รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 23 สิงหาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 23, 2013 13:48 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 23 สิงหาคม 2556

Summary:

1. นักวิเคราะห์หวัน ค่าเงินบาท-ริงกิต มีความเสียงอ่อนค่าลง จากเงินทุนไหลออก

2. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจีนเดือน ส.ค. 56 แตะระดับสูงสุดใน 4 เดือน

3. FED เปิดเผยบันทึกการประชุม FOMC เดือน ก.ค. 56 ว่าจะยังคงดำเนินมาตรการ QE ต่อไปจนกว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น

Highlight:

1. นักวิเคราะห์หวัน ค่าเงินบาท-ริงกิต มีความเสี่ยงอ่อนค่าลง จากเงินทุนไหลออก
  • นักวิเคราะห์จากธนาคาร CIMB คาด ค่าเงินบาทและริงกิตมาเลเซียอาจมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกเทขายเป็นรายต่อไป ภายหลังจากค่าเงินรูเปียะห์อินโดนีเซียและรูปีอินเดียถูกเทขายอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา จนก่อให้เกิดความวิตกกังวลว่าการอ่อนค่าของเงินอาจเกิดขึ้นกับประเทศอื่นในเอเชียที่เปราะบางต่อผลกระทบในกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจเริ่มลดขนาดมาตรการเข้าซื้อพันธบัตร (QE)
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาทไทยในช่วงที่ผ่านมาเริ่มอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่นักลงทุนเริมคาดการณ์การสิ้นสุดลงของมาตรการ QE จากตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลต่อการตัดสินใจยกเลิกหรือลดขนาดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในระยะเวลาอันใกล้ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินภูมิภาคของหลายประเทศส่วนใหญ่มีแนวโน้มอ่อนค่าซึ่งเป็นในลักษณะที่สอดคล้องกัน โดยเฉพาะ ค่าเงินเยนและเงินหยวน เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสำคัญ ทั้งนี้ หากในระยะต่อไป การตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มมีทิศทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ค่าเงินบาทของไทยและค่าเงินอื่นๆ ในภูมิภาคน่าจะเริมปรับตัวอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพมากขึ้น
2. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจีนเดือน ส.ค. 56 แตะระดับสูงสุดใน 4 เดือน
  • HSBC เปิดเผยผลสำรวจดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจีน (เบื้องต้น) เดือน ส.ค. 56 เพิ่มขึ้นแตะระดับ 50.1 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน เทียบกับระดับ 47.7 จุดในเดือน ก.ค. 56 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับเปลี่ยนทิศทางมาอยู่เหนือระดับ 50 จุด เป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน และแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน ของดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของจีนหลังจากที่อยู่ในระดับหดตัวต่อเนื่องมาหลายเดือน ถือเป็นสัญญาณบวกต่อเศรษฐกิจของจีน โดยหากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า การปรับเปลี่ยนทิศทางในเดือนนี้ เป็นผลมาจากทั้งคำสั่งซื้อใหม่และผลผลิตใหม่ที่เปลี่ยนจากหดตัวมาเป็นขยายตัว ประกอบกับสินค้าคงคลังลดลงในอัตราที่เร่งขึ้นกว่าเดิม แสดงให้เห็นถึงอุปสงค์ภายในประเทศที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว โดยส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากนโยบายเสริมสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพของจีนที่ประกาศในเดือน ก.ค. 56 ซึ่งครอบคลุมถึงการลดภาษีสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก การลดขั้นตอนและค่าธรรมเนียมเพื่อส่งเสริมการส่งออก และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ภายนอกประเทศยังคงไม่แข็งแกร่งนัก ดังจะเห็นได้จากดัชนีคำสั่งซื้อใหม่เพื่อการส่งออกซึ่งลดลงในอัตราทีเร่งขึ้น ทั้งนี้ โดยรวมอาจคาดการณ์ได้ว่า ในอนาคตอันใกล้เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจจีนอื่นของจีน น่าจะยังสามารถบ่งชี้การขยายตัวที่มีเสถียรภาพยิ่งขึ้น บ่งชี้จากผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 9.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อนในเดือน ก.ค. 56 เป็นต้น
3. FED เปิดเผยบันทึกการประชุม FOMC เดือน ก.ค. 56 ว่าจะยังคงดำเนินมาตรการ QE ต่อไปจนกว่า เศรษฐกิจจะดีขึ้น
  • ธนาคารกลางสหรัฐฯ เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (Federal Open Market Committee: FOMC) เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 56 ซึ่งมีเนื้อหาว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังคงดำเนินมาตรการ QE ต่อไป จนกว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้น โดยสมาชิกส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่ายังไม่ควรปรับเปลี่ยนนโยบายในตอนนี้ ทั้งนี้ เนื้อหาของบันทึกการประชุมที่ค่อนข้างคลุมเครือเกี่ยวกับช่วงเวลาที่จะยุติมาตรการ ส่งผลให้ดัชนีหลักทรัพย์ S&P's 500 ของสหรัฐฯ ปิดตลาดในวันที่ 22 ส.ค. 56 ที่ระดับ 1,642.8 จุด ลดลงร้อยละ 0.6 จากวันก่อนหน้า และอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ของสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ ร้อยละ 2.89
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเป็นไปตามเป้าหมายที่เป็นเงื่อนไขในการยุติการดำเนินมาตรการ QE ที่ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ กำหนดไว้ที่อัตราขยายตัวของ GDP ที่ร้อยละ 2.0 และอัตราว่างงานที่ร้อยละ 6.5 ได้นั้น อาจต้องอาศัยเวลาอีกสักระยะ สะท้อนจาก GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 56 ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ประกอบกับอัตราการว่างงานในเดือน ก.ค. 56 ยังอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 7.4 ของกำลังแรงงานรวม
  • ทั้งนี้ กระแสข่าวการยุติมาตรการ QE ที่ไม่แน่นอนได้ส่งผลให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออกจากจากประเทศกำลังพัฒนากลับสู่สินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ทำให้หลายประเทศขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้น สร้างแรงกดดันต่อค่าเงิน เช่น อินเดียและอินโดนีเซียที่ค่าเงินอ่อนค่าลงอย่างมาก ตราบใดที่แผนการยุติมาตรการ QE ของสหรัฐฯ ยังคงคลุมเครือย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาเป็นวงกว้าง จึงควรติดตามผลการประชุม FOMC อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิงการประชุมครั้งต่อไป ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 31 ส.ค. 56 นี้

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ