รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 28 สิงหาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 28, 2013 11:24 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 28 สิงหาคม 2556

Summary:

1. ธปท. ระบุปล่อยค่าเงินตามกลไกตลาด

2. RBS Bank คาดส่งออกไทยปี 56 โตร้อยละ 3 - 4

3. ดอยช์แบงก์ ปรับเพิ่มจีดีพีจีนครึ่งปีหลังเป็นโตร้อยละ 7.7

Highlight:

1. ธปท. ระบุปล่อยค่าเงินตามกลไกตลาด
  • รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึง สถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศในขณะนี้ว่า ธปท. มีการจับตาอย่างใกล้ชิด ซึ่งเห็นว่า ขณะนี้อัตราแลกเปลี่ยนของไทย ไม่ได้อ่อนค่า หรือ แข็งค่าผันผวนจนเกินไป โดยทาง ธปท. จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพราะค่าเงินยังเป็นไปตามทิศทางเดียวกันกับภูมิภาค และประเทศคู่แข่งภาคการค้า ยังสามารถกำหนดทิศทางส่งออกได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 27 ส.ค. 56 ค่าเงินบาทอยู่ที่ 32.05 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 4.77 เมื่อเทียบกับต้นปี 56 ที่อยู่ที่ 30.59 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ดัชนีค่าเงินบาท [Nominal Effective Exchange Rate (NEER)] ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบค่าเงินบาทกับสกุลเงินคู่ค้าหลักถ่วงน้ำหนัก แข็งค่าขึ้นที่ร้อยละ 0.68 จากต้นเดือนม.ค. 56 ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนมีการอ่อนค่าลงเป็นไปในแนวทางเดียวกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าเงินเยน ริงกิตมาเลเซีย และดอลลาร์สิงคโปร์ ที่ค่าเงินอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากผลกระทบจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed จะถอนมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง หรือ QE ออก แต่อย่างไรก็ดี เสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง สามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนก.ค. 56 อยู่ในระดับสูงที่ 172.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.6 เท่า ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราเงินแลกเปลี่ยนในปี 56 ที่ระดับ 30.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 29.0 - 31.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 56 และจะปรับประมาณครั้งใหม่ในเดือนก.ย. 56)
2. RBS Bank คาดส่งออกไทยปี 56 โตร้อยละ 3 - 4
  • ประธานธนาคาร Royal Bank of Scotland (RBS) คาด ปีนี้ส่งออกไทยขยายตัวร้อยละ 3 - 4 ต่อปี โดยเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 4 ของปี 56 ต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งปีแรกของปีหน้า นายชาลี มาดาน ประธานกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร Royal Bank of Scotland (ประเทศไทย) ยอมรับว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรก เป็นผลสะท้อนมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงสุดในช่วง 1 ถึง 2 ปี ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นผลมาจาก นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอโดยสัญญาณการฟื้นตัวของภาคส่งออกนั้น จะเริ่มชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ จากทั้งปัจจัยบวกของประเทศผู้นำเข้ามีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกของไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 56 มีมูลค่า 132,368.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 0.60 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง โดยเฉพาะการส่งออกไปยังกลุ่ม G3 มีแนวโน้มหดตัวลดลง เช่น เศรษฐกิจยูโรโซนที่อยู่ในภาวะถดถอย เศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวจากภาคธุรกิจที่ชะงักงัน และเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ความต้องการนำเข้าชะลอตัวลงจากผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ในขณะที่เศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงของภาคธุรกิจ แต่อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยยังได้รับอานิสงส์จากการเพิ่มขึ้นของสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าเชื้อเพลิง ที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 1.1 และ 13.3 ตามลำดับ ประกอบกับตลาดอาเซียน 9 ยังคงเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญ โดยขยายตัวร้อยละ 8.6 ทั้งนี้ ตลาดส่งออกไปยังกลุ่มอาเซียน 9 ถือเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 24.7 ของมูลค่าการส่งออก ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการส่งออกสินค้าและบริการในปี 56 จะขยายตัวที่ร้อยละ 6.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.5 - 7.5) (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 56 และจะปรับประมาณครั้งใหม่ในเดือนก.ย. 56) )
3. ดอยช์แบงก์ ปรับเพิ่มจีดีพีจีนครึ่งปีหลังเป็นโตร้อยละ 7.7
  • ธนาคารดอยซ์แบงก์ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวของผลิตภัณพ์มวลรวมภาย ในประเทศ (จีดีพี) ในครึ่งปีหลังของจีนเป็นร้อยละ 7.7 จากตัวเลขประมาณการก่อนหน้านี้ที่ร้อยละ 7.6 หลังดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่สำคัญๆของจีนส่งสัญญาณมีเสถียรภาพนับตั้งแต่เดือน ก.ค. ที่ผ่านมา
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณในทิศทางบวกในไตรมาสที่ 3 โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมเบื้องต้น เดือน ส.ค. 56 โดย HSBC อยู่ที่ระดับ 50.1 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือนและเป็นการกลับมาอยู่เหนือระดับ 50 จุด เป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน โดยเป็นผลจากทั้งคำสั่งซื้อใหม่และผลผลิตใหม่ที่เปลี่ยนทิศทางจากหดตัวมาเป็นขยายตัว นอกจากนี้ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 9.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการขยายตัวในอัตราที่สูงที่สุดตั้งแต่ต้นปี ซึ่งอาจส่งสัญญาณว่าการผลิตในภาคอุตสาหกรรมได้เริ่มฟื้นตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคการผลิตที่ค่อนข้างมากในช่วงต้นปี และการก่อสร้างในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังขยายตัวต่อเนื่องเพื่อตอบสนองต่อยอดขายที่ค่อนข้างสูง ทั้งนี้ สำหรับยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 13.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 13.3 แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเดือนอื่นตั้งแต่ต้นปี สะท้อนอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังค่อนข้างทรงตัว สศค. คาดว่าเศรษฐกิจีนในปี 56 จะขยายตัวที่ร้อยละ 7.6 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 56)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ