สถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 19, 2013 10:03 —กระทรวงการคลัง

นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ขอแถลงสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2556 ดังนี้

ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2556 มีจำนวน 5,211,194.01 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 44.11 ของ GDP โดยเป็นหนี้ของรัฐบาล 3,641,067.87 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,077,722.91 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 491,568.89 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 834.34 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะลดลงสุทธิ 12,717.20 ล้านบาท โดยหนี้ของรัฐบาลลดลง 16,774.86 ล้านบาท ในขณะที่หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ เพิ่มขึ้น 2,186.82 ล้านบาท 1,849.87 ล้านบาท และ 20.97 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ นั้นไม่มีหนี้คงค้าง ทั้งนี้ รายละเอียดและสัดส่วนของหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2556

1. หนี้ของรัฐบาล

1.1 หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าเพิ่มขึ้นสุทธิ 5,225.14 ล้านบาท เนื่องจาก

1.1.1 หนี้ต่างประเทศ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 489.15 ล้านบาท โดยผลจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้ยอดหนี้คงค้างในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น 366.20 ล้านบาท ประกอบกับการเบิกจ่ายและชำระคืนหนี้สกุลเงินต่างๆ ทำให้ยอดหนี้คงค้างในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้นสุทธิ 122.95 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในรูปเงินบาท หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงจำแนกเป็นสกุลเงินต่างๆ หลังจากที่ทำการป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนแล้วมีรายละเอียดปรากฏตามแผนภาพที่ 2 โดยในส่วนของหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลที่กู้ให้กู้ต่อแก่บริษัทการบินไทย (จำกัด) มหาชน จำนวน 540 ล้านเหรียญสหรัฐ (17,004.28 ล้านบาท) เป็นหนี้ที่มีรายรับเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศที่สอดคล้องกับรายจ่ายชำระหนี้ต่างประเทศ (Natural Hedged) จึงไม่นับว่ามีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

1.1.2 หนี้ในประเทศ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 4,735.99 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจากการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก. บริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศฯ

1.2 หนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 22,000 ล้านบาท เนื่องจากการไถ่ถอนพันธบัตรที่ออกภายใต้ พ.ร.ก. ช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ระยะที่สอง (FIDF 3) จำนวน 12,000 ล้านบาท และการทดรองจ่ายจากบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลัง (Premium FIDF 1 และ FIDF 3) จำนวน 10,000 ล้านบาท

1.3 หนี้เงินกู้ล่วงหน้าเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า

2. หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน

2.1 หนี้ในประเทศ

2.1.1 หนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าเพิ่มขึ้น 566.39 ล้านบาท โดยเกิดจาก

  • องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพออกพันธบัตร 1,950 ล้านบาท และไถ่ถอนพันธบัตร 1,000 ล้านบาท การเคหะแห่งชาติออกพันธบัตร 5,000 ล้านบาท และไถ่ถอนพันธบัตร 2,200 ล้านบาท และการรถไฟแห่งประเทศไทยออกพันธบัตร 3,581.28 ล้านบาท และไถ่ถอนพันธบัตร 2,261.28 ล้านบาท
  • รัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลค้ำประกันมีการชำระคืนต้นเงินกู้ 4,503.61 ล้านบาท

2.1.2 หนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าลดลง 111.87 ล้านบาท โดยเกิดจาก

  • การไฟฟ้านครหลวงไถ่ถอนพันธบัตร 1,000 ล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยออกพันธบัตร 1,000 ล้านบาท และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคออกพันธบัตร 1,000 ล้านบาท และไถ่ถอนพันธบัตร 875 ล้านบาท
  • รัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลไม่ค้ำประกันมีการเบิกจ่ายจากแหล่งเงินกู้ต่างๆ น้อยกว่าชำระคืนต้นเงินกู้ 236.87 ล้านบาท

2.2 หนี้ต่างประเทศ

2.2.1 หนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 304.54 ล้านบาท โดยเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้ยอดหนี้คงค้างในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น 874.93 ล้านบาท ประกอบกับการเบิกจ่ายและชำระคืนหนี้สกุลเงินต่างๆ ทำให้ยอดหนี้คงค้างในรูปหนี้เงินบาทลดลงสุทธิ 570.39 ล้านบาท

2.2.2 หนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 1,427.76 ล้านบาท โดยผลจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้ยอดหนี้คงค้างในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น 2,411.37 ล้านบาท ประกอบกับ การชำระคืนหนี้สกุลเงินต่างๆ ทำให้ยอดหนี้คงค้างในรูปเงินบาทลดลง 983.61 ล้านบาท

3. หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน)

3.1 หนี้ในประเทศ

หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าเพิ่มขึ้น 1,914.80 ล้านบาท โดยเกิดจาก

  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรออกพันธบัตร 25,000 ล้านบาท และไถ่ถอนพันธบัตร 28,000 ล้านบาท
  • รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) มีการเบิกจ่ายจากแหล่งเงินกู้ต่างๆ มากกว่าชำระคืนต้นเงินกู้ 4,914.80 ล้านบาท

3.2 หนี้ต่างประเทศ

หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 64.93 ล้านบาท โดยผลจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้ยอดหนี้คงค้างในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น 10.26 ล้านบาท ประกอบกับการชำระคืนหนี้สกุลเงินต่างๆ ทำให้ยอดหนี้คงค้างในรูปเงินบาทลดลง 75.19 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากพิจารณาในรูปเงินบาท หนี้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน และรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) หลังทำการป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน จำแนกเป็นสกุลเงินต่างๆ มีรายละเอียดปรากฏตามแผนภาพที่ 3 โดยในส่วนของหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลไม่ค้ำประกัน) จะประกอบด้วย 2 หน่วยงาน คือ บริษัท การบินไทย (จำกัด) มหาชน และบริษัท ปตท. (จำกัด) มหาชน ที่มีรายรับเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศที่สอดคล้องกับรายจ่ายชำระหนี้ต่างประเทศ (Natural Hedged) ทั้งหมด

4. หนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 20.97 โดยเกิดจากการเบิกจ่ายเงินกู้ของสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน

หนี้สาธารณะคงค้าง จำนวน 5,211,194.01 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหนี้ต่างประเทศ 359,619.62 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.90 และหนี้ในประเทศ 4,851,574.38 ล้านบาท หรือร้อยละ 93.10 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง และเป็นหนี้ระยะยาว 5,083,941.62 ล้านบาท หรือร้อยละ 97.56 และหนี้ระยะสั้น 127,252.39 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.44 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง

ส่วนวิจัยนโยบายหนี้สาธารณะ สำนักนโยบายและแผน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

โทร. 0 2265 8050 ต่อ 5512

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 95/2556 18 กันยายน 2556--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ