รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 10 กันยายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 10, 2013 11:48 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 10 กันยายน 2556

Summary:

1. CP คาด เศรษฐกิจปีนี้โตร้อยละ 3.8 - 4.0

2. สื่อนอกเผยตลาดรถไทยยังร้อนแรง คาดโตปีละ 10%

3. รายงานดัชนี Anxiety Index พบค่าครองชีพและการว่างงานเป็นสิ่งที่สร้างความกังวลแก่คนทั่วโลกมากที่สุด

Highlight:

1. CP คาด เศรษฐกิจปีนี้โตร้อยละ 3.8 - 4.0
  • นายสุนทร อรุณานนท์ชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจพัฒนาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP ประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะขยายตัวได้ร้อยละ 3.8 - 4.0 จากแรงขับเคลื่อนของอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท คาดว่า จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะยาว ซึ่งหากการลงทุนเป็นไปแบบตามแผนที่วางไว้ จะช่วยม กระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุดเดือน ก.ค.56 เริ่มมีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังคงชะลอลง โดยการส่งออกเริ่มกลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าจากสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ที่เริ่มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปที่เริ่มขยายตัวดีขึ้น ขณะที่ปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบกลับมาขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 3.0 จะบ่งชี้ถึงแนวโน้มของการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปแม้ว่าเครื่องชี้ด้านอุปทานจะยังส่งสัญญานชะลอตัวทั้งจากภาคอุตสาหกรมและเกษตรกรรม อย่างไรก็ดี ภาคบริการจากภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในส่วนของกระทรวงการคลังได้ออก 4 มาตรการเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ คือ มาตรการด้านภาษีทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน มาตรการด้านใช้จ่ายของภาครัฐ และมาตรการด้านการส่งออกที่เน้นการส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพ
2. สื่อนอกเผยตลาดรถไทยยังร้อนแรง คาดโตปีละ 10%
  • เอเอฟพี เปิดเผยรายงานอ้างนักวิเคราะห์ (ยูลิ ไกเซอร์ ประธานนักวิเคราะห์ด้านอุตสาหกรรมจากออโตโมทีฟโฟกัสกรุ๊ปไทยแลนด์) ว่าทิศทางตลาดรถยนต์ในไทยยังคงขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งในอนาคตอันใกล้ โดยคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี แม้ว่านโยบายรถคันแรกของรัฐบาลหมดลงไปแล้ว โดยมีปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของชนชั้นกลางและความต้องการในประเทศยังสูง โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการเปลี่ยนจากการขี่มอเตอร์ไซค์ไปเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มตลาดรถยนต์ของปี 56 คาดว่ายังคงสดใส แม้ว่ายอดการผลิต การจำหน่าย และการส่งออกรถยนต์ในเดือน ก.ค. 56 หดตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าและเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการส่งมอบรถยนต์ในโครงการรถยนต์คันแรกใกล้สิ้นสุดลง อย่างไรก็ดี หากพิจารณายอดจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศในช่วง 7 แรกของปี 56 อยู่ที่ 8.39 แสนคัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับยอดส่งออกรถยนต์สะสมอยู่ที่ 6.17 แสนคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 56 จะเพิ่มขึ้นจากปัจจัยการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศออสเตรเลีย โอเชียเนีย และอาเซียน โดยตลาดรถยนต์ในอาเซียนคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 5.8 ต่อปี
3. รายงานดัชนี Anxiety Index พบค่าครองชีพและการว่างงานเป็นสิ่งที่สร้างความกังวลแก่คนทั่วโลกมากที่สุด
  • เจดับบลิวที เผยรายงาน Anxiety Index พบว่าค่าครองชีพและการว่างงานเป็นสิ่งที่สร้างความกังวลแก่คนทั่วโลกมากที่สุด ปากีสถานเป็นประเทศที่มีความกังวลใจมากที่สุด โดยเกือบ 9 ใน 10 คน บอกว่ากังวลเรื่องค่าครองชีพมากที่สุด โดยการว่างงานยังเป็นเรื่องสำคัญอีกอย่างที่สร้างความกังวลใจไปทั่วโลกด้วย ความกังวลในยุโรปตะวันตกแตกต่างไปค่อนข้างมาก โดยความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจและค่าครองชีพจะมีอยู่สูงในฝรั่งเศสและสเปน ขณะที่ฟินแลนด์ เยอรมนี และสหราชอาณาจักรมีความกังวลน้อยกว่ามาก รัสเซียจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความกังวลมากที่สุดในโลกในเรื่องความปลอดภัยของอาหาร ความกังวลในญี่ปุ่นมีสูง 2 เรื่องด้วยกัน คือ เรื่องการขาดดุลงบประมาณ และภัยธรรมชาติ ส่วนชาวเกาหลีใต้มีความกังวลมากที่สุดเรื่องราคาน้ำมันและการว่างงาน อินโดนีเซียจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความกังวลมากที่สุดในโลกเกี่ยวกับเรื่องคอร์รัปชั่น ขณะที่อินเดียไม่เพียงแต่จะมีความกังวลต่อปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อพวกเขาโดยตรงอย่างราคาน้ำมันและการขาดดุลภาครัฐเท่านั้น แต่ยังมีความกังวลต่อเรื่องส่วนรวม เช่น ภาวะโลกร้อน มากกว่าที่อื่นๆ อีกด้วย สภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพคือปัจจัยสำคัญที่สุดที่สร้างความกังวลในอเมริกาเหนือ โดยชาวอเมริกันมีความกังวลกับสภาพเศรษฐกิจมากกว่าชาวแคนาดาและผู้คนในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยด้านเศรษฐกิจในส่วนของค่าครองชีพเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอย มีวิกฤตหนี้ และเงินเฟ้อสูง เช่น สหรัฐฯ สเปน รัสเซีย เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้จากค่าดัชนีความกังวลที่มีอยู่สูง และอาจเป็นไปได้ว่า ประเทศพัฒนาแล้วจะมีความกังวลในเรื่องค่าครองชีพมากกว่า และก็เป็นปรกติที่ประเทศเหล่านี้มีค่าครองชีพที่สูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ยกเว้นประเทศที่ประสบปัญหาการเมืองหรือจลาจลภายในที่ค่าครองชีพและการว่างงานเป็นเรื่องนอกเหนือการคาดการณ์ และย่อมมีความวิตกกังวลมากกว่าระดับปรกติ สำหรับไทยนั้น แม้จะมีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพอยู่เช่นกันหลังจากที่มีประกาศการขึ้นค่าทางด่วน ค่าไฟ และค่าน้ำมันเมื่อต้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา แต่โดยทั่วไปแล้วค่าครองชีพเฉลี่ยทั้งประเทศยังคงอยู่ในระดับที่ไม่สูง ดังจะเห็นได้จากเงินเฟ้อเฉลี่ยต้นปีถึงปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.7 (ณ สิ้นเดือน ก.ค.) เช่นกัน

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ