รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 2 - 6 กันยายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 16, 2013 16:28 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary
Indicators this week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนส.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับจากช่วงเดียวกันปีก่อน

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.8

  • ดุลบัญชีเดินสะพัด ในเดือน ก.ค. 56 ขาดดุล -708.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศ ในเดือน ก.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 5.9

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

  • สินเชื่อเดือน ก.ค. 56 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 12.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ขณะที่เงินฝากสถาบันการเงินขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 12.5

  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ในเดือนส.ค. 56 หดตัวร้อยละ -8.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • GDP สหภาพยุโรป ในไตรมาสที่ 2 ปี 56 หดตัวชะลอลงร้อยละ -0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP เกาหลีใต้ ในไตรมาสที่ 2 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ GDP ออสเตรเลีย

ขยายตัวร้อยละ 2.6

  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจีน เดือน ส.ค. 56 จัดทำโดย NBS ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 51.0 จุด
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสหกรรม (ISM Mfg PMI) สหรัฐฯ เดือน ส.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 55.7 จุด
Indicators next week
 Indicators                               Forecast           Previous
 Aug : API (% YoY)                          -4.0               -2.7

ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะข้าว ที่ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง สอดคล้องกับผลผลิตกุ้ง ที่ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคระบาดในกุ้ง อย่างไรก็ดี ผลผลิตยางพารา และปาล์มน้ำมัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพื้นที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

Economic Indicators: This Week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนส.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย และเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวของผักผลไม้ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาเครื่องประกอบอาหาร อาทิ น้ำมันพืช กะทิสำเร็จรูป ลดลงเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศบางชนิดลงลงตามภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.8 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 8 เดือนแรกปี 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.1 สะท้อนถึงเห็นถึงเสถียรภาพด้านราคาที่ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ส.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 0.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. 56 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 สำหรับดัชนีในหมวดที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ หมวดซีเมนต์ ร้อยละ 0.7 (ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม) หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ร้อยละ 0.4 (ทราย อิฐมอญ ยางมะตอย) ราคาทรายปรับสูงขึ้นเนื่องจากแหล่งผลิตหายากขึ้นจึงมีทรายไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ อิฐมอญราคาสูงขึ้นเนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝน ทำให้ไม่สามารถผลิตได้ตามปกติ ส่วนยางมะตอยปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันที่ปรับราคาก่อนหน้านี้
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ก.ค. 56 ขาดดุล -708.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่ขาดดุล -664.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยดุลการค้ายังคงเกินดุลเล็กน้อยเพียง 257.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามการหดตัวของการส่งออกโดยเฉพาะในหมวดสินค้าเกษตรและประมงตลอดจนสินค้าอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์หดตัวลงมาก ขณะที่ดุลบริการรายได้ปฐมภูมิและรายได้ทุติยภูมิขาดดุล -966.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการส่งกลับกำไรและเงินปันผลไปต่างประเทศโดยเฉพาะจากธุรกิจยานยนต์ที่ผลประกอบการค่อนข้างสูงประกอบกับค่าเงินเยนอ่อนลงมากเมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 56 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล -4,518.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศในเดือน ก.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 37.9 โดยปริมาณการจำหน่ายเหล็กที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็กเส้นข้ออ้อย (น้ำหนักร้อยละ 62.4 ของปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวม) ขยายตัวร้อยละ 22.3 ต่อปี เหล็กเส้นกลม (น้ำหนักร้อยละ 13.5) หดตัวร้อยละ -3.3 ต่อปี และลวดเหล็กแรงดึงสูง (น้ำหนักร้อยละ 6.2) ขยายตัวร้อยละ 3.7 ต่อปี สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุสาหกรรม ในหมวดผลิตโลหะขั้นมูลฐาน ในเดือน ก.ค. 56 ที่หดตัวร้อยละ -6.3 หดตัวจากเดือน มิ.ย. 56 ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 0.5 ทั้งนี้ ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมในช่วง 7 เดือนแรกปี 56 ขยายตัวร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สินเชื่อเดือน ก.ค. 56 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ ร้อยละ 12.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ หากวิเคราะห์ตามผู้ให้สินเชื่อพบว่าสินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจและสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ขยายตัวดีต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อผู้บริโภค ซึ่งขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 0.8 และร้อยละ 1.1 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ตามลำดับ ทั้งนี้ ควรจับตามองปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย รวมถึงการขยายตัวของสินเชื่อในอนาคต
  • เงินฝากสถาบันการเงินเดือน ก.ค. 56 ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 12.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ชะลอลงเป็นสำคัญ โดยหากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) เงินฝากสถาบันการเงินขยายตัวร้อยละ 0.5 ส่วนหนึ่งจากการที่สถาบันการเงินต่างๆยังคงระดมเงินฝากต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อในระยะต่อไป รวมถึงการแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์เพื่อรักษาฐานลูกค้า ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่ยังคงมีความเสี่ยงจากการชะลอลงของอุปสงค์จากนอกประเทศ กอปรกับการใช้จ่ายในประเทศที่เริ่มกลับเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้น รวมถึงเงินทุนเคลื่อนย้ายที่จะยังคงมีความผันผวนต่อเนื่อง จะส่งผลให้สถาบันการเงินต่างๆ จำเป็นต้องบริหารจัดการสภาพคล่องอย่างระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อภาพรวมของการระดมเงินฝากในระยะต่อไป
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม เดือน ส.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 69.5 ลดลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 70.6 ซึ่งเป็นการปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 9 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลในด้าน 1. ทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 56 หลังนโยบายภาครัฐเริ่มทยอยหมดลง 2. ราคาพืชผลเกษตรที่ทรงตัวในระดับต่ำ ทำให้รายได้เกษตรกรในภาคชนบท ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และ 3. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวลดลง
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนส.ค. 56 มีจำนวน 173,461 คัน หรือหดตัวร้อยละ -8.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -6.2 โดยเป็นการหดตัวต่อเนื่องของยอดขายรถจักรยานยนต์ในภูมิภาคที่หดตัวร้อยละ -11.8 จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -8.3 ขณะที่ยอดขายรถจักรยานยนต์ในกทม.ขยายตัวร้อยละ 2.1 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 อย่างไรก็ดี คาดว่ายอดขายรถจักรยานยนต์ จะยังคงหดตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้ภาคครัวเรือนที่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะรายได้เกษตรกรที่เริ่มหดตัวเกือบทั่วทุกภาค โดยเฉพาะในภาคใต้ และภาคเหนือ ตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกปี 56 ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวร้อยละ -2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: Next Week
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนส.ค. 56 คาดว่าจะ หดตัวร้อยละ -4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ -2.7 ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะข้าว ที่ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง สอดคล้องกับผลผลิตกุ้ง ที่ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคระบาดในกุ้ง อย่างไรก็ดี ผลผลิตยางพารา และปาล์มน้ำมัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพื้นที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสหกรรม (ISM Mfg PMI) เดือน ส.ค. 56 อยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปีที่ 55.7 จุด ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 55.4 จุดผลจากดัชนีคำสังซื้อสินค้าใหม่ ดัชนีการส่งมอบวัตถุดิบ และดัชนีสินค้าคงคลังที่ขยายตัวเร่งขึ้น อย่างไรก็ตามดัชนีการผลิตที่อยู่ในระดับสูงปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 62.4 จุด บ่งชี้การขยายตัวที่ชะลอลง เช่นเดียวกับดัชนีการจ้างงานที่ขยายตัวชะลอลง
Japan: improving economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 56 ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 52.2 จุด สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 50.7 จุดทั้งนี้ ดัชนีดังกล่าวอยู่สูงกว่าระดับ 50 จุด ต่อเนื่อง 6 เดือนติดต่อกัน ผลจากการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น สะท้อนมาตรการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศของรัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มส่งผลต่อตลาดภายในประเทศเป็นสำคัญ
China: improving economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 56 จัดทำโดย NBS ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 51.0 จุด สูงสุดในรอบ 16 เดือน สอดคล้องกับดัชนีฯ ที่จัดทำโดย HSBC ที่อยู่ในระดับ 51.0 จุด จากทั้งผลผลิต คำสั่งซื้อใหม่ และการสะสมสินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้น สะท้อนสถานการณ์เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มส่งสัญญาณสดใสขึ้น สำหรับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน ส.ค. 56 จัดทำโดย HSBC ปรับขึ้นสู่ระดับ 52.8 จุด ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 5 เดือน จากคำสั่งซื้อใหม่ และธุรกิจใหม่ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของดัชนีทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการเป็นการขยายตัวในอัตราที่ยังค่อนข้างต่ำ
Eurozone: mixed signal
  • GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 56 (ตัวเลขปรับปรุง) หดตัวชะลอลงร้อยละ -0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.3 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) จากอุปสงค์ทั้งในและนอกประเทศที่ขยายเร่งขึ้น สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจยูโรโซนที่เริ่มฟื้นตัว ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน ส.ค. 56 (ตัวเลขปรับปรุง) เพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 50.0 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 มาอยูที่ระดับ 51.5 โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50.7 สะท้อนภาคการผลิตยูโรโซนที่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 56 หดตัวร้อยละ -1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือเร่งขึ้นร้อยละ 0.1 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) บ่งชี้การบริโภคภาคเอกชนที่เริ่มฟื้นตัว อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าในหมวดพลังงานที่ปรับตัวลดลง เป็นสำคัญ อัตราว่างงาน เดือน ก.ค. 56 ทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 12.1 ของกำลังแรงงานรวม จากตลาดการจ้างงานโดยรวมที่ยังคงซบเซา โดยเฉพาะในกรีซ และสเปน บ่งชี้อุปสงค์ภายในที่ยังคงเปราะบาง
Hong Kong: worsening economic trend
  • ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 9.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากการค้าสินค้าฟุ่มเฟือยที่ชะลอลงมาก ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เดือน ส.ค. 56 คงที่ที่ระดับ 49.7 จุด สะท้อนภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5
Indonesia: mixed signal
  • มูลค่าส่งออกเดือน ก.ค. 56 หดตัวร้อยละ -6.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปญี่ปุ่นที่หดตัวสูง ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 6.5 ซึ่งขยายตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล -2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดในรอบ 6 ปี ส่วนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 48.5 จุด ต่ำสุดในรอบ 15 เดือน จากดัชนีทุกหมวดลดลง อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 8.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากการลดการอุดหนุนราคาน้ำมันของรัฐบาล
Philippines: improving economic trend
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 2.5 ผลจากราคาอาหารที่ขยายตัวลดลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 2.5 ผลจากราคาอาหารที่ขยายตัวลดลง
Singapore: mixed signal
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 51.8 จุด ผลจากดัชนีคำสั่งซื้อใหม่และดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่ที่ปรับตัวสูงขึ้น
Australia: improving economic trend
  • GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 2.4 จากการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 56 ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการค้าเสื้อผ้าและรองเท้าที่กลับมาขยายตัว มูลค่าการส่งออกเดือน ก.ค. 56 ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 4.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน มูลค่าการนำเข้า กลับมาขยายตัวร้อยละ 4.3 ทำให้ดุลการค้าขาดดุล -1.7 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย
India: worsening economic trend
  • GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสที่ 1 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 4.8 จากการบริโภคภาคเอกชนที่ชะลอลง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 56 ลดมาอยู่ที่ระดับ 48.5 จุด ต่ำกว่าระดับ 50 จุด เป็นครั้งแรกในรอบ 53 เดือน และต่ำสุดในรอบกว่า 4 ปี จากการลดลงในอัตราที่เร่งขึ้นของผลผลิต คำสั่งซื้อใหม่ และคำสั่งซื้อใหม่เพื่อส่งออก ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน ก.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 47.6 จุด ลดลงจากผลผลิตที่หดตัว
South Korea: improving economic trend
  • GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 56 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากการลงทุนและการส่งออกที่ขยายตัว มูลค่าส่งออก เดือน ส.ค. 56 ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 7.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปจีนและสหรัฐฯ มูลค่านำเข้าเดือน ส.ค. 56 ขยายตัวชะลอลงร้อยละ 0.8 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 ทำให้ดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นที่ 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค. 56 อยู่ที่ 47.5 จุด สะท้อนภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3
Taiwan: mixed signal
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 50.0 จุด หลังจากที่ชะลอตัวต่อเนื่อง 3 เดือน อัตราเงินเฟ้อเดือน ส.ค. 56 หดตัวร้อยละ -0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาอาหารที่หดตัวลงต่อเนื่อง
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนปรับตัวลดลงต่อเนื่องในช่วงกลางสัปดาห์ โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 4 ก.ย. 56 ปิดที่ 1,303.21 จุด ใกล้เคียงกับสัปดาห์ก่อนหน้าที่ปิดที่ 1,294.30 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันระหว่างสัปดาห์ที่ 35,760 ล้านบาท จากแรงขายของนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ นักลงทุนรายย่อยในประเทศ และนักลงทุนต่างชาติ จากความกังวลเรื่องการลดขนาดมาตรการ QE ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 2 - 4 ก.ย. 56 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ -4,90.4 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงเล็กน้อย โดยเฉพาะตราสารอายุ 4 ปีขึ้นไป โดยนักลงทุนเริ่มคลายความกังวลเกี่ยวกับสงครามในซีเรีย อีกทั้งตังเลขเศรษฐกิจของหลายประเทศออกมาดี ทำให้บรรยากาศการลงทุนดีขึ้น โดยระหว่างวันที่ 2 - 4 ก.ย. 56 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 1,930.4 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 4 ก.ย. 56 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.19 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.12 จากสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับเงินสกุลภูมิภาค อาทิ เงินริงกิตมาเลเซีย วอนเกาหลี และสิงคโปร์ดอลลาร์ ในขณะที่ค่าเงินเยนและยูโรอ่อนค่าลงเล็กน้อย ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.43 จากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำค่อนข้างทรงตัว โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 4 ก.ย. 56 ปิดที่ 1,390.84 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ใกล้เคียงกับต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,394.29 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ