รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 12 กันยายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 12, 2013 11:42 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 12 กันยายน 2556

Summary:

1. แบงก์ หวั่นเลื่อนพิจารณางบปี 57 ฉุดภาพรวมเศรษฐกิจไทย คาด ปีนี้โต 4%

2. กระทรวงเกษตรฯ ประชุมแก้ไขปัญหาไข่แพง

3. ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของมาเลเซีย ณ เดือน ก.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 7.6

Highlight:

1. แบงก์ หวั่นเลื่อนพิจารณางบปี 57 ฉุดภาพรวมเศรษฐกิจไทย คาด ปีนี้โต 4%
  • กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK บอกถึงภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ว่า จะยังคงชะลอตัวลงต่อเนื่อง และหากมีการเลื่อนการพิจารณาเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2557 จะยิ่งส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตามเบื้องต้นยังคาดว่า เศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัวได้ 4%
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 56 คาดว่ามีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากมาตรการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพของรัฐบาล ที่มี 1) มาตรการด้านการบริโภคภาคเอกชน 2) มาตรการด้านการลงทุนภาคเอกชน 3) มาตรการด้านการใช้จ่ายภาครัฐ และ 4) มาตรการด้านการส่งออก ซึ่งจะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ในปีงบประมาณปี 57 รัฐให้ความสำคัญกับการเร่งรัดการพัฒนาประเทศและเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนควบคู่กับการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีวงเงินงบประมาณจำนวน 2.525 ล้านล้านบาท คิดสัดส่วนเป็นร้อยละ 19.1 ของ GDP อย่างไรก็ตาม หากงบประมาณปี 57 ล่าช้า จะไม่กระทบกับงบในส่วนของเงินเดือนบุคลากรข้าราชการ เพราะสามารถดำเนินการตามหลักการงบประมาณเดิมของปีก่อนได้ แต่จะกระทบเฉพาะในส่วนของงบลงทุนใหม่เท่านั้น
2. กระทรวงเกษตรฯ ประชุมแก้ไขปัญหาไข่แพง
  • รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้เตรียมเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ในวันที่ 17 ก.ย. 56 เพื่อหารือถึงสาเหตุและแนวทางแก้ไขราคาไข่ไก่ที่มีราคาแพง ทั้งนี้เบื้องต้น กรมปศุสัตว์ได้รายงานว่า ปริมาณไข่หายไปจากระบบประมาณ 1 -2 ล้านฟองมีสาเหตุจากสภาพอากาศและนโยบายปลดแม่ไก่ ในช่วงเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาราคาไข่ถูกเพราะผลผลิตล้นตลาดในช่วงต้นปี 56 ซึ่งคาดว่าอีก 2 สัปดาห์ ราคาไข่จะลดลงจากเทศกาลกินเจและโรงเรียนปิดเทอม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ไข่ไก่ที่มีราคาแพงนั้นมีสาเหตุสำคัญมาจากปริมาณผลผลิตไข่ไก่ที่ออกสู่ตลาดลดลงเหลือ 34 ล้านฟองต่อวัน ซึ่งน้อยกว่าปริมาณการบริโภคไข่ที่มี 36 ล้านฟองต่อวัน เป็นสำคัญ จึงได้ส่งผลทำให้ราคาไข่ไก่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ส.ค. 56 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเมื่อพิจารณาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่มีสัดส่วนน้ำหนักร้อยละ 33.5 ในตระกร้าเงินเฟ้อ พบว่า ขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไข่และผลิตภัณฑ์นมซึ่งอยู่ในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (สัดส่วนน้ำหนักร้อยละ 1.8 ในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์) ขยายตัวร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 56 ขยายตัวร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ กรมการค้าภายในได้มีมาตรการที่จะดูแลต้นทุนกับกำไรให้อยู่ระดับที่เหมาะสม โดยต้นทุนไข่ไก่หน้าฟาร์มอยู่ที่ฟองละ 2.88 บาท และราคาขายปลีกควรมีกำไรไม่เกินร้อยละ 15 แต่ปัจจุบันราคาไข่คละหน้าฟาร์มขายฟองละ 3.50 บาท ซึ่งเกินระดับกำไรที่ร้อยละ 15 ซึ่งกรมการค้าภายในจะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไข่ไก่และผลิตภัณฑ์ออกมาตรการดูแลให้ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มให้ต่ำกว่า 3.50 บาท หรือต่ำกว่านี้ ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 2.5 โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.0-3.0 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 56)
3. ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของมาเลเซีย ณ เดือน ก.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 7.6
  • สำนักงานสถิติ เปิดเผยตัวเลขดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของมาเลเซีย ณ เดือน ก.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 7.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีการเร่งการรผลิตในทุกภาคส่วน ซึ่งสูงกว่าความคาดหมายของตลาดที่เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 4.8
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของมาเลเซีย ณ เดือน ก.ค. 56 ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 7.6 ประกอบด้วยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมภาคเหมืองแร่ ภาคไฟฟ้า และภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวที่ร้อยละ 15.4 6.1 และ 5.4 ตามลำดับ ซึ่งตัวเลขล่าสุดสอดคล้องกับมูลค่าการส่งออก เดือน ก.ค. 56 กลับมาขยายตัวร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากหดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน ผลจากการส่งออกไปจีนของมาเลเซียกลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 17.5 ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 6.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 6.2 จากการนำเข้าเครื่องจักรที่กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 4.9 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจมาเลเซียจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.7 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 56)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ