รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 3 ตุลาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 3, 2013 12:14 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 3 ตุลาคม 2556

Summary:

1. ADB ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 56 เหลือร้อยละ 3.8

2. IEA ห่วงไทย เสี่ยงใช้พลังงานสูง

3. ส่งออกออสเตรเลียขยายตัวสูงถึงร้อยละ 12.9

Highlight:

1. ADB ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 56 เหลือร้อยละ 3.8
  • ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 56 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 4.9 มาเป็นร้อยละ 3.8 ต่อปี โดยเป็นผลมาจากเศรษฐกิจไทยในช่วงแรกขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยการส่งออกขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.0 จากต้นปีที่คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 7 ม แต่ยืนยันว่าไม่น่าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเหมือนปี 40 ตามที่หลายฝ่ายกังวล แม้ดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุล 3,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 3.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 56 แต่ประเมินว่าในปี 57 จะขาดดุลเพียงเล็กน้อยหรือสามารถเข้าสู่ภาวะสมดุลได้ ประกอบกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับสูงเพียงพอรองรับการนำเข้าได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุดในช่วงเดือน 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 3 ปี 56 บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ปี 56 โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าในเดือน ส.ค. 56 ที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้ง โดยขยายตัวร้อยละ 9.0 ต่อปี โดยได้รับอานิสงส์จากตลาดอเมริกา และสหภาพยุโรป ที่กลับมาขยายตัวได้ดี สำหรับเครื่องชี้ด้านการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณดีขี้นเช่นกัน เมื่อพิจารณาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศพบว่ายังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง โดยทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นอยู่ที่ 2.6 เท่า สามารถรองรับความผันผวนทางปัจจัยภายนอกประเทศได้เป็นอย่างดี ขณะที่เสถียรภาพในประเทศยังแข็งแกร่งจากอัตราการว่างงานที่ต่ำ (ล่าสุดอยู่ที่ 0.9) และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย.56 ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 56 และ 57 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 และ 5.1 ต่อปีตามลำดับ
2. IEA ห่วงไทย เสี่ยงใช้พลังงานสูง
  • กระทรวงพลังงานร่วมกับทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ได้เปิดเผยผลการศึกษา "แนวโน้มพลังงานโลกในอนาคตฉบับปี 2556 (World Energy Outlook 2013)" โดยคาดว่าความต้องการใช้พลังงานของโลกจะเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 80 ในปี 2578 ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงกว่าอัตราเติบโตเฉลี่ยของความต้องการใช้พลังงานของโลกกว่า 2 เท่า นอกจากนี้ EIA ยังแสดงความกังวลถึงการใช้พลังงานของไทยโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่มีปริมาณการนำเข้าจำนวนมาก ซึ่งคาดการณ์ว่าในอีก 22 ปีข้างหน้า ความมั่นคงด้านพลังงานของไทยจะมีความเสี่ยงสูงสุดในกลุ่มอาเซียนเนื่องจากมีปริมาณการใช้พลังงานและปริมาณการนำเข้าสูงที่สุดในอาเซียน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ประเทศไทยมีการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงต่างๆ ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันสำเร็จรูปเชื้อเพลิงอื่นๆ และถ่านหิน เพื่อใช้ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 55 มูลค่าการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงอยู่ที่ 245.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และในช่วง 8 เดือนแรกของปี 56 อยู่ที่ 171.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี ประเทศไทยได้มีการจัดทำแผนอนุรักษ์พลังงานที่ชัดเจนโดยได้ตั้งเป้าลดการใช้พลังงานร้อยละ 25 ในปี 2573 ซึ่งถือว่าไทยเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ที่มีการดำเนินแผนอนุรักษ์พลังงานอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว นอกจากนี้ แผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลโดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งมีแผนการลงทุนในช่วงปี 2556-2563 ถือเป็นยุทธศาสตร์การลงทุนที่สำคัญต่อประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งสามารถลดการใช้การใช้พลังงานในประเทศลงได้ร้อยละ 10 และลดต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 18-20 เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 10
3. ส่งออกออสเตรเลียขยายตัวสูงถึงร้อยละ 12.9
  • สำนักงานสถิติของออสเตรเลีย เปิดเผยข้อมูลล่าสุดของมูลค่าการส่งออกสินค้า ณ เดือน ส.ค. 56 ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 12.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนมูลค่าการนำเข้า เดือน ส.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ดุลการค้า เดือน ส.ค. 56 เกินดุลถึง 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าของออสเตรเลียที่ขยายตัวถึงร้อยละ 12.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 จากการส่งออกสินค้าดิบที่ขยายตัวถึงร้อยละ 31.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน รวมทั้ง สิงค้าอุตสาหกรรมที่ยังขยายตัวสูงถึงร้อยละ 23.9 ส่วนหนึ่งจากเงินดอลลาร์ออสเตรเลียที่อ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มูลค่าการส่งออกในช่วง 8 เดือนแรก ขยายตัวถึงร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนมูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 3.8 แสดงให้เห็นถึงสัญญาณการขยายตัวของเศรษฐกิจออสเตรเลีย ประกอบกับ ยอดค้าปลีกในเดือน ส.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจออสเตรเลียขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 ในปี 2556 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 56)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ