รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 3 กันยายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 3, 2013 14:50 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 3 กันยายน 2556

Summary:

1. พาณิชย์เผยเงินเฟ้อทั่วไปส.ค.เพิ่มร้อยละ 1.59 ค่าแก๊ส ไฟฟ้า ทางด่วนมีผลร้อยละ 0.1

2. นักเศรษฐศาสตร์ ห่วงหนี้ครัวเรือนมากสุด

3. ธุรกิจอินเดียสะเทือนหลังรูปีดิ่ง

Highlight:

1. พาณิชย์เผยเงินเฟ้อทั่วไป ส.ค.เพิ่มร้อยละ 1.59 ค่าแก๊ส ไฟฟ้า ทางด่วนมีผลร้อยละ 0.1
  • ปลัดกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน ส.ค.56 อยู่ที่ 105.41 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.59 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงร้อยละ 0.01 จากเดือนก่อน ขณะที่เฉลี่ย 8 เดือนแรกของปี 56 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.47 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ส.ค.56 อยู่ที่ 103.14 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.75 จากช่วงเดียวกันของปี โดยดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเฉลี่ย 8 เดือนแรกของปี 56 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.13 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ส.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 ลดลงร้อยละ 0.01 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า จากการลดลงของดัชนีราคาในหมวดผักและผลไม้เป็นสำคัญ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย และเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวของผักผลไม้ อาทิ ผักชี ผักกาดหอม ผักคะน้า กะหล่ำปลี ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น ประกอบกับเครื่องประกอบอาหาร อาทิ น้ำมันพืช กะทิสำเร็จรูป ลดลงเช่นเดียวกัน ขณะที่ราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศบางชนิดลดลงตามภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลก ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 8 เดือนแรกของปี 56 ขยายตัวร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อในปี 56 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 56)
2. นักเศรษฐศาสตร์ ห่วงหนี้ครัวเรือนมากสุด
  • ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพเปิดเผยว่า ผลการสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์เรื่อง "จีดีพีกับหนี้สาธารณะ" พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ร้อยละ 65.5 เห็นว่าในช่วงปี 57 - ปี 63 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลมีแผนจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้นเศรษฐกิจไทยมีโอกาสกว่าร้อยละ 50 ที่จะขยายตัวเฉลี่ยน้อยกว่าร้อยละ 5.63 ต่อปี (จีดีพี ณ ราคาประจำปี) อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า "ระหว่างหนี้สาธารณะ หนี้ภาคเอกชนและหนี้ครัวเรือนหนี้อะไรน่าเป็นห่วงที่สุด" ร้อยละ 63.9 บอกว่า หนี้ครัวเรือนน่าห่วงที่สุด รองลงมาร้อยละ 31.1 หนี้สาธารณะน่าห่วงที่สุด ขณะที่หนี้ภาคเอกชนไม่มีนักเศรษฐศาสตร์คนใดที่เห็นว่าน่าห่วง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หนี้ครัวเรือนตามนิยามของธนาคารแห่งประเทศไทยล่าสุดในไตรมาสที่ 1 ของปี 56 อยู่ที่ร้อยละ 77.5 ต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากปี 55 อยู่ที่ร้อยละ 77.1 ต่อ GDP ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจาก 2 ปัจจัย คือ การขอสินเชื่อเพื่อซ่อมแซมบ้านของครัวเรือนภายหลังวิกฤติน้ำท่วมในช่วงปลายปี 54 และนโยบายรถคันแรกของรัฐบาล อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาข้อมูลสินเชื่ออุปโภคบริโภคในไตรมาส 2 ปี 56 พบว่า การขยายตัวของสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ 18.2 และเมื่อไม่นับรวมสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ พบว่าสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวเพียงร้อยละ 15.4 ทั้งนี้ สศค. ประเมินว่าระดับหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันยังไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากการการเติบโตของสินเชื่ออุปโภคบริโภคในช่วงที่ผ่านมามาจากนโยบายรถคันแรกของรัฐบาลในปีก่อนเป็นหลัก และนโยบายดังกล่าวได้สิ้นสุดลงแล้ว นอกจากนี้ ภาคครัวเรือนยังมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ดี สะท้อนจากยอดค้างสินเชื่อเกิน 3 เดือนขึ้นไปต่อสินเชื่อบัตรเครดิตในไตรมาส 2 ปี 56 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 2.3 ของสินเชื่อบัตรเครดิต
3. ธุรกิจอินเดียสะเทือนหลังรูปีดิ่ง
  • รองประธานกิจการฝ่ายธุรกิจและกลยุทธ์แห่งบริษัทเวิร์ลพูลอินเดีย ซึ่งเป็นสาขาของเวิร์ลพูลผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านรายใหญ่ที่สุดในโลก ระบุกำลังวางแผนล่วงหน้ากัน 1 เดือนหรืออย่างมากสุดก็ 3 เดือน แตกต่างจากปีก่อนที่วางแผนกัน 6 เดือน ขณะที่นายเอช.เอส บาเทีย หัวหน้าฝ่ายธุรกิจของบริษัทวิดีโอคอน อินดัสตรีส์ ผู้ผลิตโทรทัศน์ ระบุว่าเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ออฟฟิศยังคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนเงินรูปีที่ 62 รูปีต่ดอลลาร์ แต่เมื่อวันศุกร์ (30 ส.ค.) เงินรูปีร่วงลงไปที่ระดับ 66 รูปี การสำรวจของหอการค้าและอุตสาหกรรมเมื่อเดือน มิ.ย. พบว่ารายจ่ายรายเดือนสำหรับชนชั้นกลางพุ่งขึ้น 15-20% ต่อเดือนตามเมืองใหญ่ๆ หลังจากการทรุดตัวของเงินรูปีดันให้ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและน้ำมันที่รับประทานได้ปรับตัวสูงขึ้น โดยบริษัท อินเดีย ออยล์ คอร์ปอเรชัน ซึ่งเป็นผู้กลั่นน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ได้ขึ้นราคาน้ำมันอีกกว่าร้อยละ 3.5 โดยอ้างเรื่องเงินรูปีอ่อนค่า ทั้งนี้ ค่าเงินรูปีปรับสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 68.85 ซึ่งเป็นการร่วงหนักสุดภายใน 1 วันในรอบ 18 ปีของอินเดีย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การทรุดตัวของค่าเงินรูปีก่อให้เกิดความวิตกซึ่งมีผลกระทบต่อเนื่องต่อธุรกิจต่างๆ และราคาของสินค้านำเข้าหลัก เช่น น้ำมัน และ ทองคำ โดยมาตรการอัดฉีดเงินของธนาคารกลางอินเดียให้รัฐวิสาหกิจน้ำมันเพื่อพยุงค่าเงินเนื่องจากบริษัทของรัฐถือเป็นแหล่งที่มีความต้องการเงินดอลลาร์ในตลาดที่มากที่สุด ซึ่งทำการเปิดให้บริษัทเหล่านี้ซื้อเงินดอลลาร์ได้โดยตรง มีเป้าหมายที่จะลดแรงกดดันต่อค่าเงินรูปีซึ่งร่วงหนักถึงร้อยละ 3.7 นอกจากนี้ อีกมาตรการหนึ่งที่มีการหารือกันคือ การปิดสถานีบริการเชื้อเพลิงในตอนกลางคืนเพื่อประหยัดการใช้น้ำมัน ซึ่งจะประกาศมาตรการประหยัดอีกครั้งในวันที่ 16 กันยายนนี้ ทั้งนี้ อินเดียนำเข้าน้ำมันถึงร้อยละ 80 ของความต้องการใช้ในประเทศ โดยกระทรวงปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติต้องการลดการใช้เชื้อเพลิงลงให้ได้ร้อยละ 3 เนื่องจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ 2,430 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 75,330 ล้านบาท) อย่างไรก็ดี ในทางทฤษฎี เงินรูปีที่อ่อนค่าลงจะทำให้สินค้านำเข้าแพงขึ้น และสินค้าส่งออกของอินเดียถูกลงในสายตาของต่างชาติ ซึ่งจะช่วยลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงถึง 4.8% ของจีดีพีอินเดีย โดย สศค. เห็นว่า การสร้างความเชื่อมั่นแก่ตลาดโดยเน้นแนวทางการแก้ปัญหาการขาดดุลการคลังและดุลบัญชีเดินสะพัด รวมถึงเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จะช่วยลดความวิตกกังวลและทำให้เกิดการฟื้นตัวในลำดับถัดไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ