รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 5 กันยายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 5, 2013 11:44 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 5 กันยายน 2556

Summary:

1. ธปท. ตั้งรับ FED ลด QE และเตรียนปรับเป้า GDP เศรษฐกิจไทย

2. รมว. พาณิชย์เชื่อครึ่งปีหลังส่งออกฟื้นตัวช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ

3. OECD ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯและจีน

Highlight:

1. ธปท. ตั้งรับ FED ลด QE และเตรียนปรับเป้า GDP เศรษฐกิจไทย
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้เตรียมแผนรองรับกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) อาจปรับลดขนาดของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. 56 และได้เตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ให้แข็งแกร่งเพื่อรับมือกับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น เช่น ระบบสถาบันการเงิน วินัยการคลัง รวมถึงหนี้ภาคเอกชนและครัวเรือนต้องไม่อยู่ระดับที่สูงจนถูกนำมาใช้เป็นจุดอ่อน เนื่องจากเรื่องเหล่านี้มีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน นอกจากนี้ ธปท. จะทบทวนประมาณการเศรษฐกิจใหม่จากปัจจุบันที่ประเมินไว้ร้อยละ 4.2 ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 16 ต.ค. 56
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงที่ผ่านมาตลาดเงินและตลาดทุนของไทยเกิดความผันผวนอย่างมากจากผลของความไม่แน่นอนของขนาดการลด QE ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทย (SET) ที่ปรับตัวลดลง โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ดัชนีฯ ปรับตัวลดลงถึงร้อยละ -15.6 และมูลค่าการซื้อขายสุทธิสะสมของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 56 อยู่ที่ -116.0 พันล้านบาท นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 56 ยังมีสัญญาณขยายตัวชะลอลงจากการชะลอตัวเศรษฐกิจโลกและการแข็งค่าของเงินบาทที่ส่งผลให้ภาคการส่งออกของไทยหดตัว แม้ว่าการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดี สำหรับเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 56 จะมีปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ได้แก่ เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก ปัจจัยพื้นฐานด้านการลงทุนที่อยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำและเอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ ภาคการท่องเที่ยวที่สามารถขยายตัวในระดับสูงและส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งมาตรการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพของภาครัฐ นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งจากสถาบันการเงินที่มีความเข้มแข็ง การรักษาวินัยการคลังของรัฐบาล รวมทั้งระดับหนี้ภาคเอกชนและครัวเรือนที่ไม่อยู่ในระดับที่สูงเกินไป ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 4.5 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.0-5.0) (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 56) และจะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยอีกครั้งในเดือน ก.ย. 56
2. รมว. พาณิชย์เชื่อครึ่งปีหลังส่งออกฟื้นตัวช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ
  • รมว. พาณิชย์ เชื่อว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2/56 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/56 ถือว่าเป็นไปตามฤดูกาลปกติ แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนก็ยังเติบโตได้ และเชื่อว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เศรษฐกิจจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องตาม การฟื้นตัวของการส่งออกทั้งสินค้าในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม โดยรัฐบาลจะเร่งผลักดันการส่งออกให้เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ นายนิวัฒน์ธำรง ยังมั่นใจในภาพรวมของเศรษฐกิจในปีนี้ที่จะเติบโตขึ้นแน่นอน และจะดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกในเดือน ก.ค. 56 มีมูลค่าอยู่ที่ 19,064.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวที่ร้อยละ -1.5 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลออกแล้ว พบว่าขยายตัวที่ร้อยละ 0.8 แสดงให้เห็นถึงการกลับมาขยายตัวอีกครั้งของมูลค่าการส่งออก เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการเพิ่มขึ้นของสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าเชื้อเพลิง ที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 1.13 และ 1 .ตามลำดับ 3 ประกอบกับตลาดอาเซียนสามารถขยายตัวที่ร้อยละ 8.6 ซึ่งสัดส่วนมูลค่าส่งออกสูงถึงร้อยละ 24.7 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ประกอบกับความผันผวนของค่าเงินบาทก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกหดตัว นอกจากนี้ มูลค่าส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกก็ยังคงขยายตัวที่ร้อยละ 0.6
3. OECD ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯและจีน
  • องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) เปิดเผยว่า ปัจจัยเสี่ยงหลักในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ คือ การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะลดนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ซึ่งเป็นความวิตกกังวลที่ทำให้ประเทศเกิดใหม่เกิดความผันผวนอยู่ในขณะนี้ ดังนั้นจึงแนะนำให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบผ่อนคลายต่อไปอีกระยะหนึ่ง ทั้งนี้คาดว่าในปี 56 เศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะขยายตัว ร้อยละ 1.7 ต่อปี ปรับลดจากการคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.9 เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวร้อยละ 7.4 ลดลงจากเดิมที่เคยคาดการณ์ว่าจะโตร้อยละ 7.8 ต่อปี โดยมองว่าเศรษฐกิจจีนได้ผ่านพ้นช่วงต่ำที่สุดไปแล้ว และเริ่มที่จะฟื้นตัวต่อไปในช่วงครึ่งหลังปี 56 ถึงแม้ว่าการขยายตัวอาจจะอยู่ในระดับไม่สูงนัก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตในอัตราสูงขึ้น โดยล่าสุด GDP ในไตรมาสที่ 2 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.3 สูงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 1.1 ซึ่งการขยายตัวดีขึ้นดังกล่าวอาจเป็นปัจจัยทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ ฯ (FED) ชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วขึ้น สำหรับเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตในอัตราชะลอลง โดยล่าสุด GDP ในไตรมาสที่ 2 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.7 เนื่องจากรายได้ครัวเรือนโดยเฉลี่ยของประชาชนในเมืองใหญ่ของจีนช่วง 6 เดือนแรกเพิ่มขึ้นในอัตราเพียงร้อยละ 6.5 ซึ่งเป็นอัตราเพิ่มที่ต่ำลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 9.7 ของช่วงเดียวกันในปี 55 ทั้งยังเป็นอัตราเพิ่มที่น้อยกว่าตัวเลขการเติบโตของ GDP โดยรวม ปัจจัยดังกล่าวมีส่วนทำให้การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคมีสัดส่วนใน GDP น้อยลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม คาดว่าในทางการจีนจะต้องมีมาตรการเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 56 ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและจีนในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 2.0 และ 7.9 ตามลำดับ ทั้งนี้จะมีการปรับการคาดการณ์อีกครั้งในวันที่ 26 ก.ย. 56

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ