ร่างกรอบการเจรจาความตกลงเพื่อความร่วมมือด้านภาษีอากรระหว่างประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 9, 2013 10:09 —กระทรวงการคลัง

ร่างกรอบการเจรจาความตกลงเพื่อความร่วมมือด้านภาษีอากรระหว่างประเทศ และการปฏิบัติตาม Foreign Account Tax

Compliance Act ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 เห็นชอบร่างกรอบการเจรจาความตกลงเพื่อความร่วมมือด้านภาษีอากรระหว่างประเทศและการปฏิบัติตาม Foreign Account Tax Compliance Act ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (ความตกลง FATCA)

เนื่องจากรัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการตรากฎหมาย Foreign Account Tax Compliance Act (กฎหมาย FATCA) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการตรวจสอบและป้องกันการเลี่ยงภาษีของผู้มีรายได้สัญชาติอเมริกันที่มีแหล่งเงินได้ในต่างประเทศ โดยกฎหมาย FATCA ได้กำหนดให้สถาบันการเงินในประเทศต่าง ๆ (Foreign Financial Institutions: FFIs) จัดทำข้อมูลทางบัญชีและการทำธุรกรรม ทางการเงินและการลงทุนของผู้มีสัญชาติอเมริกันในสถาบันการเงินนั้นๆ ส่งให้กรมสรรพากรของสหรัฐฯ (Internal Revenue Service: IRS) ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ได้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านภาษีกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงได้จัดทำ รูปแบบความตกลงระหว่างรัฐบาลขึ้น โดยปัจจุบันมีประเทศที่เข้าร่วมทำความตกลง FATCA กับประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว 9 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น สวิสเซอร์แลนด์ สเปน นอร์เวย์ เม็กซิโก ไอร์แลนด์ เยอรมัน เดนมาร์ก และมีอีกกว่า 80 ประเทศทั่วโลกที่อยู่ระหว่าง การเจรจาเพื่อทำความตกลงและแสดงเจตจำนงในการเข้าร่วมทำความตกลงกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งในเอเชียมีประเทศญี่ปุ่นที่ลงนามในความตกลงแล้ว และมีประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย จีน ไต้หวัน และเกาหลีใต้ที่อยู่ในระหว่างการเจรจากับสหรัฐอเมริกา

ความคืบหน้าของต่างประเทศในการทำความตกลง FATCA กับประเทศสหรัฐอเมริกา

สถานะในการทำความตกลง                                           รายชื่อประเทศ
1. ประเทศซึ่งเข้าทำความตกลงสองฝ่ายแล้ว                              สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก เม็กซิโก ญี่ปุ่น เยอรมนี สเปน

สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอร์แลนด์ 2. ประเทศซึ่งอยู่ในกระบวนการเจรจาเพื่อทำความตกลง FATCA กับสหรัฐฯ ฝรั่งเศส อิตาลี แคนาดา ฟินแลนด์ เกิร์นซีย์ เจอร์ซีย์

เนเธอร์แลนด์ เกาะไอเซิลออฟแมน อาร์เจนตินา

ออสเตรเลีย เบลเยียม หมู่เกาะเคย์แมน ไซปรัส

เอสโตเนีย ฮังการี อิสราเอล เกาหลีใต้ ลิกเตนสไตน์

มาเลเซีย มอลตา นิวซีแลนด์ สาธารณรัฐสโลวัก สิงคโปร์

สวีเดน

3. ประเทศซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อดำเนินการตาม FATCA                 เบอร์มิวดา บราซิล หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ชิลี

สาธารณรัฐเช็ก ยิบรอลตาร์ อินเดีย เลบานอน ลักเซมเบิร์ก

โรมาเนีย เซเชลส์เกาะเซนต์มาร์ติน สโลวาเนีย แอฟริกาใต้

โดยที่กฎหมาย FATCA มีผลบังคับใช้ครอบคลุมถึงสถาบันการเงินประเภทต่าง ๆ ในระบบการเงินของไทย ซึ่งรวมถึง ภาคการธนาคาร ภาคการลงทุน และภาคการประกันภัย หากประเทศไทยไม่เข้าทำความตกลง FATCA กับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ระบบการเงินและการลงทุนไทยจะ ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยสถาบันการเงินที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยจะต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายของสหรัฐอเมริกาซึ่งจะมีความยุ่งยากใน การดำเนินการ และการเปิดเผยข้อมูลบัญชีของลูกค้า ตลอดจนการส่งข้อมูลดังกล่าวออกนอกประเทศ เป็นการดำเนินการที่สถาบันการเงินไม่ สามารถกระทำได้เนื่องจากขัดกับข้อกำหนดของกฎหมายประเทศไทย นอกจากนี้ กฎหมาย FATCA มีบทลงโทษต่อสถาบันการเงินที่ไม่สามารถ ส่งข้อมูลให้ U.S. IRS ได้ โดยสถาบันการเงินดังกล่าวจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นอัตราร้อยละ 30 ของเงินได้ที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศที่ได้ทำความตกลง FATCA กับประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสถาบันการเงินไทย และส่งผลกระทบต่อการทำธุรกรรมทางการเงินและการลงทุนระหว่างประเทศของไทยในภาพรวม

การทำความตกลง FATCA ไม่เพียงเป็นการป้องกันมิให้สถาบันการเงินไทยถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 30 ของเงินได้ที่เกิดขึ้น ในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศที่ได้ทำความตกลง FATCA กับประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังทำให้ประเทศไทยได้รับทราบข้อมูลด้านภาษี ของคนสัญชาติไทยที่มีแหล่งเงินได้อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาระบบการจัดเก็บภาษีต่อไปอีกด้วย ทั้งนี้ ความตกลง FATCA เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 190 วรรคสามของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ต้องเสนอต่อรัฐสภา เพื่อขอความเห็นชอบ กระทรวงการคลังจึงได้ดำเนินการเสนอร่างกรอบความตกลงดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี และจะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น ของประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ก่อนที่จะเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาต่อไป

สำนักนโยบายระบบการเงินและสถาบันการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร 02 273 9020 ต่อ 3226, 3289

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 92/2556 9 กันยายน 2556--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ