Macro Morning Focus ประจำวันที่ 4 ตุลาคม 2556
1. หอการค้าเผย ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย. 56 ต่ำสุดในรอบ 1 ปี
2. ธปท. เผย สภาพคล่องแบงค์ฯ ตึงตัวที่สุดในรอบ 13 ปี
3. Moody's ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของฟิลิปปินส์ขึ้น 1 ระดับ มาอยู่ที่ Baa3
Highlight:
- ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม เดือน ก.ย.อยู่ที่ระดับ 67.9 จุด ลดลงจากเดือน ส.ค. 56 ที่อยู่ที่ระดับ 69.5 จุด และเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 1 ปี ผลจากแนวโน้มเศรษฐกิจปี 56 ที่คาดว่าจะขยายตัวชะลอลง อีกทั้งผู้บริโภคยังมีความกังวลจากสถานการณ์น้ำท่วมที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและความล่าช้าของ พรบ. งบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 57
- สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 3 ปี 56 บ่งชี้การขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้จากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายในประเทศ ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 3 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากไตรมาส 2 ปี 56 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.3 และคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่เหลือของปีจะขยายตัวเร่งขึ้น เนื่องจากการจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อของขวัญของกำนัลในเทศกาลวันหยุดในช่วงปลายปี อย่างไรก็ตาม การบริโภคสินค้าคงทนอาจมีการหดตัวบ้าง จากปัจจัยฐานสูงในปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ครม. ได้มีมติเห็นชอบให้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปีงบประมาณ 57 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตัวเลขสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากรวมตั๋วแลกเงิน (B/E) ของระบบธนาคารพาณิชย์ ในเดือน ส.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 95.7 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากร้อยละ 94.9 จากเดือนก่อนหน้า โดยระดับดังกล่าวถือว่าสูงสุดในรอบ 13 ปีที่ผ่านมา สะท้อนถึง สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ที่มีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สภาพคล่องส่วนเกินที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจยังคงมีอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ภาพรวมสถาบันการเงินยังคงไม่เป็นประเด็นที่น่ากังวลมากนัก
- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสินเชื่อที่ขยายตัวในอัตราที่เร่งกว่ายอดเงินฝาก โดยล่าสุดในเดือน ส.ค. 56 สินเชื่อรวมและยอดเงินฝากของสถาบันการเงินขยายตัวร้อยละ 11.9 และ 8.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ สะท้อนว่าสินเชื่อยังคงช่วยสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม สัดส่วนดังกล่าวที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นอาจส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น พร้อมทั้งออกผลิตภัณฑ์เงินฝากผลตอบแทนสูงเพื่อดึงดูดเงินฝากเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อในช่วงที่เหลือของปี 56 และต่อไปได้ ประกอบกับการดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินจากตลาดผ่านพันธบัตร ธปท. ที่มียอดคงค้างกว่า 3 ล้านล้านบาท ณ เดือน ส.ค. 56 นั้น ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ ธปท. มีความสามารถในการบริหารจัดการสภาพคล่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- บริษัท Moodys ปรับขึ้นอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลฟิลิปปินส์ 1 ระดับ จากระดับ Ba1 เป็น Baa3 โดยให้เหตุผลที่ปรับขึ้นอันดับว่า เพราะเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์แข็งแกร่ง ประกอบมีการดำเนินมาตรการควบคุมภาคการคลังให้เข้าสู่สมดุล (Fiscal Consolidation) การเมืองมีเสถียรภาพ และมีการปรับปรุงระบบธรรมาภิบาล ทั้งนี้ Moodys ยังได้ปรับแนวโน้ม (Outlook) เป็น "เชิงบวก" อีกด้วย
- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ Moody's ปรับอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรรัฐบาลของฟิลิปปินส์เป็นสิ่งที่เป็นไปตามความคาด เนื่องจากเศรษฐกิจฟิลิปปินส์มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สะท้อนจาก GDP ที่ขยายตัวในระดับร้อยละ 7.0 ต่อเนื่องกัน 4 ไตรมาส ล่าสุดไตรมาสที่ 2 ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สวนทางกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ซึ่งเป็นผลจากโครงสร้างเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ที่เป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนของการบริโภคเอกชนสูงถึงร้อยละ 70.5 ของ GDP (สัดส่วนปี 55) จึงทำให้ฟิลิปปินส์ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่พึ่งการส่งออกเป็นหลัก ประกอบกับรัฐบาลชุดปัจจุบันของฟิลิปปินส์เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มการจ้างงานผ่านโครงการลงทุนภาครัฐ ในขณะที่พยายามรักษาสมดุลของดุลงบประมาณ เช่น การเพิ่มรายได้ภาครัฐด้วยการขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เป็นต้น ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ว่า ในปี 56 เศรษฐกิจฟิลิปปินส์จะขยายตัวร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 56)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257