รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 9 - 13 กันยายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 16, 2013 16:56 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary
Indicators this week
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทย ในเดือน ส.ค.56 ขยายตัวร้อยละ 28.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือน ส.ค.56 หดตัวร้อยละ -3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตร

ที่เกษตรกรขายได้ ขยายตัวร้อยละ 4.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

  • อัตราการว่างงานเดือน ก.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ ในเดือน ก.ค. 56 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 2.40 ล้านล้านบาท
  • ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศ ในเดือน ส.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • GDP ญี่ปุ่น ในไตรมาส 2 ปี 56 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวเร่งขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการสหรัฐฯ เดือน ส.ค. 56 อยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 7 ปีที่ระดับ 58.6 จุด
  • ยอดค้าปลีกจีน เดือน ส.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 13.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสหภาพยุโรป เดือน ก.ค. 56 กลับมาหดตัวร้อยละ -1.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
  • วันที่ 12 ก.ย. 56 ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นร้อยละ 7.25 ต่อปี
Indicators next week
 Indicators                               Forecast           Previous
 Aug : TISI (Index)                         90.0               91.9

จากความกังวลของผู้ประกอบการเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอลง ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนไหวและอาจจะมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ภายนอกประเทศ เช่น การส่งออก เป็นต้น

Economic Indicators: This Week
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ส.ค.56 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.5 ล้านคน หรือขยายตัวร้อยละ 28.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) โดยเป็นการขยายตัวดีจากนักท่องเที่ยว จีน มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งขยายตัวร้อยละ 78.9 24.0 และ 48.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ส่งผลทำให้ 8 เดือนแรก ปี 56 มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งสิ้น 17.4 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 21.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือน ส.ค.56 หดตัวร้อยละ -3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -2.7 ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะข้าว ที่ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง สอดคล้องกับผลผลิตกุ้ง ที่ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคระบาดในกุ้ง อย่างไรก็ดี ผลผลิตยางพารา และปาล์มน้ำมัน ผลผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพื้นที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สอดคล้องกับผลผลิตหมวดปศุสัตว์ที่ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดีที่ร้อยละ 3.8 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสุกรและไก่เนื้อเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกปี 56 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวเล็กน้อยร้อยละ -0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ในเดือน ส.ค.56 ขยายตัวร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 1.5 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาผลผลิตในหมวดพืชผล โดยเฉพาะมันสำปะหลัง ที่ราคายังคงขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากอุปสงค์ที่มีเข้ามาต่อเนื่องจากประเทศจีน และราคาในหมวดประมง โดยเฉพาะกุ้งที่ได้รับผลกระทบจากโรดระบาด อย่างไรก็ดี ราคายางพาราและปาล์มน้ำมันยังคงหดตัวต่อเนื่อง จากอุปทานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามการเพิ่มสต็อคของของประเทศจีนและญี่ปุ่นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ขณะที่อุปสงค์ค่อนข้างทรงตัว ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกปี 56 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • การจ้างงานเดือน ก.ค. 56 อยู่ที่ 39.37 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 4.9 แสนคน โดยมีสาเหตุมาจากการจ้างงานปรับตัวลดลงในภาคเกษตรและภาคบริการ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ อัตราการว่างงานเดือน ก.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม คิดเป็นผู้ว่างงาน 3.55 แสนคน
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ในเดือนก.ค. 56 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 2.40 ล้านล้านบาท ส่วนหนึ่งจากการที่สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราเร่งกว่าการขยายตัวของเงินฝาก โดยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 1.0 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ขณะที่เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ทั้งนี้ ควรจับตามองสถานการณ์ความไม่แน่นอนของของเศรษฐกิจโลก ที่อาจส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ภายนอกประเทศ รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลต่อการขยายตัวของสินเชื่อ และสถานะของสภาพคล่องได้ในระยะต่อไป
  • ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน ส.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว (m-o-m SA) ขยายตัวร้อยละ 3.1 จากเดือนก่อนหน้า สะท้อนภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีการเติบโต และเริ่มกลับเข้าสู่ระดับปกติภายหลังจากที่มีการเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 55 อย่างไรก็ตาม อุปทานของตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังถือว่ามีสัญญาณการขยายตัว สะท้อนจากตลาดในกลุ่มทาวน์เฮาส์และอาคารพาณิชย์ที่ยังคงมีการเติบโตที่ดีต่อเนื่องนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 55 โดยล่าสุด ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จและจดทะเบียนเพิ่มในกลุ่มทาวน์เฮาส์และ อาคารพาณิชย์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในเดือน ก.ค. 56 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 131.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
Economic Indicators: Next Week
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ส.ค. 56 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 90.0 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 91.9 และถือเป็นการปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 21 เดือน จากความกังวลของผู้ประกอบการเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอลง ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนไหวและอาจจะมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ภายนอกประเทศ เช่น การส่งออก เป็นต้น

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน ส.ค. 56 อยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 7 ปีที่ระดับ 58.6 จุด สุงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 56.0 จุด บ่งชี้ความแข็งแกร่งของภาคบริการสหรัฐฯ การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ส.ค. 56 เพิ่มขึ้น 169,000 ตำแหน่งจากเดือนก่อนหน้า เพิ่มขึ้นในอัตราที่มากกว่าเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้นเพียง 104,000 ตำแหน่ง (ตัวเลขปรับปรุง) โดยเฉพาะในภาคบริการ หมวดค้าปลีก หมวดวิชาชีพและธุรกิจ หมวดการศึกษาและสาธารณสุข และหมวดสันทนาการ ประกอบกับกำลังแรงงานรวมที่ลดลงถึง312,000 คน ทำให้อัตราการว่างงาน เดือน ส.ค. 56 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 7.3 ของกำลังแรงงานรวม ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ Fed จะลดขนาดมาตรการ QE ภายในเดือนนี้
Japan: improving economic trend
  • GDP ไตรมาส 2 ปี 56 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวเร่งขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.9 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนั้นปรับเพิ่มขึ้นจากตัวเลขเบื้องต้นที่ออกมาก่อนหน้า โดยเป็นผลจากการบริโภคและการลงทุนของภาครัฐที่ขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่น โดยเฉพาะการลงทุนด้านการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติและสึนามิ เป็นสำคัญ ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวอุปสงค์ในประเทศอย่างต่อเนื่องในระยะต่อไป เนื่องจากการขยายตัวดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับต่ำ จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ส.ค. 56 ลดลงอยู่ที่ระดับ 43.4 จุด จากระดับ 44.0 สะท้อนมุมมองในแง่ลบของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องของค่าจ้างและการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่น
China: improving economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 7.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 5.1 ในเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกไปสหรัฐและฮ่องกงที่ขยายตัวต่อเนื่อง ผลจาก มูลค่าการนำเข้า เดือน ส.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 7.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจาก ร้อยละ 10.8 ในเดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าแร่เหล็กและน้ำมันดิบที่ขยายตัวชะลอลง แต่ยังคงถือว่าขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าช่วงครึ่งปีแรก ทำให้ดุลการค้า เดือน ส.ค. 56 เกินดุล 28.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 10.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าและขยายตัวในอัตราสูงสุดตั้งแต่ต้นปี 56 ด้านยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 13.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการขยายตัวในอัตราทรงตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และอัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 56 ทรงตัวที่ร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เทียบกับร้อยละ 2.7 ในเดือนก่อนหน้า
Eurozone: mixed signal
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 56 กลับมาหดตัวร้อยละ -1.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว จากผลผลิตในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคคงทน และสินค้าทุนที่หดตัวเร่งขึ้น เป็นสำคัญ สะท้อนภาคการผลิตที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน
Indonesia: worsening economic trend
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ส.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 107.8 จุด ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ระดับ 108.4 จุด เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้ผู้บริโภควิตกถึงความมั่นคงในอาชีพการงานและรายได้ที่จะได้รับในอนาคต นอกจากนี้ ในวันที่ 12 ก.ย. 56 ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 7.00 ต่อปี เป็นร้อยละ 7.25 ต่อปี เพื่อลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อและแก้ปัญหาเงินทุนไหลออก
Malaysia: improving economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ค. 56 กลับมาขยายตัวร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากหดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน ผลจากการส่งออกไปจีนกลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 17.5 ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 6.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 6.2 จากการนำเข้าเครื่องจักรที่กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 4.9 โดยสรุปดุลการค้า เดือน ก.ค. 56 เกินดุล 2.9 พันล้านริงกิต ส่วนด้านอุปท่าน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 7.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากการผลิตในทุกภาคส่วนที่ขยายตัวเร่งขึ้น
Philippines: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 4.1 จากการส่งออกไปญี่ปุ่นที่ขยายตัวชะลอลง
India: improving economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 13.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.6 มูลค่าการนำเข้า เดือน ส.ค. 56 หดตัวร้อยละ -0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.2 ทำให้ดุลการค้า เดือน ส.ค. 56 ขาดดุล 10.9 หมื่นล้านรูปี ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งขาดดุล 12.3 หมื่นล้านรูปี โดยการขาดดุลการค้าที่มีทิศทางลดลง อาจส่งผลบวกต่อค่าเงินรูปีซึ่งประสบปัญหาอ่อนค่าอย่างหนัก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 56 กลับมาขยายตัวร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากหดตัวต่อเนื่องมา 2 เดือน
South Korea: mixed signal
  • อัตราว่างงาน เดือน ส.ค. 56 ทรงตัวที่ร้อยละ 3.1 ของกำลังแรงงานรวม นอกจากนี้ธนาคารกลางไต้หวันคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เดือน ก.ย. 56 ที่ร้อยละ 1.875 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 26
Taiwan: improving economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 56 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปจีนที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิสก์ที่ขยายตัวได้ดี ด้านมูลค่าการนำเข้า เดือน ส.ค. 56 หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น โทรศัพท์มือถือ ที่ลดลง ทำให้ดุลการค้า เดือน ส.ค. 56 เกินดุล 4.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
Australia: mixed signal
  • อัตราว่างงาน เดือน ส.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 5.78 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า แต่ถือว่าเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 4 ปี
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนปรับตัวลดลงต่อเนื่องในช่วงกลางสัปดาห์ โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 12 ก.ย. 56 ปิดที่ 1,397.90 จุด ปรับเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ปิดที่ 1,336.25 จุด จากตัวเลขทางเศรษฐกิจของหลายประเทศที่ดีขึ้นส่งผลให้นักลงทุนมั่นใจลงทุนในสินทรัพย์ในภูมิภาคมากขึ้น โดยในช่วงระหว่างวันที่ 9 - 12 ก.ย. 56 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 9,936.59 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ประมาณ 1-3 basis points ทั้งนี้ นักลงทุนรอฟังผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า ที่คาดว่าจะมีการแถลงเกี่ยวกับการปรับลดมาตรการ QE
  • ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 12 ก.ย. 56 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 31.74 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.73 จากสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับเงินสกุลภูมิภาค อาทิ วอนเกาหลี สิงคโปร์ดอลลาร์ และเงินริงกิตมาเลเซีย ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.28 จากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำปรับลดลง โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 12 ก.ย. 56 ปิดที่ 1,320.19 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลดลงจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,386.19 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ