รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 20 กันยายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 20, 2013 12:10 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 20 กันยายน 2556

Summary:

1. ราคาทองคำภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้นหลัง FED ประกาศคงมาตรการ QE

2. ผู้ว่าการ ธปท. ให้ความมั่นใจ ธปท. พร้อมเข้าดูแลหากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นวันนี้มีผลต่อเศรษฐกิจ

3. มูลค่าการส่งออกญี่ปุ่นในเดือน ส.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 14.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Highlight:

1. ราคาทองคำภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้นหลัง FED ประกาศคงมาตรการ QE
  • ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ คาดการณ์ว่าแนวโน้มราคาทองคำในประเทศจะปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) ที่มีมติคงมาตรการ QE ต่อไป โดยราคาซื้อขายทองคำภายในประเทศวันที่ 19 ก.ย. 56 ภายหลังผลการประชุมดังกล่าวเปิดตลาดม ในช่วงเช้าด้วยราคาปรับสูงขึ้นบาทละ 450 บาท โดยทองคำแท่งราคารับซื้อบาทละ 19,900 บาท ราคาขายบาทละ 20,000 บาท ทองรูปพรรณราคารับซื้อบาทละ 19,617 บาท ราคาขายบาทละ 20,400 บาท อีกทั้งยังกล่าวเสริมอีกว่าว่าแนวโน้มราคาทองคำในระยะสั้นยังปรับขึ้นต่อ และถ้าผ่านแนวรับที่ 1,377 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ไปได้ ราคาทองมีโอกาสปรับขึ้นไปถึงระดับ 1,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ข่าวเรื่องมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อราคาทอง เพราะหากธนาคารกลางสหรัฐฯ ตัดสินใจลดขนาด หรือยุติมาตรการ QE จะก่อให้เกิดความกังวลต่อสภาพคล่องของดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนอาจเทขายทองกลับไปถือดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะเป็นแรงกดดันทำให้ราคาทองคำลดลงข่าวการประกาศคงมาตรการ QE ในการประชุม FOMC จึงเป็นข่าวดีสำหรับตลาดทองคำตลอดจนตลาดสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ทั้งนี้ ราคาทองคำในตลาดโลกภายหลังผลการประชุมดังกล่าวปิดตลาดที่ 1,364.54 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเสี่ยงจากการลดขนาดและยุติมาตรการ QE เนื่องจากประธาน Fed กล่าวว่ายังคงมีความเป็นไปได้ที่จะพิจารณาปรับลดขนาดมาตรการ QE ในการประชุม FOMC ครั้งที่เหลือของปีนี้ ในวันที่ 29-30 ต.ค. 56 และวันที่ 17-18 ธ.ค. 56 โดยต้องพิจารณาตัวเลขทางเศรษฐกิจล่าสุดเป็นสำคัญ จึงควรเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
2. ผู้ว่าการ ธปท. ให้ความมั่นใจ ธปท. พร้อมเข้าดูแลหากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นวันนี้มีผลต่อเศรษฐกิจ
  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วแตะที่ระดับ 31.05 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศคงมาตรการ QE ว่า เป็นการแข็งค่าขึ้นในลักษณะที่สอดคล้องกับค่าเงินอื่นในภูมิภาค และธปท. พร้อมเข้าดูแลหากพบว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การตัดสินใจคงมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในครั้งนี้จะไม่มีผลกระทบต่อไทยมากนัก เพราะนอกจากไทยจะมีเครื่องมือและมาตรการในการรองรับเงินทุนไหลเข้าและไหลออกแล้ว ในด้านการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทนั้น ส่วนหนึ่งนักลงทุนในตลาดได้มีการ Price In ความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับมาตรการ QE ไว้ก่อนหน้านี้แล้วในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งนักลงทุนได้มีการขายสินทรัพย์เสี่ยงออกไปบ้าง และในอีกส่วนหนึ่งเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยที่ระดับ 168.8 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็น 2.6 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้นนั้น (ณ เดือน ส.ค. 56) มีปริมาณเพียงพอเพื่อรองรับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ตลาดคาดว่า อาจมีการปรับลดขนาดมาตรการ QE ในการประชุม FOMC ครั้งใดครั้งหนึ่งในอีก 2 ครั้งในปีนี้ จึงควรจะต้องมีการติดตามผลการประชุมดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป
3. มูลค่าการส่งออกญี่ปุ่นในเดือน ส.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 14.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ยอดการส่งออกญี่ปุ่น เดือน ส.ค. 56 ขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 14.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกญี่ปุ่นในช่วง 8 เดือนแรกของปี 56 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 6.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังจีนและสหภาพยุโรปที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่มูลค่าการนำเข้าในเดือนเดียวกัน ขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ 16.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ส.ค. 56 ขาดดุล -9.6 แสนล้านเยน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคการค้าระหว่างประเทศญี่ปุ่นมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานต่ำในปีที่ผ่านมา ผนวกกับมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าอันดับสำคัญโดยเฉพาะจีน และสหภาพยุโรป กลับมาขยายตัวเป็นบวกอย่างต่อเนื่องที่เฉลี่ยร้อยละ 2.9 และ 2.0 ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 56 ตามลำดับ อีกทั้งค่าเงินเยนอ่อนค่าลง ทำให้สินค้าส่งออกจากญี่ปุ่นมีข้อได้เปรียบด้านราคา อีกทั้งทำให้ผู้ส่งออกญี่ปุ่นมีรายได้จากการส่งออกในสกุลเยนมากขึ้น ซึ่งภาคการส่งออกนับเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปีนี้ ภายหลังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่นชุดปัจจุบันเริ่มส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจจริง สะท้อนจากความเสี่ยงด้านเงินฝืดที่เริ่มคลี่คลายลง จากอัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 56 จะขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.5 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 56) ซึ่งจากตัวเลขชี้วัดสำคัญทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจญี่ปุ่นในครั้งต่อไปในเดือน ก.ย. 56 ได้

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ