รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 19 - 23 สิงหาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 26, 2013 11:16 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary
Indicators this week
  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ก.ค. 56 ได้จำนวน 132.7 พันล้านบาท

หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ก.ค.56 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.2 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 22.5

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือน ก.ค.56 หดตัวร้อยละ -2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ขยายตัวร้อยละ 1.5

  • GDP มาเลเซีย ไตรมาสที่ 2 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ฮ่องกง ไตรมาสที่ 2 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกญี่ปุ่น ในเดือน ก.ค. 56 ขยายตัวเร่งขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 12.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจีน เดือน ส.ค. 56 โดย HSBC อยู่ที่ระดับ 50.1 จุด
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสหภาพยุโรป เดือน ส.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 51.7 ญ
Indicators next week
 Indicators                               Forecast           Previous
 Jul : MPI  (% YoY)                         -5.0               -3.5

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปัจจัยฐานสูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการเร่งผลิตเพื่อตอบสนองอุปสงค์ที่ตกค้าง โดยเฉพาะในหมวดยานยนต์ ประกอบกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทยฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทำให้การการส่งออกสินค้าลดลง และอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกของไทยลดลงตามไปด้วย

Economic Indicators: This Week
  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.4 และเมื่อขจัดผลของฤดูกาลออกพบว่า หดตัวร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ_SA) ตามการชะลอลงของอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากมีการเร่งบริโภคไปแล้วในช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทน ประกอบกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทำให้การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.4 และร้อยละ 2.8 ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวร้อยละ -1.0 อย่างไรก็ดี การผลิตภาคบริการยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดีจากสาขาโรงแรมและภัตตาคาร และภาคบริการด้านการเงินที่ขยายตัวร้อยละ 14.2 และร้อยละ 10.3 ตามลำดับ ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกปี 56 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ก.ค. 56 ได้จำนวน 132.7 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมากกว่าประมาณการตามเอกสาร งปม. 1.3 พันล้านบาท หรือร้อยละ 1.0 โดยมีรายการสำคัญดังนี้ (1) ภาษีฐานรายได้จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนอุปสงค์ภายในประเทศ และรายได้ภาคครัวเรือนที่ยังขยายตัวได้ดี (2) ภาษีฐานบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภค (ภ.พ.30) จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนการบริโภคที่เพิ่มขึ้นตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ภาษีจากการนำเข้าจัดเก็บได้ลดลงร้อยละ 7.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากอัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าที่ชะลอลง สอดคล้องกับอากรขาเข้าที่จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ 5.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ (3) รายได้จากส่วนราชการอื่นจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในช่วง 10 เดือนแรกของปี งปม. 56 (ต.ค.55 - ก.ค. 56) ได้จำนวน 1,753.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงปม. 56.9 พันล้านบาท หรือร้อยละ 5.2
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน ก.ค. 56 มีมูลค่า 53.8 พันล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ -1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -2.4 (หรือหดตัวร้อยละ -0.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ตามการหดตัวลงในระดับสูงจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้า ที่หดตัวร้อยละ -9.3 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่ลดลง อย่างไรก็ดี ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดีที่ร้อยละ 5.5 สะท้อนถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี ทั้งนี้ในช่วง 7 เดือนแรกปี 56ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ก.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 29.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -10.4 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ 17.1 ต่อเดือน สาเหตุหลักจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่กลับสู่สภาวะปกติจากเสถียรภาพของเศรษฐกิจในประเทศ และการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบ และที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ด้านอุปทาน (Supply) ของภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และราคาอสังหาริมทรัพย์ก็ยังคงขยายตัวสูงขึ้น
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ก.ค.56 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.2 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 22.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงร้อยละ -3.3 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) โดยเป็นการขยายตัวดีจากนักท่องเที่ยว จีน มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งขยายตัวร้อยละ 69.0 26.2 และ 41.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ส่งผลทำให้ 7 เดือนแรก ปี 56 มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งสิ้น 15.0 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 20.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • วันที่ 21 ส.ค. 56 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 จากการที่ กนง. ประเมินว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนปรนในช่วงที่ผ่านมามีส่วนเอื้อให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในเกณฑ์ดี ในขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนอยู่ และเศรษฐกิจในประเทศยังมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินจากการเร่งขึ้นของราคา โดย กนง. ระบุว่าจะติดตามความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินดังกล่าว รวมถึงสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินการที่เหมาะสมต่อไป
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนก.ค. 56 อยู่ที่ 47,485 หรือหดตัวร้อยละ -26.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -17.7 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และการแผ่วลงของนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาล โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ( ส.อ.ท.) ระบุว่าจะสามารถเร่งทยอยการส่งมอบรถที่ค้างจองให้หมดภายในเดือน ต.ค. 56 ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกปี 56 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ขยายตัวร้อยละ 24.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ก.ค. 56 อยู่ที่ 50,767 หรือหดตัวร้อยละ -24.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -10.7 ตามการลดลงของยอดขายรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่หดตัวร้อยละ -29.6 จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -14.5 เนื่องจากมีการเร่งผลิตและส่งมอบไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า ทำให้คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 56 ยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์จะยังหดตัว เนื่องจากปัจจัยฐานที่เร่งสูงมากในช่วงปลายปี 55 ทั้งนี้ในช่วง 7 เดือนแรกปี 56 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขยายตัวในเกณฑ์ดีที่ร้อยละ 5.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือน ก.ค.56 หดตัวร้อยละ -2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 7.6ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะข้าว ที่ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง อย่างไรก็ดีผลผลิตยางพารา และปาล์มน้ำมัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพื้นที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก สอดคล้องกับผลผลิตหมวดปศุสัตว์ที่ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดีที่ร้อยละ 3.6 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตไก่เนื้อเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกปี 56 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวเล็กน้อยร้อยละ -0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ในเดือนก.ค.56 ขยายตัวร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 2.9 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาผลผลิตในหมวดพืชผล โดยเฉพาะมันสำปะหลัง ที่ราคายังคงขยายตัวในระดับสูง เนื่องจากอุปสงค์ที่มีเข้ามาต่อเนื่องจากประเทศจีน และราคาในหมวดประมง โดยเฉพาะกุ้งที่ได้รับผลกระทบจากโรดระบาดอย่างไรก็ดี ราคายางพาราและปาล์มน้ำมันยังคงหดตัวต่อเนื่อง จากอุปทานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามการเพิ่มสต็อคของของประเทศจีนและญี่ปุ่นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ขณะที่อุปสงค์ค่อนข้างทรงตัว ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกปี 56 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวที่ร้อยละ -1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 56 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,225.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 47.9 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 44.3 ของ GDP ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะที่สำคัญเกิดจากหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นสุทธิ 48.6 พันล้านบาท โดยมีรายการสำคัญจากหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพื่อชดเชยการขาดดุลเงินงบประมาณและการบริหารหนี้จำนวน 23.5 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว (ร้อยละ 97.8 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นสกุลเงินบาท (ร้อยละ 93.2 ของยอดหนี้สาธารณะ)
Economic Indicators: Next Week
  • ผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.ค. 56 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -3.5 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปัจจัยฐานสูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการเร่งผลิตเพื่อตอบสนองอุปสงค์ที่ตกค้าง โดยเฉพาะในหมวดยานยนต์ ที่ได้รับผลกระทบบางส่วนจากโครงการรถยนต์คันแรกที่สิ้นสุดลง ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์มีแนวโน้มชะลอตัวลง ประกอบกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทยฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทำให้การการส่งออกสินค้าลดลง และอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกของไทยลดลงตามไปด้วย

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend
  • ยอดขายบ้านมือสอง เดือน ก.ค. 56 อยู่ที่ 519,000 หลัง สูงสุดในรอบกว่า 6 ปี หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 20.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 6.5 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปี ส่งผลให้ราคากลางบ้าน เดือน ก.ค. 56 อยู่ที่ 213,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อหลัง ซึ่งใกล้เคียงราคากลางช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค. 51 ก่อนเกิดวิกฤติการเงินในสหรัฐฯในเดือน ก.ย. 51
Japan: improving economic trend
  • มูลค่าการส่งออกในเดือน ก.ค. 56 ขยายตัวเร่งขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 12.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปและจีนที่กลับมาขยายตัวประกอบกับปัจจัยหนุนของค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องเป็นสำคัญ และมูลค่าการนำเข้าเดือน ก.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 19.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำเข้าสินค้าหมวดทุนและวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งสินค้าหมวดเชื้อเพลิงและพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นในระยะที่ผ่านมายังเป็นปัจจัยเร่งให้มูลค่าการนำเข้าขยายตัวเร่งขึ้นตามด้วย บ่งชี้ว่าภาคการค้าระหว่างประเทศญี่ปุ่น มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากมูลค่าการนำเข้าที่มากกว่ามูลค่าการส่งออกนั้น ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนดังกล่าว ขาดดุลมูลค่า 1.0 ล้านล้านเยน หรือ 10.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
China: improving economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 56 โดย HSBC อยู่ที่ระดับ 50.1 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือนและเป็นการกลับมาอยู่เหนือระดับ 50 จุด เป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน โดยเป็นผลจากทั้งคำสั่งซื้อใหม่และผลผลิตใหม่ที่เปลี่ยนทิศทางจากหดตัวมาเป็นขยายตัว ในขณะที่ปริมาณสินค้าคงคลังยังคงหดตัวต่อเนื่อง แต่ในอัตราที่เร่งขึ้น
Eurozone: mixed signal
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 56 ทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -0.5 จากเดือนก่อนหน้า จากราคาสินค้าในหมวดอาหารและพลังงานที่หดตัวลง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน ส.ค. 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) เพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 50.0 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 มาอยู่ที่ระดับ 51.7 โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 26 เดือนมาอยู่ที่ระดับ 51.3 ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 24 เดือนมาอยู่ที่ระดับ 51.0 บ่งชี้ภาคการผลิตที่ส่งสัญญาณขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากวิเคราะห์รายประเทศพบว่า ภาคการผลิตในเยอรมนีปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน จากคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่เร่งขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตในฝรั่งเศสยังคงส่งสัญญาณหดตัวต่อเนื่องทั้งในภาคอุตสาหกรรม และบริการ ปัจจัยดังกล่าวสะท้อนภาคการผลิตที่ยังคงมีความไม่แน่นอน นอกจากนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจยูโซน ยังคงมีความเปราะบางสูง เนื่องจากยังคงประสบปัญหาอัตราการว่างงานที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะอัตราการว่างงานวัยเยาวชน (Youth unemployment rate) ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
Indonesia: worsening economic trend
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 108.4 จุด ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 14 เดือน ทั้งนี้ อาจเป็นผลจากแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชนเป็นสำคัญ
Malaysia: mixed signal
  • GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.5 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว)เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากการบริโภคภายในประเทศที่ยังคงแข็งแกร่ง ประกอบกับภาคธุรกิจเริ่มคลายความกังวลหลังพรรครัฐบาลได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ค. 56 และกลับมาลงทุนอีกครั้ง สะท้อนจากการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวเร่งขึ้นอีกครั้งในไตรมาสที่ 2 ที่ร้อยละ 12.7 ส่วนอัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 1.8 ทั้งนี้ เป็นผลจากราคาสินค้าในหมวดอาหารและค่าใช้จ่ายในหมวดขนส่งที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 และ 0.9 ตามลำดับ
Singapore: improving economic trend
  • มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน กลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังหดตัวร้อยละ -9.5 ในเดือนก่อน ทั้งนี้ เป็นผลจากการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขยายตัวร้อยละ 13.1 โดยสรุป ดุลการค้า เดือน ก.ค. 56 เกินดุล 3.5 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์
Hong Kong: improving economic trend
  • GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.8 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) และขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ปี 56 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นผลจากอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุน ที่ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในขณะที่การส่งออกขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากอุปสงค์ภายนอกประเทศยังคงเปราะบาง อัตราว่างงาน เดือน ก.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งค่อนข้างคงตัวจากระดับเฉลี่ยในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 56 ที่ร้อยละ 3.5 ของกำลังแรงงานรวม อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 6.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 4.2 ในเดือนก่อนหน้าเป็นผลจากปัจจัยฐานต่ำ เนื่องจากในเดือน ก.ค. ปี 55 ทางการฮ่องกงได้มีมาตรการลดค่าครองชีพและผ่อนคลายแรงกดดันในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยการยกเว้นค่าเช่าที่พักที่จัดสรรโดยภาครัฐ ทำให้ค่าใช้จ่ายหมวดที่พักอาศัยในช่วงดังกล่าวต่ำกว่าปกติ
Taiwan: mixed signal
  • อัตราว่างงาน เดือน ก.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 4.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ถือว่าเป็นระดับที่ค่อนข้างทรงตัวมาตั้งแต่ต้นปี
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเกือบ 100 จุด โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 22 ส.ค. 56 ปิดที่ 1,351.81 จุด ลดลงมากจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ปิดที่ 1,445.76 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันระหว่างสัปดาห์ที่ 50,834 ล้านบาท หลังจากการประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ปี 56 โดย สศช. ทำให้มีแรงขายจากนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 19 - 22 ส.ค. 56 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ -24,269.9 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับสูงขึ้นมาก ในตราสารทุกช่วงอายุ จากการเทขายของนักลงทุน ภายหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศผลการประชุม FOMC ซึ่งยังคงมีท่าทีคลุมเครือในการดำเนินมาตรการ QE ก่อให้เกิดความกังวลต่อตลาดการเงินทั่วโลก และทำให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์ในภูมิภาค โดยเฉพาะในอินโดนีเซียและอินเดีย เพื่อกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย อาทิ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยระหว่างวันที่ 19 - 22 ส.ค. 56 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ -5,974.3 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง โดย ณ วันที่ 22 ส.ค. 56 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.12 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ -2.78 จากสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉพาะเยน ริงกิตมาเลเซีย วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์ และค่าเงินหยวน ในขณะที่ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจที่เริ่มแสดงสัญญาณการฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในอัตราที่มากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงร้อยละ -1.88 จากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 22 ส.ค. 56 ปิดที่ 1,375.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ สูงขึ้นจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,365.48 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ