รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 17 กันยายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 17, 2013 14:20 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 กันยายน 2556

Summary:

1. กสิกรไทยปรับลด GDP ปี 56 เหลือร้อยละ 3.7

2. ยอดขายอืด! รถยนต์ทะลักสต๊อก

3. ตัวเก็งผู้ว่า "เฟด" ขอถอนตัว

Highlight:

1. กสิกรไทยปรับลด GDP ปี 56 เหลือร้อยละ 3.7
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 56 เหลือร้อยละ 3.7 โดยมีกรอบการคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ 3.5-4.0 จากกรอบการคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 3.8-4.3 จากการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง การส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงต้องใช้ระยะเวลาการฟื้นตัวอีกสักระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตามคาดว่าในช่วงปลายปีจากเศรษฐกิจโลกที่มีการฟื้นตัว จะช่วยหนุนการส่งออกขยายตัวได้ดี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังปี 56 คาดว่าจะขยายตัวชะลอลงจากครึ่งปีแรกที่ขยายตัวร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการชะลอตัวลงของอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทน เช่น ยอดขายรถยนต์ อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ภายนอกประเทศที่สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้ายังคงขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 0.6 ในช่วง 7 เดือนแรกปี 56 สอดคล้องกับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานโดยเฉพาะภาคบริการที่ยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 56 ยังคงขยายตัวระดับสูงที่ร้อยละ 21.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 56
2. ยอดขายอืด! รถยนต์ทะลักสต๊อก
  • นายจิรเดช สมภพรุ่งโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท โตโยต้า เค.มอเตอร์ส ผู้จำหน่ายโตโยต้า เปิดเผยว่า ผลกระทบจากตลาดรถยนต์ชะลอตัวลง ส่งผลให้ผู้แทนจำหน่ายที่มีสต๊อกจำนวนมากต้องหาพื้นที่ในการจัดเก็บรถยนต์เพิ่มมากขึ้น โดยการเช่าพื้นที่ว่างหรืออาคารจอดสำหรับเก็บรถยนต์ในสต๊อก และยอมรับว่า ขณะนี้มีปริมาณลูกค้าเข้าโชว์รูมลดลง ส่งผลให้การซื้อของกลุ่มลูกค้ารายย่อยลดลงไปด้วย แต่กำลังซื้อของลูกค้าองค์กรหรือบริษัทยังมีอยู่ จึงหันไปเน้นลูกค้าในกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มตลาดรถยนต์ภาพรวมในปี 56 ยังคงขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี แม้ว่าตลาดภายในประเทศเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว สะท้อนถึงสภาพตลาดภายในประเทศที่กำลังปรับตัวเข้าสู่สภาวะปกติหลังจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปีที่ผ่านมาจากนโยบายโครงการรถยนต์คันแรก โดยข้อมูลล่าสุดเดือน ก.ค.56 ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 98,251 คัน หรือหดตัวร้อยละ - 25.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ยอดการผลิตรถยนต์ทุกประเภทเดือน ก.ค. 56 มีจำนวนทั้งสิ้น 201,466 คันลดลง 13,885 คันหรือหดตัวร้อยละ 6.45 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหมวดยานยนต์ที่เริ่มส่งสัญญานชะลอตัวเช่นกัน โดยดัชนีผลผลิตยานยนต์หดตัวที่ร้อยละ 5.6 ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 18 เดือน อย่างไรก็ดี คาดว่าตลาดส่งออกรถยนต์ของไทยยังคงสดใส มูลค่าการส่งออกยานยนต์และอุปกรณ์ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 56 อยู่ที่ 17,634.38 คิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 11.46 โดยตลาดส่งออกหลักคือ ออสเตรเลีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ที่ขยายตัวสูงที่ร้อยละ 47.53 14.44 และ 13.19 ตามลำดับ
3. ตัวเก็งผู้ว่า "เฟด" ขอถอนตัว
  • แถลงการณ์จากทำเนียบขาวซึ่งระบุว่าได้ถอดถอนชื่อของ นายลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส หรือแลร์รี ซัมเมอร์ส หนึ่งในตัวเก็งที่จะได้รับเลือกให้ทำหน้าที่ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แทนที่นายเบน เบอร์แนนคีที่กำลังจะหมดวาระในปีนี้ ออกจากรายชื่อผู้มีสิทธิ์ได้รับการคัดเลือกแล้ว โดยประธานาธิบดีบารัก โอบามาแห่งสหรัฐกล่าวในแถลงการณ์ว่า ก่อนหน้านี้ตนเองได้พูดคุยกับซัมเมอร์ส และยอมรับในการตัดสินใจของเจ้าตัวที่ต้องการถอนตัวออกจากการเป็นผู้มีสิทธิได้รับการคัดเลือกให้นั่งตำแหน่งผู้ว่าเฟด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หลังจากที่ลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส ได้ขอถอนตัวจากผู้มีสิทธิได้รับการคัดเลือก ตัวเก็งสำคัญที่เหลือ คือ นางเจเน็ท เยลเลน รองประธานเฟด และ นายโดนัล โคห์น อดีตรองประธานเฟด ซึ่งมีมุมมองการดำเนินนโยบายต่างกันออกไป โดยนางเยลเลนจะเน้นแก้ปัญหาการว่างงานมากกว่าเงินเฟ้อ และหลายฝ่ายเชื่อว่า นางเยลเลนน่าจะยังดำเนินการ QE ต่อไปอีกระยะ ในขณะนี้ นายโคห์น จะเน้นความเป็นอิสระของเฟด และหากนางเยลเลน ตัวเก็งขณะนี้ได้เป็นประธานเฟด ก็จะเป็นประธานเฟดหญิงคนแรก ทั้งนี้ ในวันที่ 17-18 กันยายน นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ และเป็นที่คาดหมายกันอย่างมากทั่วโลกว่าในประชุมดังกล่าว เฟดคงจะประกาศการลด QE ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน โดยการปรับลดขนาดมาตรการ QE ของสหรัฐฯ น่าจะมีความชัดเจนขึ้นได้หลังจากได้ประธานธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)คนใหม่ เชื่อว่าการดำเนินการปรับลด QE จะราบรื่นขึ้น ส่วนจะดำเนินการอย่างไรนั้นตลาดได้คาดการณ์ไว้ในแนวทางต่างๆ เช่น อาจลดการพิมพ์ธนบัตรลงหมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน โดยจะไปสิ้นสุดมาตรการ QE ในช่วงไตรมาสสามปี 57

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ