รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 13 กันยายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 13, 2013 14:03 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 13 กันยายน 2556

Summary:

1. ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นร้อยละ 7.25 ต่อปี

2. รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมแผนปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 8.0 เริ่มมีผลบังคับใช้เดือน เม.ย. 57

3. บีโอไอเผย การขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนเดือน ส.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 53.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Highlight:

1. ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นร้อยละ 7.25 ต่อปี
  • เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 56 ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยปรับขึ้นจากร้อยละ 7.00 ต่อปี เป็นร้อยละ 7.25 ต่อปี เพื่อควบคุมการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อและปัญหาเงินทุนไหลออก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงที่ผ่านอัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าในหมวดอาหารและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นสำคัญ โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียในเดือน ส.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 8.8 อีกทั้ง อินโดนีเซียเริ่มประสบกับปัญหาเงินทุนไหลออกจากทั้งตลาดหลักทรัพย์ และตลาดตราสารหนี้ นับตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค.56 และทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน 2556 เป็นแรงกดดันให้เงินรูเปียห์อ่อนค่าลงอย่างมาก โดย ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2556 เงินรูเปียห์อ่อนค่ามากถึงร้อยละ 16.2 จากต้นปี 56 การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายถือเป็นหนึ่งในมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวทั้งสองประการ
  • นอกจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว รัฐบาลอินโดนีเซียยังได้ออกมาตรการกระตุ้นการส่งออกและเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและทำให้เกิดเงินทุนไหลออก ในส่วนของธนาคารกลางธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้าย เช่น การปรับเวลาการถือครองเงินฝากเงินตราสกุลต่างประเทศ (Foreign exchange deposits) ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น จาก 7 วัน 14 วัน และ 30 วัน เป็นตั้งแต่ 1 วันถึงสูงสุด 12 เดือน และการผ่อนคลายข้อจำกัดในการแลกเงินตราต่างประเทศสำหรับผู้ส่งออกที่ใช้สำหรับกระบวนการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ เป็นต้น
2. รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมแผนปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 8.0 เริ่มมีผลบังคับใช้เดือน เม.ย. 57
  • นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เตรียมดำเนินการแผนการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มของญี่ปุ่น (VAT) ในปีหน้า โดยการขึ้นภาษีดังกล่าวเป็นไปในลักษณะขั้นบันได โดยปรับจากร้อยละ 5.0 ในปัจจุบันเป็นร้อยละ 8.0 ในเดือนเมษายน 2557 และปรับเพิ่มอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2558 เป็นร้อยละ 10.0 เป็นสำคัญ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวในระยะเริ่มแรก โดย GDP ญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 2 ของปี 56 ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนประการหนึ่งต่อดำเนินการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มรัฐบาลญี่ปุ่น เนื่องจากฐานการเก็บภาษีจากสินค้าที่อุปโภคและบริโภคนั้นถือเป็นฐานที่กว้าง ซึ่งภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นนั้นเมื่อเฉลี่ยไปสู่ผู้บริโภคจำนวนมากในประเทศ ไม่อาจส่งผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจมาก แต่จะสามารถก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นแก่รัฐบาลญี่ปุ่นในจำนวนมหาศาล ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระทางการคลังของญี่ปุ่นซึ่งอยู่ในระดับที่สูง สะท้อนจากระดับหนี้สาธารณะในปี 55 อยู่ที่ร้อยละ 214.3 ของ GDP ขณะที่ ภาษี VAT ของญี่ปุ่นถือว่าอยู่ในระดับต่ำมาก เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอัตราภาษี VAT ของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วใน OECD ซึ่งอยู่ประมาณร้อยละ 18.0 ทั้งนี้ ในระยะสั้น การปรับขึ้นอัตราภาษีดังกล่าวอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคในประเทศได้
3. บีโอไอเผย การขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนเดือน ส.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 53.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า การขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนเดือน ส.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 53.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 2.8 แสนล้านบาท ทำให้ในช่วงตั้งแต่ต้นปีขยายตัวร้อยละ 30.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 7.7 แสนล้านบาท โดยรองเลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติยังคงลงทุนในไทยต่อไป ได้แก่ ความพร้อมด้านโครงสร้างอุตสาหกรรมสนับสนุน และความสามารถในการใช้ไทยเป็นฐานการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เช่น เวียดนาม และเมียนมาร์
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดขออนุมัติรับการส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในเชิงของจำนวนผู้สนใจเข้ารับสิทธิและมูลค่าการลงทุนเป็นสัญญาณที่ดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 56 และสะท้อนต่อการปรับเพิ่มสูงขึ้นของอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันซึ่งจัดทำโดย World Economic Forum จากเดิมอันดับที่ 38 ในปี 2555-2556 มาอยู่อันดับที่ 37 ในปี 2556-2557

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ