รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 9 กันยายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 9, 2013 11:28 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 9 กันยายน 2556

Summary:

1. คลังเล็งลดภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย

2. ธปท. เผยทุนสำรองประเทศลดลง 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

3. ญี่ปุ่นปรับตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ขยายตัวแรงตามคาด

Highlight:

1. คลังเล็งลดภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย
  • นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวด้วยการจัดทำโครงการช็อปปิ้งพาราไดซ์เพื่อมุ่งหวังจะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการช็อปปิ้งและเพิ่มปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะเดินทางเข้ามาในไทยให้มากขึ้นนั้น กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยในบางรายการเพื่อให้อยู่ในระดับอัตราภาษีที่ม สามารถแข่งขันกับประเทศที่จัดเป็นแหล่งช็อปปิ้งยอดนิยม เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ เบื้องต้นกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะปรับลดภาษีนำเข้าลง เช่น น้ำหอม เครื่องสำอาง นาฬิกา ซึ่งปัจจุบันสินค้าดังกล่าวต้องเสียภาษีนำเข้าสูงถึงร้อยละ 30 ขณะที่ฮ่องกง สิงคโปร์ 0% ทั้งนี้ คาดว่าจะมีข้อสรุปประเภทสินค้าฟุ่มเฟือยและอัตราภาษีที่จะปรับลดลงได้ใน 1-2 เดือนนี้ ก่อนนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมครม.เพื่อให้สามารถประกาศใช้ได้ทันช่วงปลายปีนี้ ซึ่งเป็นฤดูท่องเที่ยว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า นโยบายการลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยจะส่งผลบวกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2556 ผ่านช่องทางการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เดินเข้าในประเทศไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 56 มีจำนวนทั้งสิ้น 15.0 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 15.0 โดย 3 อันดับแรกสูงสุดมาจากประเทศจีน รัสเซีย ญี่ปุ่น และส่งผลให้รายได้นักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ 6.8 แสนล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 24.0 คำนวณจากค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อครั้งที่ 45,439.7 บาท
2. ธปท. เผยทุนสำรองประเทศลดลง 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานฐานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 30 ส.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 1.688 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลง 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนหนึ่งคาดว่ามาจาก ธปท. ทยอยปล่อยสภาพคล่องเงินเหรียญสหรัฐเพื่อแทรกแซงความผันผวน และดูแลไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าเร็วเกินไปจนกระทบภาคธุรกิจ รวมถึงทยอยปล่อยเงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองออกมาเพื่อลดภาระการถือครองเงินตราต่างประเทศที่เคยถือไว้ในช่วงเงินบาทแข็ง เป็นการทยอยปรับฐานะทางบัญชี และลดภาระขาดทุนไปในตัว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยปรับลดลง เพื่อดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพไม่ให้อ่อนค่าเร็วจนเกินไป และจะส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้นำเข้าและผู้ส่งออก โดยล่าสุด ณ วันที่ 6 ก.ย. 56 ค่าเงินบาทอยู่ที่ 32.35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากวันที่ 5 ก.ย. 56 ที่ร้อยละ 0.15 อย่างไรก็ดี เงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง บ่งชี้ว่าเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกของไทย ยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง และสามารถรองรับความผันผวนทางปัจจัยภายนอกประเทศได้เป็นอย่างดี สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายนอกอื่นๆ เช่น ทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นอยู่ที่ 2.6 เท่า และทุนสำรองระหว่างประเทศต่อมูลค่านำเข้าเฉลี่ยรายเดือนอยู่ที่ 9.2 เดือน ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 56
3. ญี่ปุ่นปรับตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ขยายตัวแรงตามคาด
  • ทางการญี่ปุ่นประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ปี 56 ขยายตัวแบบ annualized ที่ร้อยละ 3.8 เป็นการปรับขึ้นอย่างมากจากการประกาศตัวเลขเบื้องต้นของไตรมาสเดียวกันที่ร้อยละ 2.6 และเมื่อพิจารณาเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวได้ร้อยละ 0.9 (ปรับเพิ่มขึ้นจากตัวเลขเบื้องต้นที่ร้อยละ 0.6) การปรับขึ้นของตัวเลขการขยายตัวในครั้งนี้เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ (ค่ากลางของ Reuterpoll อยู่ที่ร้อยละ 3.7 และค่ากลางของ Bloombergsurvey อยู่ที่ร้อยละ 3.9) เนื่องจากตลาดเชื่อว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะสามารถขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวแบบ annualized ที่ร้อยละ 4.1 จากแรงกระตุ้นของนโยบายสร้างเงินเฟ้อของรัฐบาลนายชินโสะ อาเบะ และธนาคารกลางญี่ปุ่น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การขยายตัวได้มากให้สัญญาณทั้งในทางบวกและลบไปพร้อมๆกัน โดยทางบวกคือการที่นโยบายสร้างเงินเฟ้อสามารถใช้งานได้จริง และเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีขนาดใหญ่ การขยายตัวย่อมมีผลดีต่อเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเอเชีย และไทยที่มีญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับสองด้วยมูลค่าการค้ากว่า 1.15 ล้านล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 13.6 ของมูลค่าการค้ารวม (ข้อมูล 7 เดือนแรกปี 56 จากกระทรวงพาณิชย์) แต่ในขณะเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นที่กำลังพิจารณาการขึ้นภาษีการขาย (Sales tax) อาจใช้จังหวะเวลาที่เศรษฐกิจมีแรงส่งในการตัดสินใจใช้นโยบายดังกล่าวตามกำหนดในปีหน้า เพื่อบรรเทาภาระทางการคลังที่มีขนาดใหญ่ถึงกว่า 2 เท่าของเศรษฐกิจ สศค. คาดว่านโยบายการคลังดังกล่าวจะเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ซึ่งเป็นกำลังหลักของเศรษฐกิจญี่ปุ่น และจะส่งผลต่อเนื่องให้ภาคธุรกิจวางแผนที่จะชะลอการจ้างงานในปีหน้า เพื่อรับมือกับอุปสงค์ที่จะได้รับผลกระทบหากมีการขึ้นภาษีจริง

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ