รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 29 สิงหาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 29, 2013 11:14 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 สิงหาคม 2556

Summary:

1. ผลสำรวจระบุ คนเมืองมีภาระหนี้ร้อยละ 50 ของรายได้

2. คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติจัดสรรเงิน 20,000 ล้านบาท แก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ

3. ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเกาหลีใต้ยังอยู่ในระดับที่อ่อนแอ

Highlight:

1. ผลสำรวจระบุ คนเมืองมีภาระหนี้ร้อยละ 50 ของรายได้
  • มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ภาระหนี้สินกับการหารายได้เสริมของคนเมือง ในกรณีศึกษาประชาชนทั่วไปที่มีอายุ 25 -60 ปี ที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,205 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างเดือน ส.ค. 56 ที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มตัวอย่างประมาณ 2 ใน 3 มีภาระนี้สิน โดยตัวอย่างที่สมรสแล้วจะมีสัดส่วนหนี้สูงกว่าคนโสด เมื่อถามถึงประเภทหนี้สินที่ต้องผ่อนชำระ พบว่า คนโสดและคนที่สมรสแล้วจะมีประเภทของม หนี้สินที่ต่างกัน ในกลุ่มคนโสด จะมีหนี้รถยนต์ อุปกรณ์ไอที เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ สำหรับตัวอย่างที่สมรสแล้วจะมีหนี้รถยนต์ การกู้ยืมเพื่อประกอบธุรกิจ และที่อยู่อาศัย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สำหรับภาระหนี้สินที่ต้องชำระในแต่ละเดือน เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ส่วนตัวต่อเดือน พบว่า กลุ่มตัวอย่างต้องผ่อนชำระประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาวะหนี้ครัวเรือนในไตรมาสที่ 1 ของปี 56 ตามนิยามของธนาคารแห่งประเทศไทย อยู่ที่ร้อยละ 77.5 ของ GDP เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 55 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 77.1 ทั้งนี้สินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลในไตรมาส 2 ปี 56 (สัดส่วนร้อยละ 25.5 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวร้อยละ 18.2 ต่อปี จากสินเชื่อเพื่อการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเฉพาะการขยายตัวของสินเชื่ออุปโภคบริโภคกรณีไม่รวมสินเชื่อเพื่อการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในไตรมาสที่ 2 ปี 56 พบว่า ขยายตัวลดลงอยู่ที่ร้อยละ 11.2 ต่อปี จากเดิมที่ขยายตัวร้อยละ 15.1 ในไตรมาสที่ 1 ปี 56 ทั้งนี้ สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตพบว่า การผิดนัดชำระหนี้ของสินเชื่อบัตรเครดิตยังอยู่ในระดับต่ำ โดยล่าสุด ยอดค้างสินเชื่อเกิน 3 เดือนขึ้นไปต่อสินเชื่อบัตรเครดิตในไตรมาสที่ 2 ปี 56อยู่ที่ร้อยละ 2.3 ของสินเชื่อบัตรเครดิต ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ระดับหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันยังไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากเป็นการเพิ่มขึ้นมาจากปัจจัยนโยบายรถคันแรกของรัฐบาลในปีก่อน ได้สิ้นสุดลงแล้วและภาคครัวเรือนยังมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ดี
2. คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) จัดสรรเงิน 20,000 ล้านบาท แก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ
  • รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเพื่อพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ที่มีมติเห็นชอบ 3 แนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรสวนยางพารา ซึ่งได้ผลกระทบจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยที่ประชุมอนุมัติวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท ซึ่งให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อ วงเงิน 5 พันล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรนำไปลงทุนแปรรูปยางแผ่นดิบเป็นผลิตภัณฑ์ยางให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันให้ธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการโรงงานผลิตภัณฑ์ยางขนาดใหญ่วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาทเพื่อปรับปรุงเครื่องจักรอุตสาหกรรม ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมให้ความช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเต็มที่
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ราคายางแผ่นดิบรมควันชั้น 3 ที่เกษตรกรขายได้ที่สวนในเดือน ก.ค. 56 กิโลกรัมละ 70.0 บาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 23.3 จากช่วงเดียวกันของปีกันของปีก่อน และราคาเฉลี่ยใน 7 เดือนของปี 56 (ม.ค. - ก.ค. 56) กิโลกรัมละ 77.1 บาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 21.6 จากช่วงเดียวกันของปีกันของปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะชะลอตัว ทำให้ความต้องการใช้ลดลง ในขณะที่ผลผลิตยางเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ราคายางพาราตกต่ำอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากราคาซื้อขายล่วงหน้าตลาดสิงคโปร์ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 259.1 เซนต์สหรัฐฯ (81.9 บาท) ลดลงจาก 260.0 เซนต์สหรัฐฯ (81.3 บาท) ในสัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 0.9 เซนต์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 0.4 และราคาซื้อขายล่วงหน้าตลาดโตเกียว เฉลี่ยกิโลกรัมละ 256.0 เยน (83.0 บาท) ลดลงจาก 262.0 เยน (83.6 บาท) ในสัปดาห์ที่แล้วกิโลกรัมละ 6.0 เยน หรือร้อยละ 2.3 อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีความได้เปรียบเกี่ยวกับยางแผ่นรมควันที่ใช้ในการทำยางล้อ ซึ่งมีคุณภาพดีกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น อินโดนีเซียและเวียดนาม แต่มีปัญหาเรื่องมาตรฐานความสม่ำเสมอ ซึ่งจำเป็นจะต้องปรับปรุง ดังนั้น การที่ กนย. ได้มีมติให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) สนับสนุนสินเชื่อกับเกษตรกรนำไปลงทุนแปรรูปยางแผ่นดิบเป็นผลิตภัณฑ์ยางให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการโรงงานผลิตภัณฑ์ยางขนาดใหญ่เพื่อปรับปรุงเครื่องจักรอุตสาหกรรม จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ และจะเป็นการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรผู้ผลิตยางในระยะยาว
3. ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเกาหลีใต้ยังอยู่ในระดับที่อ่อนแอ
  • ธนาคารกลางเกาหลีใต้ รายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (BSI) ในเดือน ก.ย. 56 อยู่ที่ 77 จุด เพี่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 73 จุด แสดงถึงภาคธุรกิจของเกาหลีใต้มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังอยู่ในระดับที่อ่อนแอ เนื่องจากภาคธุรกิจยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยง เช่น ความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดขนาดโครงการซื้อพันธบัตร วิกฤติการเงินในอินเดียและอินโดนีเซียซึ่งส่งผลให้ค่าเงินของทั้งสองประเทศร่วงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งข้อกล่าวหาที่รัฐบาลซีเรียได้ใช้อาวุธเคมีจนอาจทำให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองในตะวันออกกลาง นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจบริการในเดือน ก.ย. 56 อยู่ที่ 70 จุด เพี่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 67 จุด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 56 ที่ขยายตัวได้ดีเป็นผลมาจากการส่งออกเป็นสำคัญ โดยล่าสุด GDP ในไตรมาสที่ 2 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว ขยายตัวร้อยละ 1.1 ทำให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 56 ขยายตัวร้อยละ 1.9 อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนี้โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญซึ่งทำให้อุปสงค์จากประเทศคู่ค้าสำคัญคือ จีนและยูโรโซนปรับตัวลดลง ส่งผลให้ภาคการผลิตของเกาหลีใต้เริ่มมีสัญญาณที่ไม่ดี สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.ค. 56 ลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 47.2 จุด จากผลของผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเกาหลีใต้ได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย โดยล่าสุด เมื่อวันที่11 ก.ค. 56 ธนาคารกลางเกาหลีใต้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 2.8 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 56)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ