รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 27 สิงหาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 27, 2013 11:22 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 27 สิงหาคม 2556

Summary:

1. พาณิชย์แจงส่งออก ก.ค. ลดลงร้อยละ 1.48

2. ศูนย์วิจัย ธกส. คาดเศรษฐกิจเกษตรทั้งปี 56 โตร้อยละ 4.0

3. สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเผยมั่นใจเศรษฐกิจโตตามเป้าที่ร้อยละ 7.5 ในปีนี้

Highlight:

1. พาณิชย์แจงส่งออก ก.ค. ลดลงร้อยละ 1.48
  • ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึง ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน ก.ค.56 ว่า การส่งออกมีมูลค่า 19,064 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 1.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 21,345 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.08 ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 2,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่าการส่งออกของไทยในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 7.0 - 7.5 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.46 - 2.47 แสนล้านดอลลาร์
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือน ก.ค. 56 หดตัวร้อยละ 1.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการหดตัวจากสินค้าในหมวดอุตสากรรมการเกษตร เกษตรกรรม และเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นสำคัญโดยหดร้อยละ -8.7 -6.5 และ -5.9 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี สินค้าแร่และเชื้อเพลิงยังคงขยายตัวร้อยละ 13.3 ในขณะที่การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ก็กลับมาขยายตัวบวกในรอบ 4 เดือนที่ร้อยละ 1.1 ส่งผลให้ 7 เดือนแรกของปี 56 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 132,368.12 ล้าน เหรีญสหรัฐอเมริกา ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หากพิจารณาด้านตลาดส่งออกพบว่า การส่งออกไปยังจีนญี่ปุ่นและสหรัฐยังคงหดตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ตลาดส่งออกในกลุ่มประเทศอาเซียนยังคงขยายตัวได้ดี
2. ศูนย์วิจัย ธกส. คาดเศรษฐกิจเกษตรทั้งปี 56 โตร้อยละ 4.0
  • ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. ได้คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรไทยครึ่งหลังปี 56 ว่าจะขยายตัวอยู่ร้อยละ 4.6 จากครึ่งปีแรก ทำให้คาดว่าทั้งปี 56 เศรษฐกิจการเกษตรไทยจะขยายตัวร้อยละ 4.0 เป็นผลจากผลผลิตทางการเกษตรในหมวดสำคัญๆ ขยายตัวดี อาทิ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน ที่มีผลผลิตต่อไร่ที่ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน ซึ่งเป็นปัจจัยบวกทำให้มูลค่าสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น และ คาดว่าสินค้าหมวดพืชผลและปศุสัตว์จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกและราคาสินค้าเกษตรจะมีทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคเกษตรในปี 56 ได้แก่ 1.ปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น ภาวะภัยแล้ง และโรคระบาด ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบให้ผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมหดตัวลง โดยเฉพาะข้าวนาปรัง อย่างไรก็ดี ผลผลิตยางและปาล์มน้ำมันคาดว่าจะมีผลผลิตออกมาต่อเนื่องตามพื้นที่การเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก 2. อุปสงค์สินค้าเกษตรกรรมในตลาดโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้ราคาผลผลิตสินค้าเกษตรยังคงอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร โดยข้อมูลล่าสุดในช่วง 7 เดือนแรกของปี 56 ราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้หดตัวที่ร้อยละ -1.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้รายได้เกษตรกรหดตัวที่ร้อยละ -2.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการลดลงจากรายได้เกษตรเกือบทุกภาค โดยเฉพาะภาคใต้ยังคงหดตัวลึกสุดจากการลดลงของราคายางพาราเป็นสำคัญ
3. สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเผยมั่นใจเศรษฐกิจโตตามเป้าที่ร้อยละ 7.5 ในปีนี้
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยว่า เศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณมีเสถียรภาพและการเปลี่ยนแปลงในทางบวกชัดเจน โดยอยู่ในเส้นทางของการเติบโตตามเป้าที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 7.5 ในปีนี้โฆษกสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนให้ความเห็นในการประชุมที่จัดโดยกระทรวงต่างประเทศเพื่อบรรเทาความกังวลในตลาดโลกต่อเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว ระบุว่าการสำรวจโรงงานของเอกชนสนับสนุนสัญญาณความแข็งแกร่งของเสถียรภาพเศรษฐกิจในไตรมาส 3 หลังจากรัฐบาลใช้มาตรการสนับสนุนหลายประการ รวมทั้งการยกเลิกภาษีสำหรับบริษัทเล็กๆ และเร่งการลงทุนในสาธารณูปโภคและสร้างทางรถไฟในเขตเมือง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ทางการจีนได้พยายามส่งสัญญาณเน้นการดูแลระบบเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพโดยไม่เน้นการเติบโตมาโดยตลอดในช่วงปีนี้ โดยเป้าระดับการเติบโตเศรษฐกิจจีนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 7.5 ซึ่งจีนมีความต้องการรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจให้มีลักษณะต่อเนื่องและค่อยเป็นค่อยไปในระดับที่จัดการได้เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เรียกว่า Hardlanding ทั้งนี้ รัฐบาลจีนได้พยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจทั้งในส่วนของตลาดที่อยู่อาศัยและส่วนของกิจการรายย่อย และเน้นให้ระบบธนาคารเป็นกลไกสำคัญในการปรับตัว โดยพยายามดูแลไม่ให้มีการปล่อยสินเชื่ออย่างหละหลวมและควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ท่ามกลางนโยบายการเงินที่มีลักษณะลดการผ่อนคลายลงเพื่อลดปัญหาหนี้เสียที่มักเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจฟองสบู่ โดยการชะลอตัวของการใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการเปลี่ยนน้ำหนักของนโยบาย ราคาสินทรัพย์ที่ลดลง และสถาบันการเงินที่ระวังการปล่อยกู้ ทำให้เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มจะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีเสถียรภาพมากขึ้น

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ