -12.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แรงกดดันต่อเนื่องต่อค่าเงินรูปี ส่วนผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 56 หดตัวร้อยละ -2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.8 จากผลผลิตหมวดสินค้าคงทนที่ชะลอลงเป็นสำคัญ และอัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 5.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งตัวต่อเนื่องจากร้อยละ 4.9 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากราคาอาหารและสินค้าอุตสาหกรรมที่เร่งขึ้นเป็นสำคัญ
South Korea: improving economic trend
  • มูลค่าการส่งออก (ตัวเลขปรับปรุง) เดือน ก.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปจีนและสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ มูลค่าการนำเข้า (ตัวเลขปรับปรุง) เดือน ก.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้าจากจีนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการนำเข้าที่ขยายตัวในอัตราที่มากกว่าการส่งออก ทำให้ดุลการค้า (ตัวเลขปรับปรุง) เดือน ก.ค. 56 เกินดุล 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐนอกจากนี้อัตราการว่างงาน เดือน ก.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 3.2 ของกำลังแรงงานรวมโดยทรงตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์ ก่อนจะปรับลดลงเล็กน้อยในช่วงปลายสัปดาห์ โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 15 ส.ค. 56 ปิดที่ 1,447.16 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันระหว่างสัปดาห์ที่สูงขึ้นที่ 41,740 ล้านบาท ผลส่วนหนึ่งจากการประกาศ IPO ของหลักทรัพย์ M ทำให้มีแรงซื้อจากนักลงทุน บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างชาติ หลังจากความกังวลต่อปัญหาคราบน้ำมันรั่วไหลประกอบกับความไม่สงบทางการเมืองลดลง ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 13 - 15 ส.ค. 56 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 1,374.9 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับสูงขึ้นเล็กน้อยในตราสารระยะยาว ซึ่งเป็นการปรับขึ้นในทิศทางเดียวกับ US Treasury โดยระหว่างวันที่ 13 - 15 ส.ค. 56 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ -3,137.7 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทคงที่ โดย ณ วันที่ 15 ส.ค. 56 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 31.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คงที่จากสัปดาห์ก่อนหน้า ในขณะที่ค่าเงินส่วนใหญ่อ่อนค่าลงเล็กน้อย ผลจากดัชนีดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.30 จากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 15 ส.ค. 56 ปิดที่ 1,365.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ สูงขึ้นจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,320.7 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ