Macro Morning Focus ประจำวันที่ 4 กันยายน 2556
1. ครม.อนุมัติมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยาง โดยจัดสรรจากงบกลางรายการฉุกเฉินฯ จำนวน 5.6 พันล้านบาท
2. ยอดขอส่งเสริมการลงทุน (FDI) ครึ่งปีแรกมูลค่า 278,600 ล้านบาท ญี่ปุ่นครองแชมป์
3. มาเลเซียนำเข้าแรงงานมีทักษะกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ
Highlight:
- คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 56 เห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เสนอ เพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรในระยะเร่งด่วน ที่ประชุมอนุมัติงบกลางกรณีฉุกเฉินวงเงิน 5,628 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าปัจจัยการผลิตเป็นเงินทุนโอนผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้แก่เกษตรกรโดยตรง สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกยางที่มีพื้นที่สวนยางตั้งแต่ 10 ไร่ลงมา จะได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต1,260 บาทต่อไร่ คาดว่าจะมีจำนวนเกษตรกรที่ทำการเปิดกรีดยางแล้ว 9.8 แสนราย หรือร้อยละ 80 จากเกษตรกร ที่ขึ้นทะเบียนจำนวน 9.9 แสนราย อย่างไรก็ตาม มติที่ประชุม ครม.จะต้องเสนอให้ กนย.รับทราบในวันที่ 5 ก.ย. 56 พิจารณาก่อน ส่วนผู้ที่มีพื้นที่เพาะปลูก 25 ไร่นั้น จะพิจารณาอีกครั้งและไม่ซ้ำซ้อนกับที่ ครม.พิจารณาเห็นชอบแล้ว
- สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 56 ประเทศไทยมีเนื้อที่กรีดยางได้ 15.1 ล้านไร่ โดยอยู่ในภาคใต้ 10.1 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 67.0 ของเนื้อที่กรีดยางทั้งประเทศ รองลงมา ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเนื้อที่กรีดยางประมาณ 2.7 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 17.8 ของเนื้อที่กรีดยางทั้งประเทศ และภาคกลางมีเนื้อที่กรีดยางประมาณ 1.8 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 11.6 ของเนื้อที่กรีดยางทั้งประเทศ ดังนั้น จากมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางดังกล่าวอาจจะช่วยลดต้นทุนในการผลิตในระยะสั้น นอกจากนี้ ในการการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรผู้ผลิตยางในระยะยาว รัฐบาลได้ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) สนับสนุนสินเชื่อกับเกษตรกรนำไปลงทุนแปรรูปยางแผ่นดิบเป็นผลิตภัณฑ์ยางให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการโรงงานผลิตภัณฑ์ยางขนาดใหญ่เพื่อปรับปรุงเครื่องจักรอุตสาหกรรม จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ และจะเป็นการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรผู้ผลิตยางในระยะยาว
- คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 56 รับทราบรายงานภาวะการส่งเสริมการลงทุนครึ่งแรกของปี 56 ซึ่งพบว่ามีมูลค่า 278,600 ล้านบาท โดยหมวดกิจการบริการและสาธารณูปโภค ได้รับความสนใจขอรับส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด รองลงมา คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง ตามลำดับ ซึ่งแยกเป็นโครงการที่คนไทยและต่างชาติถือหุ้นทั้งสิ้นมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือ ร้อยละ 37 และโครงการร่วมลงทุนสัดส่วนร้อยละ 26 ของจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมทั้งหมด โดยญี่ปุ่นยังคงเป็นประเทศที่ลงทุนมากที่สุดทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าการลงทุน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 54 และร้อยละ 66 ของการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากสถิติการยื่นขอส่งเสริมของโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในช่วง 7 เดือนแรกของปี 56 พบว่ามีจำนวนโครงการจากต่างชาติที่ได้รับการอนุมัติจำนวน 1,271 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 61.6 มีมูลค่าเงินลงทุน 490,152 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 56.3 ของปริมาณเงินลงทุนทั้งสิ้นที่ได้รับการอนุมัติ ทั้งนี้โครงการที่ขอรับการส่งเสริมส่วนใหญ่อยู่ในกิจการผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง คิดเป็นร้อยละ 32.9 และ 53.5 ตามลำดับ ซึ่งนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นมีปริมาณเงินลงทุนในการยื่นขอรับการส่งเสริมสูงที่สุดจำนวน 443 โครงการ รองลงมาคือ มาเลเซียและจีน ตามลำดับ ทั้งนี้ การขอส่งเสริมที่ได้รับการอนุมัติในช่วง 7 เดือนก่อให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศ แยกเป็นแรงงานไทย 115,707 คนและต่างชาติ 2,339 คน
- กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจมาเลเซียว่า เนื่องจากหลายทศวรรษที่ผ่านมาถึงแม้ทั้งภาคอุตสาหกรรมและการเกษตรของมาเลเซีย ต่างได้รับประโยชน์จากการนำเข้าแรงงานราคาถูก ที่ช่วยรักษาต้นทุนการผลิตไว้ในระดับต่ำ และทำให้มาเลเซียมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นในตลาดโลก แต่การเข้าถึงแรงงานถูกดังกล่าว ทำให้บริษัทต่างๆไม่มีแรงจูงใจที่จะปรับปรุงการดำเนินงานของตัวเองให้ทันสมัย ซึ่งไม่สอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลผลักดัน เพื่อยกระดับรายได้ต่อหัวประชากร และมาตรฐานการครองชีพ ดังนั้น รัฐบาลมาเลเซียดำเนินการจับกุมและเนรเทศแรงงานต่างชาติหลายแสนราย เพื่อเปิดทางให้มาเลเซียนำเข้าแรงงานมีทักษะ เพื่อช่วยอุดหนุนการผลิตในเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว อันเป็นการเคลื่อนไหวที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะบรรลุเป้าหมายที่จะลดช่องว่างความร่ำรวย ระหว่างประเทศของตัวเอง กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่มีฐานะดีกว่า อย่างสิงคโปร์และเกาหลีใต้ ภายในปี 2563
- สศค. วิเคราะห์ว่า มาเลเซียมียุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตาม Economic Transformation Program ที่จะมุ่งพัฒนาสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี ค.ศ. 2020 (รายได้ประชากรต่อหัว 15,000 ดอลลาสหรัฐต่อปี) ซึ่ง1 ใน เป้าหมายที่มาเลเซียให้ความสำคัญคือ การเพิ่มผลิตภาพของแรงงานและการพัฒนาฝีมือบุคลากร ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวของรัฐบาลมาเลเซียในการจัดการแรงงานราคาถูก และนำเข้าแรงงานมีทักษะ จะช่วยทำให้มาเลเซียมีแรงงานที่มีคุณภาพมากขึ้น อันจะส่งผลทำให้ผลิตภาพแรงงาน (productivity) มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของมาเลเซีย สอดคล้องกับในปี 58 ที่จะมีการเปิดเสรีทางการค้าอาเซียน (AEC) โดยการเปิดตลาดแรงงานเสรีในกลุ่มอาเซียนเป็นหนึ่งในข้อตกลง และถือเป็นโอกาสที่ดีของแรงงานไทยที่จะเคลื่อนย้ายไปทำงานยังมาเลเซีย ทั้งนี้ ข้อมูลอัตราการว่างงานล่าสุดของมาเลเซียยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี ขณะที่ เศรษฐกิจล่าสุดในไตรมาสที่ 2 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 4.3 ต่อปี หรือขยายตัวร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (%qoq_sa) แต่ต่ำกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 4.7 ต่อปี ส่วนหนึ่งเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวส่งผลกระทบต่อการส่งออกของมาเลยเซียซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าค่อนข้างสูงอยู่ที่ประมาณร้อยละ 94 ของ GDP ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ มิ.ย. 56 ว่า เศรษฐกิจมาเลเซียในปี 56 จะขยายตัวที่ร้อยละ 4.7 ต่อปี
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257