รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 20 สิงหาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 20, 2013 11:02 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 20 สิงหาคม 2556

Summary:

1. สภาพัฒน์เผย GDP ไตรมาส 2/56 โตร้อยละ 2.8

2. ทอท.เผยไตรมาส 4 ผู้โดยสารพุ่งเกินเป้า

3. สภาที่ปรึกษานายกฯญี่ปุ่น หวั่นการบริโภคทรุด แนะขึ้นภาษีการขายปีละร้อยละ 1

Highlight:

1. สภาพัฒน์เผย GDP ไตรมาส 2/56 โตร้อยละ 2.8
  • สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไตรมาส 2/56 ขยายตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการใช้จ่ายครัวเรือนชะลอตัว การลงทุนชะลอตัว การส่งออกได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและบาทแข็ง รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมหดตัว ขณะที่มีแรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวสูงต่อเนื่อง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไตรมาส 2/56 ขยายตัวร้อยละ 2.8 ชะลอตัวลงจากไตรมาส 1/56 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.4 ตามการชะลอตัวของอุปสงค์ภายนอกประเทศที่ส่งผลโดยตรงต่อภาคการส่งออก โดยปริมาณการส่งออกสินค้าหดตัวร้อยละ 1.5 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.7 โดยเฉพาะสินค้าประมงที่หดตัวในระดับสูงจากการส่งออกกุ้ง ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวเช่นกัน โดยการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคครัวเรือนชะลอลงร้อยละ 2.4 จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.4 อย่างไรก็ดี การบริโภคและการลงทุนภาครัฐยังคงขยายตัวได้ดีในไตรมาสนี้ โดยขยายตัวร้อยละ 5.8 และ 14.9 ตามลำดับ หากพิจารณาเศรษฐกิจด้านการผลิตพบว่า ส่งสัญญาณชะลอตัวทุกสาขาการผลิต โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ -1.0 จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.9 ทั้งนี้ สศค. จะมีการปรับสมมุตฐานและประมาณการเศรษฐกิจไทยอีกครั้งในเดือน ก.ย.56
2. ทอท.เผยไตรมาส 4 ผู้โดยสารพุ่งเกินเป้า
  • รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานแผนงานและการเงิน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เปิดเผยว่า แนวโน้มการดำเนินงานของ ทอท.ในช่วงไตรมาส 3 ปี 56 (ก.ค.-ก.ย.) มีทิศทางที่ดีมาก โดยอัตราเที่ยวบินและผู้โดยสารอยู่ในระดับที่เติบโตมากกว่าที่ประมาณการไว้ แม้ว่าจะยังไม่ใช่ช่วงฤดูท่องเที่ยว (High Season) ทั้งนี้ เนื่องจากท่าอากาศยานภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน ส่วนท่าอากาศยานดอนเมืองมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นทั้งช่วงวันหยุดยาว ซึ่งล่าสุดวันหยุดวันแม่แห่งชาติ มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นถึง 50,000 คนต่อวัน จากปกติ 30,000-40,000 คนต่อวัน โดยคาดว่าปีนี้ผู้โดยสารจะเติบโตถึงร้อยละ 10 จากปีก่อน จากที่ประมาณการไว้ว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 7-8
  • สศค. วิเคราะห์ว่า นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ก.ค.56 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.2 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 22.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวดีจากนักท่องเที่ยว จีน มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งขยายตัวร้อยละ 69.0 26.2 และ 41.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ หากพิจารณาแบบ(m-o-m SA) พบว่าลดลงร้อยละ -3.3 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่งผลทำให้ 7 เดือนแรกปี 56 มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งสิ้น 15.0 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 20.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนทั้งนี้ สศค. คาดว่าทั้งปี 56 หากสถานการณ์การชุมนุมเป็นปกติไม่มีความรุนแรงจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งสิ้น 26.3 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 18.0 ต่อปี และจะสร้างรายได้ให้กับประเทศ 1.19 ล้านล้านบาท
3. สภาที่ปรึกษานายกฯญี่ปุ่น หวั่นการบริโภคทรุด แนะขึ้นภาษีการขายปีละร้อยละ 1
  • สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า นายเอ็ตสึโร่ ฮอนดะ ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยชิสึโอกะ และที่ปรึกษาพิเศษของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะของญี่ปุ่นกล่าวว่าการขึ้นภาษีการขายร้อยละ 3 ในเดือน เม.ย. 2557 จะทำให้การบริโภคหดตัวรุนแรง พร้อมกับแนะนำให้ขึ้นภาษีดังกล่าวปีละร้อยละ 1 ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี ทั้งนี้ โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศยังไม่แข็งแกร่งอย่างที่เห็น การขึ้นภาษีการขายจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคอย่างมาก อย่างไรก็ดี การขึ้นภาษีแบบค่อยเป็นค่อยไปจะช่วยปรับอุปสงค์ก่อนที่จะขึ้นภาษี และป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจถดถอยอย่างรวดเร็ว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จีดีพีไตรมาส 2 ปี 56 ของญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวราวร้อยละ 0.6 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นครึ่งแรกปี 56 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานสูงในช่วงครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ค. 56 ปรับลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 44.0 จุด จากระดับ 44.6 จุดในเดือนก่อน สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นที่ลดลง ทั้งนี้ ญี่ปุ่นขาดดุลการค้าในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า มาอยู่ที่ 1.024 ล้านล้านเยน หรือ 315,000 ล้านบาท หลังเงินเยนที่อ่อนค่าลง นับเป็นการขาดดุลการค้าต่อเนื่อง 13 เดือน ซึ่งถือเป็นระยะเวลาการขาดดุลการค้านานที่สุดในรอบกว่า 30 ปี จะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงมีความเปราะบาง ทั้งนี้ แม้ว่าผลการสำรวจบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นที่จัดทำขึ้นโดยสำนักข่าวเกียวโดชี้ว่า ร้อยละ 67 ของบริษัทชั้นนำ 111 แห่งที่ตอบรับการสำรวจเชื่อว่า แผนการขึ้นภาษีการขายในเดือนเม.ย. 57 เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการฟื้นฟูสถานะด้านการคลังของประเทศ แต่การขึ้นภาษีแบบค่อยเป็นค่อยไปจะช่วย ป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคและเศรษฐกิจเกิดภาวะตระหนก และทำให้เกิดการหดตัวและผลเสียอื่นๆ ตามมา

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ