รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 22 สิงหาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 22, 2013 10:48 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 สิงหาคม 2556

Summary:

1. กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 2.50 ตามตลาดคาดการณ์

2. BAY เชื่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 56 ทรงตัว

3. เศรษฐกิจกรีซยังไม่พ้นขีดอันตราย

Highlight:

1. กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 2.50 ตามตลาดคาดการณ์
  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมวันที่ 21 ส.ค. 56 มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 โดยที่ประชุมได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งแนวโน้มในระยะต่อไป เพื่อกำหนดนโยบายการเงินที่เหมาะสม โดยมีประเด็นสำคัญคือ เศรษฐกิจโลกโดยรวมมีแนวโน้มค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวได้ตามการฟื้นตัวของภาคการผลิตและภาคที่อยู่อาศัย รวมทั้งฐานะการเงินของภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยชะลอลงต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2 ใกล้เคียงกับที่คาดไว้ในการประชุมครั้งก่อน ตามการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะการใช้จ่ายในหมวดยานยนต์และกลุ่มสินค้าคงทน จากผลของมาตรการ รถคันแรกที่ทยอยหมดลงและการสะสมหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงขึ้น รวมทั้งการส่งออกที่ชะลอลงสอดคล้องกับเศรษฐกิจในภูมิภาครวมถึงการชะลอลงของเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 2 ที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก ในขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการชะลอตัวลงทั้งจากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย จะเป็นส่วนช่วยสนับสนุนการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศให้กลับมาขยายตัวในระดับปกติได้ในระยะต่อไป ซึ่งเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 56 ขยายตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 5.4 ต่อปี ในไตรมาสแรกของปี 56 ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอลงของอุปสงค์ในประเทศ ในขณะที่อุปสงค์ต่างประเทศยังไม่ฟื้นตัว ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 56 ขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.0 - 5.0)
2. BAY เชื่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 56 ทรงตัว
  • ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SMEs ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังของปี 56 จะทรงตัวและไม่ได้ชะลอลงตามการคาดการณ์ของสื่อต่างชาติหรือสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจต่างๆ แม้ว่าอัตราการเติบโตจะลดลงเมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 55 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมาขยายตัวอย่างผิดปกติจากโครงการประชานิยมของรัฐบาลโดยเฉพาะรถคันแรกและบ้านหลังแรก นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยบวกที่สำคัญจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และยังเชื่อว่าปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่เกิดจากโครงการประชานิยมจะลดลงใน 6-12 เดือนข้างหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 56 มีสัญญาณขยายตัวชะลอลง โดยล่าสุด GDP ในไตรมาสที่ 2 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.4 และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว หดตัวร้อยละ -0.3 ทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 56 ขยายตัวร้อยละ 4.1 โดยเป็นผลจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่การส่งออกหดตัวตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการแข็งค่าของเงินบาท สำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 56 จะมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรก ปัจจัยพื้นฐานด้านการลงทุนที่อยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำและเอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ ภาคการท่องเที่ยวที่สามารถขยายตัวในระดับสูงและส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งการดำเนินมาตรการของภาครัฐเพื่อรักษาเสถียรภาพและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยล่าสุด คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 56 เห็นชอบในหลักการและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ของไทยในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 4.5 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.0-5.0) (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 56) และจะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยอีกครั้งในเดือน ก.ย. 56
3. เศรษฐกิจกรีซยังไม่พ้นขีดอันตราย
  • นายโวลฟ์กัง ชอยเบิล รัฐมนตรีคลังของประเทศเยอรมนี กล่างถึงบุกรีซยังไม่ผ่านจุดวิกฤต และจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติม จากข้อมูลล่าสุด เศรษฐกิจกรีซหดตัวร้อยละ 4.6 ในไตรมาสสอง ซึ่งดีกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วน พร้อมกันนี้นายโวลฟ์กัง ชอยเบิล ยังได้ปฏิเสธความเป็นไปได้เรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ครั้งที่สองสำหรับกรีซ โดยระบุว่าการปรับโครงสร้างในครั้งแรกไม่ใช่ประสบการณ์ที่ดีนัก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลล่าสุดของ GDP ในไตรมาสที่สองของกรีซ ที่หดตัวร้อยละ -4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลดลงจากไตรสามแรกที่ร้อยละ -5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว (q-o-q SA) GDP ในไตรมาสสองยังคงหดตัวร้อยละ -0.3 จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งยังคงแสดงถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจกรีซ นอกจากนี้ ระดับหนี้สาธารณะก็ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 160.5 ต่อ GDP ในไตรมาสหนึ่งปี 2556 หลังจากที่มีการปรับโครงสร้างหนี้ครั้งแรกในปี 2554 ทั้งนี้ อัตราการว่างงานก็อยู่ในระดับที่สูงมาก และยังไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้น โดยข้อมูลล่าสุดอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 27.4 ของกำลังแรงงานรวม โดยอัตราการว่างงานในกลุ่มอายุตั้งแต่ 15 ถึง 19 ปี และ 20 ถึง 24 ปี สูงถึงร้อยละ 73.4 และ 57.9 ของกำลังแรงงานรวม

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ