ฐานะการคลังภาคสาธารณะตามระบบสถิติเพื่อการศึกษาและวิเคราะห์นโยบายการคลัง(สศค. หรือ GFS) ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 30, 2013 09:35 —กระทรวงการคลัง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงฐานะการคลังของภาคสาธารณะ (รัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ) ตามระบบ สศค. หรือ GFS ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2556 ภาคสาธารณะมีรายได้รวม 5,479,322 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 521,736 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.5 สาเหตุสำคัญมาจากการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลที่สูงขึ้น เป็นสำคัญ สำหรับการเบิกจ่ายเงินของภาคสาธารณะมีจำนวน 5,585,767 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกัน ปีที่แล้ว 470,484 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.2 ส่งผลให้ดุลการคลังของภาคสาธารณะขาดดุล 1.06 แสนล้านบาท ลดลงจากการขาดดุลในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 51,251 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดดุลของรัฐบาลที่เป็นไปตามเป้าหมาย และการขาดดุลของรัฐวิสาหกิจเนื่องจากการลงทุน

นายสมชัยฯ สรุปว่า “ดุลการคลังของภาคสาธารณะตามระบบ สศค. หรือ GFS ในช่วง 9 เดือนแรก ของปีงบประมาณ 2556 ขาดดุล 1.06 แสนล้านบาทนั้นเป็นการดำเนินนโยบายขาดดุลตามความตั้งใจของรัฐบาล ในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศ”

ฐานะการคลังภาคสาธารณะ

(รัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ)

ตามระบบสถิติเพื่อการศึกษาและวิเคราะห์นโยบายการคลัง (สศค. หรือ GFS)

ไตรมาสที่ 3 (เมษายน — มิถุนายน 2556) และในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2556

1. ฐานะการคลังภาคสาธารณะในไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2556 (เมษายน — มิถุนายน 2556) เกินดุล 227,479 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 46,104 ล้านบาท โดยมีรายได้ 1,945,679 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 47,933 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.5 เป็นผลจากรัฐบาลมีรายได้จากภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น เป็นสำคัญ สำหรับผลการเบิกจ่ายมีทั้งสิ้น 1,718,200 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 1,829 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.1 ส่งผลให้ดุลการคลังภาคสาธารณะเกินดุล 227,479 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 46,104 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเกินดุลของทั้งรัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ

1.1 ฐานะการคลังรัฐบาล รัฐบาลมีรายได้รวม 821,820 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 82,254 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.1 ประกอบด้วยรายได้รัฐบาล 706,151 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 60,120 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการจัดเก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 17,257 9,377 และ 8,569 ล้านบาท ตามลำดับ และรายได้ของกองทุนนอกงบประมาณจำนวน 115,669 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 22,134 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีรายได้จากการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนจากการจำหน่ายเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ เพิ่มขึ้น 15,958 ล้านบาท

ด้านรายจ่ายมีจำนวนทั้งสิ้น 631,254 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 65,442 ล้านบาท ประกอบด้วยรายจ่ายรัฐบาล 555,469 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 69,876 ล้านบาท โดยเป็นผลจาก กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 3 มีรายจ่ายเงินกู้ต่างประเทศ 6,271 ล้านบาท รายจ่ายเพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำ 4,926 ล้านบาท รายจ่ายจากเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) 3,049 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายด้านการขนส่งระบบราง และพัฒนาด้านสาธารณสุข และรายจ่ายตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง (TKK) 1,475 ล้านบาท สำหรับกองทุนนอกงบประมาณมีรายจ่าย 60,063 ล้านบาท ต่ำช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 10,933 ล้านบาท เป็นผลจากกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองมีรายจ่ายดำเนินงานลดลง

ดุลการคลังของรัฐบาลในไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2556 เกินดุล 190,566 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 16,812 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.7

          1.2  ฐานะการคลังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อปท. จำนวน 7,853 แห่ง มีรายได้ 143,689 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 51,339 ล้านบาท หรือร้อยละ 55.6 เนื่องจาก อปท. มีรายได้ จากการจัดสรรภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บและแบ่งให้ เพิ่มขึ้น 26,626 ล้านบาท หรือร้อยละ 43.1 ซึ่งมีสาเหตุสำคัญ จากการได้รับจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มตาม พ.ร.บ. กำหนดแผนฯ รวม 6 งวด (ต.ค. 55 — มี.ค. 56) จำนวน 46,657 ล้านบาท ในขณะที่ช่วงเดียวกันของปีที่แล้วได้รับเพียง 3 งวด (ธ.ค. 55 — ก.พ. 56) จำนวน 21,817 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนของรัฐบาลเพิ่มขึ้นจำนวน 23,362 ล้านบาท  ในด้านรายจ่ายคาดว่า อปท. มีรายจ่ายจำนวน 129,475 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 17,054 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.2 เนื่องจาก มีการเบิกงบรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้น 13,685 ล้านบาท โดยเฉพาะเงินเดือน และค่าใช้สอย และมีการเบิกจ่ายเพื่อการลงทุนเพิ่มขึ้น 1,253 ล้านบาท จากรายได้และรายจ่ายดังกล่าว ส่งผลให้ดุลการคลัง           อปท. เกินดุล 14,214 ล้านบาท

1.3 ฐานะการคลังของรัฐวิสาหกิจ รัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินมีรายได้จำนวน 1,111,826 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 41,940 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.6 และมีรายจ่ายรวม 1,089,127 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 36,946 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.3 โดยรายจ่ายลงทุนที่สำคัญคือ โครงการจัดหาเครื่องบินปี 2553 - 2557 ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 4,221 ล้านบาท และโครงการเพิ่มทุน บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำนวน 2,738 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลการคลังของรัฐวิสาหกิจตามระบบ สศค. หรือ GFS เกินดุลทั้งสิ้น 22,699 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 18

          2. ฐานะการคลังภาคสาธารณะในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2556 (ตุลาคม 2555 — มิถุนายน 2556)                ขาดดุล 106,445 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 51,251 ล้านบาท โดยเป็นการขาดดุลของรัฐบาล เป็นสำคัญ ทั้งนี้ ภาคสาธารณะมีรายได้รวม 5,479,322 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 521,736 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.5 สาเหตุหลักมาจากรัฐบาลจัดเก็บรายได้จากฐานการบริโภคและภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น สำหรับการเบิกจ่ายของภาคสาธารณะรวมทั้งสิ้น 5,585,767 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 470,484 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.2

2.1 ฐานะการคลังรัฐบาล ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2556 มีรายได้ 2,119,274 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยรายได้รัฐบาล 1,714,237 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 238,696 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.2 เป็นผลจากภาษีที่เก็บจากฐานการบริโภคและภาษีเงินได้เป็นสำคัญ นอกจากนี้ กองทุน นอกงบประมาณมีรายได้รวม 405,037 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 85,596 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.8 มีสาเหตุสำคัญจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และกองทุนประกันสังคม มีรายได้เพิ่มขึ้น 36,083 23,820 และ 21,547 ล้านบาท สำหรับรายจ่ายมีจำนวนทั้งสิ้น 2,261,940 ล้านบาท ประกอบด้วยรายจ่ายรัฐบาล 1,930,499 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 213,892 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.5 นอกจากนี้ยังมีรายจ่ายเงินกู้ DPL จำนวน 10,992 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายด้านการขนส่งระบบรางและพัฒนาด้านสาธารณสุข รายจ่ายเพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำจำนวน 10,124 ล้านบาท รายจ่ายเงินกู้ต่างประเทศ 6,985 ล้านบาท และรายจ่าย TKK จำนวน 4,346 ล้านบาท สำหรับรายจ่ายกองทุนนอกงบประมาณมีจำนวน 298,993 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 16,481 ล้านบาท เนื่องจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีรายจ่าย ดำเนินงานเพิ่มขึ้นจำนวน 16,729 ล้านบาท

ดุลการคลังของรัฐบาลในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2556 ขาดดุล 142,665 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 83,079 ล้านบาท

2.2 ฐานะการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อปท. จำนวน 7,853 แห่ง มีรายได้รวม 420,539 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว 57,005 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.7 โดยมีสาเหตุสำคัญจาก การได้รับเงินอุดหนุนของรัฐบาล และรายได้จัดสรรจากภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บและแบ่งให้เพิ่มขึ้น 27,833 และ 25,999 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.8 และ 18.0 ตามลำดับ ในด้านรายจ่ายคาดว่า อปท. มีรายจ่ายจำนวน 335,951 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 35,763 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.9 สาเหตุสำคัญเป็นการเบิกงบรายจ่าย ประจำเพิ่มขึ้น 26,993 ล้านบาท โดยเฉพาะเงินเดือน และค่าใช้สอย จากรายได้และรายจ่ายดังกล่าว ส่งผลให้ ดุลการคลังของ อปท. เกินดุล 84,587 ล้านบาท

2.3 ฐานะการคลังของรัฐวิสาหกิจ รัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินมีรายได้จำนวน 3,427,719 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 214,808 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.7 และมีรายจ่ายจำนวน 3,476,086 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 267,877 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.3 โดยในส่วนงบลงทุนรายการที่สำคัญคือ งบลงทุน เพื่อการดำเนินงานปกติรายปีของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จำนวน 62,726 ล้านบาท และโครงการ จัดหาเครื่องบิน 14 ลำตามแผนวิสาหกิจปี 2547/48-2552/53 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 18,921 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลการคลังของรัฐวิสาหกิจตามระบบ สศค. หรือ GFS ขาดดุลทั้งสิ้น 48,366 ล้านบาท

3. สรุป จากภาวะเศรษฐกิจในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2556 ที่เริ่มชะลอตัวลงทั้งจากเศรษฐกิจโลกและแนวโน้มการชะลอตัวลงของการใช้จ่ายภายในประเทศ ส่งผลให้รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายขาดดุล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร 02 273 9020 ต่อ 3532

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 101/2556 27 กันยายน 2556--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ