Macro Morning Focus ประจำวันที่ 16 กันยายน 2556
Summary:
1. ทอท. ปลื้มผู้โดยสารและเที่ยวบินปี 56 ทำสถิติเติบโตจากปีก่อน 15% สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้
2. TDRI ยันเศรษฐกิจชะลอตัวไม่ถึงขั้นเงินฝืด
3. นักลงทุนเชื่อ ลด QE ไม่กระทบตลาด
Highlight:
1. ทอท. ปลื้มผู้โดยสารและเที่ยวบินปี 56 ทำสถิติเติบโตจากปีก่อน 15% สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้
- นางสุภาภรณ์ บุรพกุศลศรี รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานแผนงานและการเงิน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานช่วง 10 เดือนปี 56 (ต.ค.55-ก.ค.56) มีการเติบโตของเที่ยวบินและผู้โดยสารกว่าร้อยละ 15 และแนวโน้มช่วง 2 เดือนที่เหลือของปี 56 การเติบโตจะดีขึ้นอีก แม้ว่าจะเป็นช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว โดยคาดว่าทั้งปี 56ปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารจะเติบโตมากกว่าร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับปีก่อนแน่นอนและสูงกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ที่ไม่เกิน 8% และยังเป็นอัตราการเติบโตสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของทอท. ในขณะที่ท่าอากาศยานอื่นทั่วโลกจะมีอัตราการเติบโตของปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารปีละประมาณร้อยละ 5-6 เท่านั้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า การเติบโตของเที่ยวบินและผู้โดยสารกว่าร้อยละ 15 ในส่วนของท่าอากาศยานไทยนั้น เป็นผลมาจากภาคการท่องเที่ยวอยู่ในภาวะสดใสและขยายตัวอย่างสูงในปีนี้ โดยเครื่องชี้ภาคบริการในส่วนของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศพบว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ก.ค. 56 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.2 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 22.5 โดยเป็นการขยายตัวดีจากนักท่องเที่ยว จีน มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งขยายตัวร้อยละ 69.0 26.2 และ 41.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ สศค. เห็นว่า นอกจากสถานการณ์การเมืองที่นิ่งในสายตาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศแล้ว ยังเป็นผลจากการที่ กรุงเทพฯ ได้รับรางวัลที่สุดของเมืองท่องเที่ยวระดับโลก จากองค์กรชั้นนำ 3 แห่ง คือ รางวัลจากการสำรวจสุดยอดจุดหมายปลายทางของโลก ประจำปี 56 (MasterCard Global Destination Cities Index 2013) รางวัล TripAdvisor2013 : Travellers Choice Destinations Awards 2013 และ รางวัล "Worlds Best City Award 2013"
2. TDRI ยันเศรษฐกิจชะลอตัวไม่ถึงขั้นเงินฝืด
- สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยในขณะนี้ไม่ใช่สภาพการณ์ที่เรียกว่าปัญหา "Stagflation" หรือเกิดเงินฝืดในภาวะที่เงินเฟ้อสูง เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจซบเซาเป็นกันทั่วโลก ทำให้การส่งออกชะลอตัว ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยรายภาค พบว่าทุกภาคมีการขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอตัวทั้งสิ้น โดยเฉพาะภาคใต้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคายางพาราตกต่ำ และการส่งออกกุ้งที่ลดลงจากปัญหาโรคระบาด
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 56 จะขยายตัวในอัตราชะลอลงจากปี 55 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก 1. การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทย โดยเฉพาะประเทศสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่เป็นอุปสงค์สุดท้ายของสินค้า (Final Demand) ซึ่งกระทบต่อภาคการค้าของโลกลดลง และ 2. อุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวจากที่มีการเร่งการบริโภคและลงทุนในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี จากข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่าการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 2 ปี 56 หดตัวร้อยละ -1.9 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ -1.3 (%QoQ_SA) แต่หากขจัดปัจจัยที่ผิดปกติ เช่นการบริโภคในหมวดยานยนต์ออก พบว่าการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.3 ในไตรมาสที่ 2 ปี 56 ขณะที่หดตัวร้อยละ -0.5 ในไตรมาสที่ 1 ปี 56 ขณะอัตราเงินเฟ้อในช่วง 8 เดือนแรกปี 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งสะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะ Stagflation
3. นักลงทุนเชื่อ ลด QE ไม่กระทบตลาด
- สำนักข่าว Bloomberg เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นจากนักลงทุนและนักวิเคราะห์ทั่วโลกกว่า 900 คน เกี่ยวกับผลกระทบต่อตลาดหากทางธนาคารกลางสหรัฐฯ จะทำการปรับลด QE จริง ผลสำรวจพบว่านักลงทุนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 57 ของนักลงทุนมองว่าจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงชัดเจนต่อตลาด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้เกิดขึ้น (Priced-in) ไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี นักลงทุนอีกกว่าร้อยละ 30 กลับคาดว่าตลาดจะปรับตัวลดลงหลังการลด QE ขณะที่นักลงทุนร้อยละ 8 มองว่าตลาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ด้านความเห็นต่อช่วงเวลาในการลด QE ค่อนข้างออกมาหลากหลาย โดยนักลงทุนร้อยละ 38 เชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะตัดสินใจลด QE ทันทีในการประชุมที่จะมีขึ้นในวันที่ 17-18 ก.ย. 56 ขณะที่ร้อยละ 35 มองว่าการตัดสินใจน่าจะมีขึ้นในเดือน ต.ค.-ธ.ค. 56 และอีกราวร้อยละ 25 คาดว่าการลด QE จะมีขึ้นในปีหน้า
- สศค. วิเคราะห์ว่า ตลาดการเงินของโลกยังคงต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของช่วงเวลาในการดำเนินการลด QE ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยที่สามารถก่อให้เกิดความผันผวนระยะสั้นได้ สังเกตได้จากทุกครั้งที่มีการประกาศข้อมูลสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นักลงทุนจะวิเคราะห์เชื่อมโยงตัวเลขดังกล่าวกับความเป็นไปได้ของ QE ว่าจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็ว แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของช่วงเวลาของเหตุการณ์ ดังนั้น หากเกิดกรณีที่ Fed เลื่อนการตัดสินใจที่จะลด QE ออกไป ตลาดอาจมีปฏิกิริยาตอบสนองในเชิงบวกในระยะสั้นจากการที่สภาพคล่องในตลาดจะหายไปช้ากว่าที่คาด ในทางกลับกัน หาก QE ถูกปรับลดลงทันทีตามที่นักลงทุนส่วนใหญ่คาดไว้ ความผันผวนอาจมีให้เห็นแบบไม่รุนแรงนัก อย่างไรก็ดี สศค. มีความเห็นสอดคล้องกับผลสำรวจในประเด็นของผลกระทบของการลด QE ว่าผลกระทบได้เกิดขึ้นไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงจะไม่มีแรงกระเพื่อมที่น่ากังวลต่อทั้งตลาดการเงินโลกและของไทย
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257