รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 30 สิงหาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 30, 2013 11:31 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 30 สิงหาคม 2556

Summary:

1. ผลการประชุม BOI เห็นชอบโครงการส่งเสริมการผลิตรถ Eco Car รุ่นที่ 2

2. GDP ของฟิลิปปินส์ ไตรมาสที่ 2 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 7.5

3. รัฐบาลอินเดียประกาศมาตรการบรรเทาแรงกดดันค่าเงินรูปี ภายหลังการอ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบ 18 ปี

Highlight:

1. ผลการประชุม BOI เห็นชอบโครงการส่งเสริมการผลิตรถ Eco Car รุ่นที่ 2
  • นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในการส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงาน (Eco Car) รุ่นที่ 2 โดยมีกำหนดระยะเวลาในการยื่นขอรับการส่งเสริมภายในวันที่ 31 มี.ค. 57 ซึ่งต้องมีเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 6.5 พันล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) และมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 1 แสนคันต่อปี นับตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป โดยผู้ผลิตจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 6 ปี รวมถึงได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าในกรณีนำเข้าเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตอีกด้วย ทั้งนี้ การอนุมัติโครงการทั้งรุ่นที่1 และ 2 คิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 1.8 แสนล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า กิจกรรมภาคการผลิตในหมวดยานยนต์และส่วนประกอบนับว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย สะท้อนจากการส่งออกสินค้ายานยนต์ของไทยซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 12.5 ของมูลค่าการส่งออกรวม (สัดส่วนปี 55) สำหรับการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ในส่วนของรถยนต์ประหยัดพลังงานนั้น ถือว่าเป็นส่วนแรกเริ่มที่สำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ โดยการลงทุนโครงการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังส่งผลดีเชื่อมโยงไปสู่ภาคการจ้างงาน เพิ่มการผลิตในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และตอบรับต่อภาคการส่งออกจากอุปสงค์รถยนต์ในตลาดต่างประเทศที่ยังคงขยายตัวได้ในระดับดี นอกจากนี้ การส่งเสริมรถยนต์ประหยัดพลังงานยังช่วยลดภาระการนำเข้าสินค้าหมวดเชื้อเพลิงและพลังงานลงได้ในระยะปานกลางถึงระยะยาว โดยปัจจุบันไทยนำเข้าสินค้าดังกล่าวในสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 19.3 ของมูลค่าส่งออกรวม (สัดส่วนปี 55)
2. GDP ฟิลิปปินส์ ไตรมาสที่2 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 7.5
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์รายงาน GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.4 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ขยายตัวเฉลี่ยเกินกว่าร้อยละ 7.0 ต่อเนื่อง 4 ไตรมาสติดต่อกัน ส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคภาครัฐและการลงทุนรวมซึ่งเป็นกลจักรสำคัญช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ที่ยังคงขยายตัวได้ดี ท่ามกลางภาวะที่อุปสงค์โลกยังคงชะลอตัว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า GDP ฟิลิปปินส์ในไตรมาสที่ 2 ปี 56 ขยายร้อยละ 7.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อนถึงแม้จะ ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 7.8 ในไตรมาสก่อน แต่ยังนับว่าเป็นการขยายตัวในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ผลจากการเร่งการใช้จ่ายภาครัฐของรัฐบาลนายอาควิโนและการลงทุนรวมโดยเฉพาะการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นสำคัญ โดยการใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนในไตรมาส 2 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 17.0 และ 9.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ผนวกกับการบริโภคภาคเอกชนภายในประเทศซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 70.5 ของ GDP ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.2 จึงส่งผลให้เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ยังคงแข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคที่เริ่มประกาศลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น
  • อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในการยุติการดำเนินมาตรการ QE ของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลต่อความผันผวนของการเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันต่อการอ่อนค่าของเงินเปโซได้ เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค ซึ่งควรติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 56 ว่า เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 5.1 (ช่วงคาดการณ์ 4.6-5.6)
3. รัฐบาลอินเดียประกาศมาตรการบรรเทาแรงกดดันค่าเงินรูปี ภายหลังการอ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบ 18 ปี
  • ธนาคารกลางอินเดียประกาศมาตรการบรรเทาแรงกดดันต่อค่าเงินรูปี โดยจัดหาเงินดอลลาร์สหรัฐให้แก่บริษัทนำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ของอินเดียโดยตรง เพื่อลดอุปสงค์ต่อเงินดอลลาร์สหรัฐในตลาดเงินประมาณ 400-500 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน โดยภายหลังการประกาศมาตรการดังกล่าวค่าเงินรูปีปรับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มาตรการการจัดหาเงินดอลลาร์สหรัฐแก่ผู้นำเข้าน้ำมันที่ประกาศออกมานั้น อาจช่วยบรรเทาการอ่อนค่าลงของเงินรูปีลงได้บ้าง เนื่องจากอินเดียนำเข้าน้ำมันในสัดส่วนมากถึง ร้อยละ 31.7 ของการนำเข้าทั้งหมด (สัดส่วนปี 55) โดยมาตรการดังกล่าวส่งผลให้เงินรูปีเริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 66.85 รูปีต่อดอลลาร์สหรัฐในวันที่ 29 ส.ค. 56 เทียบกับระดับ 68.86 รูปีต่อดอลลาร์สหรัฐในวันก่อนหน้าซึ่งค่าเงินรูปีชั่วข้ามคืนอ่อนค่ารุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 38 อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวอาจส่งผลดีเพียงแค่ในระยะสั้นและเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หากรัฐบาลอินเดียไม่มีมาตรการเพื่อมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของอินเดียในระยะยาว โดยเฉพาะปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและการขาดดุลงบประมาณที่เรื้อรังอย่างยาวนาน อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนที่ลดลงได้ในระยะต่อไป ทั้งนี้ เศรษฐกิจของอินเดียในฐานะคู่ค้าลำดับที่ 13 ของไทย (สัดส่วนร้อยละ 2.4 ของมูลค่าการส่งออกรวม) เริ่มส่งสัญญาณกลับมาขยายตัวอีกครั้ง สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกไทยไปยังอินเดีย เดือน ก.ค. 56 ซึ่งกลับมาขยายตัวร้อยละ 10.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน บ่งชี้ถึงอุปสงค์จากอินเดียที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ