Macro Morning Focus ประจำวันที่ 2 กันยายน 2556
1. มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยชี้ขึ้น LPG, ค่าทางด่วน วันนี้กระทบเงินเฟ้อร้อยละ 0.2-0.3 มองศก.ฟื้น Q4
2. ธปท. ชี้เศรษฐกิจก.ค. 56 ชะลอแต่มีสัญญาณดีขึ้น
3. ความเชื่อมั่นยูโรโซนพุ่งสูงสุดในรอบ 2 ปีรับสัญญาณเศรษฐกิจฟื้น
Highlight:
- นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การที่รัฐบาลเตรียมปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG ในส่วนของภาคครัวเรือน เดือนละ 50 สตางค์ หรือปรับขึ้นเป็นร้อยละ 3 หลังจากมีการทยอยปรับขึ้นไปจนถึงราคาเพดาน เชื่อว่า จะมีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อน้อยมาก รวมไปถึงอัตราค่าทางด่วนที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น และเป็นการใช้แค่ในส่วนของคนที่มีการใช้ยานพาหนะเพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่กระทบต่อคนโดยรวม ซึ่งเชื่อว่าการปรับขึ้นดังกล่าวนั้น อาจมีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อเพียงร้อยละ 0.2 - 0.3 เท่านั้น พร้อมมองว่าอัตราเงินเฟ้อในขณะนี้ที่ชะลอตัวลง จะปรับเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ตามเศรษฐกิจที่ปรับตัวฟื้นขึ้น จึงไม่มีสัญญาณความน่ากังวลถึงอัตราเงินฝืด
- สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 56 อาจได้รับแรงกดดันให้เพิ่มขึ้นจาก 5 ปัจจัยด้วยกัน ได้แก่ 1) การปรับขึ้นค่าก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน เดือนละ 50 สตางค์ 2) การปรับขึ้นค่า FT งวด ก.ย.-ธ.ค. 56 ที่ 54 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจากงวดก่อนที่ 7.08 สตางค์ต่อหน่วย 3) การปรับขึ้นค่า ทางด่วนพิเศษ 5-10 บาท 4) แนวโน้มค่าเงินบาทอ่อนค่า และ 5) การปรับขึ้นของราคาน้ำมันดิบจากปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในอียิปต์ ซีเรีย และตะวันออกกลาง ซึ่งจะส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม (สัดส่วนร้อยละ 33.5 ของดัชนีรวม) หมวดไฟฟ้า เชื้อเพลิงน้ำประปา และแสงสว่าง (สัดส่วนร้อยละ 4.9) และหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร (สัดส่วนร้อยละ 25.5) ตลอดจนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 7 เดือนแรกของปี 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.6 โดย สศค. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อในปี 56 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 56)
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจเดือน ก.ค. 56 ยังชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ตามการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ลดลงจากการซื้อรถยนต์และสินค้าคงทนอื่น ขณะที่การส่งออกสินค้าลดลงจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ยังเปราะบางและข้อจำกัดด้านวัตถุดิบของไทย ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวตาม โดยการลงทุนหดตัว ร้อยละ - 5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่องจากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีน มาเลเซีย และรัสเซีย
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ค. 56 เริ่มมีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังคงชะลอลง โดยการส่งออกเริ่มกลับมาขยายตัว อีกครั้งเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.8 (% MoM_Sa) จากสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ที่เริ่มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปที่เริ่มขยายตัวดีขึ้น ขณะที่ปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบกลับมาขยายตัวในอัตราเร่ง บ่งชี้แนวโน้มการปรับตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 56 นอกจากนี้ ข้อมูลเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยทั้งภายในและภายนอกประเทศล่าสุดเดือน ก.ค. 56 ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง จากอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 2.0 ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 172.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสามารถรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ดี สามารถรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ดี
- จากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Economic Sentiment Indicator) ในเดือน ส.ค. 56 อยู่ที่ระดับ -15.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ -17.4 ในเดือนก่อนหน้า(ค่าดัชนีน้อยกว่า 0 แสดงถึงมุมมองทางลบ) แม้จะเป็นสัญญาณเชิงลบ แต่ก็ถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกันมาอยู่ในระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี ด้านความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Business Climate Indicator) ที่สำรวจจากกว่า 23,000 บริษัททั่วภูมิภาคก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันโดยในเดือน ส.ค. เป็นการปรับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันมาอยู่ที่ -0.21 ด้านดัชนี Stoxx Europe 600 ก็แสดงถึงความเชื่อมั่นจากนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ดัชนีปิดล่าสุดเมื่อ 30 ส.ค. อยู่ที่ระดับ 297.32 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.31 ตั้งแต่ต้นปี และปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจยูโรโซนส่งสัญญาณเชิงบวกออกมาอย่างต่อเนื่อง ตลาดเริ่มเชื่อมั่นว่าภูมิภาคนี้จะฟื้นตัว อย่างไรก็ดีสัญญาณเชิงบวกเพิ่งเริ่มแสดงออกมาให้เห็นเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้นในภาพใหญ่ เศรษฐกิจของยูโรโซนยังมีความเปราะบางจากการว่างงานที่ยังคงสูงที่ร้อยละ 12.1 ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ รวมไปถึงนโยบายลดรายจ่ายเพิ่มรายได้เพื่อบรรเทาภาระทางการคลังที่ยังคงเป็นอุปสรรคของการเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้การกลับมาสู่ระดับศักยภาพอาจจะเกิดขึ้นได้ยากภายใน 1-2 ปีนี้ สศค. ประเมินว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะหดตัวร้อยละ -0.5 ในปีนี้ และกลับมาเติบโตเป็นบวกที่ร้อยละ 0.8 ในปีหน้า
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257