รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 8 ตุลาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 8, 2013 13:36 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 8 ตุลาคม 2556

Summary:

1. "เวิลด์แบงก์" คาด GDP ไทยปีนี้โตร้อยละ 4.0

2. CPF ยอมรับ ปี 56 ส่งออกกุ้งวูบ

3. เวียดนามคาดว่าจะส่งออกยางพาราได้เพิ่มขึ้นประมาณ 5.6% ในปีนี้

Highlight:

1. "เวิลด์แบงก์" คาด GDP ไทยปีนี้โตร้อยละ 4.0
  • ธนาคารโลกหรือเวิลด์แบงก์คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้โตร้อยละ 4.0 โดยมองว่าในช่วงครึ่งปีแรกมาจากการบริโภคภาคครัวเรือนเป็นหลัก ซึ่งได้รับผลจากการกระตุ้นในโครงการรถยนต์คันแรก ขณะที่การส่งออกที่ทรุดตัวในช่วงครึ่งปีแรกนั้นจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคครัวเรือนคาดว่าจะขยายตัวช้าลง ทั้งนี้ เวิลด์แบงก์ ยังคาดว่า เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะเติบโตสูงขึ้น จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 56 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5 - 4.0 แม้ว่าการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานสูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเร่งการลงทุนไปเพื่อซ่อมแซมความเสียหายจากอุทกภัย ในขณะที่ปี 57 คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ ร้อยละ 5.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.6 - 5.6) โดยได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของการส่งออกสินค้าและบริการ อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ การเบิกจ่ายเงิน เพื่อใช้ในการลงทุนของภาครัฐที่ล่าช้า และปัจจัยเสี่ยงภายนอก คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนของเงินทุนไหลเข้าออก ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย
2. CPF ยอมรับ ปี 56 ส่งออกกุ้งวูบ
  • บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) คาดปริมาณและมูลค่าส่งออกกุ้งในปีนี้จะลดลงจากปีก่อนเนื่องจากผลกระทบจากปัญหาโรคระบาด EMS (Early Mortality Syndrome) โดยประเมินว่ายอดส่งออกกุ้งปีนี้จะอยู่ที่ 3 หมื่นตัน ลดลงจาก 5.4 หมื่นตันในปี 55 ส่วนมูลค่าอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท ลดลงจาก 1.6 หมื่นล้านบาทในปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่ส่งกระทบต่อปริมาณการผลิตและการส่งออกกุ้งของไทยเป็นผลมาจากสภาพอากาศในช่วงปลายปี 55 ถึง ต้นปี 56 ที่มีฝนตกหนัก ทำให้เกษตรกรไม่สามารถลงกุ้งได้ช่วงก่อนหน้านี้ ประกอบกับโรคระบาด EMS (Early Mortality Syndrome) หรือโรคตายด่วนในกุ้ง ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตกุ้งให้ออกมาน้อย ทำให้ขาดแคลนกุ้งจนทำให้ราคากุ้งในประเทศทำสถิติสูงสุดในรอบ 15 ปี (ราคากุ้งขาว ณ วันที่ 7 ต.ค. 56 ขนาด 40 ตัว/ก.ก. อยู่ที่ 280 บาท/ก.ก.) ส่งผลให้ผู้ส่งออกลดกำลังการผลิตลงครึ่งหนึ่ง สะท้อนได้จากดัชนีผลผลิตกุ้งแช่แข็ง 8 เดือนแรกหดตัวสูงร้อยละ -46.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การส่งออกก็หดตัวในระดับสูงเช่นเดียวกัน โดยการส่งออกกุ้งในช่วง 8 เดือนแรกของปี 56 มีมูลค่า 621.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวสูงที่ร้อยละ -36.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งที่หดตัวสูงถึงร้อยละ -38.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวในทุกกลุ่มตลาดส่งออกหลัก ทั้งประเทศ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร แคนาดา และเวียดนาม
3. เวียดนามคาดว่าจะส่งออกยางพาราได้เพิ่มขึ้นประมาณ 5.6% ในปีนี้
  • เวียดนามคาดว่าจะส่งออกยางพาราได้เพิ่มขึ้นประมาณ 5.6% ในปีนี้เมื่อเทียบกับปีก่อน หรือ 4.5 พันล้านดอลลาร์ เพราะรัฐบาลส่งเสริมและขยายพื้นที่ปลูกยางพาราอย่างจริงจังตั้งแต่ปีที่แล้วจนกลายเป็นผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยางพาราถือเป็นพืชส่งออกที่ทำรายได้ให้กับเวียดนามเป็นอันดับที่ 8 โดยเฉลี่ยแล้วประเทศที่นำเข้ายางพาราจากเวียดนามมากที่สุด คือ จีน คิดเป็นประมาณร้อยละ 66 ของปริมาณการส่งออกยางพาราทั้งหมดของเวียดนาม เวียดนามสามารถผลิตยางพาราได้ประมาณร้อยละ 85 ของการส่งออกทั้งหมด และนำเข้าจากประเทศอื่น เช่น ไทย กัมพูชา ซึ่งเวียดนามพัฒนาพื้นที่ปลูกยางพาราเชิงการค้าอย่างจริงจังในปี 2549 โดยรัฐบาลเวียดนามมีนโยบายขยายพื้นที่การเพาะปลูกยางพาราให้ถึง 700,000 เฮกตาร์ในปี 2558 พื้นที่ปลูกยางพาราส่วนใหญ่ของเวียดนามอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ รองลงมาคือพื้นที่ราบสูง ซึ่งขณะนี้ เวียดนามมีแผนที่จะเชื้อเชิญให้นักลงทุนอินเดียมาลงทุนในอุตสาหกรรมยางพาราในเวียดนาม เพราะอินเดียเองก็ก็หนึ่งในประเทศที่มีอุปสงค์นำเข้ายางพาราจากเวียดนามในระดับที่สูงที่ 51,273 ตันในปี 2012-13

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ