ในส่วนของความเป็นมาของการจัดประชุม APTF ในประเทศไทยนั้น กระทรวงการคลังได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 — 24 มิถุนายน 2549 ณ โรงแรม Conrad กรุงเทพฯ ซึ่งการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุม APTF ครั้งที่ 3 ในครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 90 คน สำหรับการประชุม APTF ครั้งที่ 10 ซึ่งกระทรวงการคลังได้มีโอกาสร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเป็นครั้งที่ 2 นี้ จะมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 150 คน โดยในส่วนของภาครัฐจะมีผู้แทนจากกลุ่มประเทศภายในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ออสเตรเลีย กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า เวียดนาม ปากีสถาน ไต้หวัน และหมู่เกาะโซโลมอน สำหรับภาควิชาการจะมีผู้แทนจากมูลนิธิเพื่อการสนับสนุนการพัฒนาวิชาการทางนิติศาสตร์ มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง และสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา เป็นต้น ส่วนภาคเอกชนจะมีผู้แทนจากสาขาต่างๆ เข้าร่วมการประชุม อาทิ ผู้แทนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย บริษัท Chevron International Pte. Ltd จากสิงคโปร์ และบริษัท Coca-Cola Southeast Asia เป็นต้น
โดยในการประชุมครั้งนี้ ดร. อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุม ซึ่งจะเริ่มขึ้นในช่วงบ่ายของวันที่ 2 ตุลาคม 2556 หลังจากนั้นจะมีการกล่าวปาฐกภาพิเศษโดย Dr. Partho Shome ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประเทศอินเดียภายใต้หัวข้อ “VAT/GST in the Future” ส่วนช่วงที่เหลือของการประชุมในระหว่างวันที่ 2 — 4 ตุลาคม 2556 จะมีการนำเสนอและหารือในหัวข้อภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมต่างๆ ที่น่าสนใจ อาทิ (1) รายงานความคืบหน้าของการศึกษาระบบภาษีสรรพสามิตของกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN Excise Tax Study Group) (2) การพัฒนาคู่มือการกำหนดราคาโอน (Transfer Pricing) ระหว่าง
ประเทศคู่สัญญาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการเก็บภาษีจากการใช้ทรัพยากรในภูมิภาค (Development of AEC Transfer Pricing Guidelines และ Establishing a Workable Regime on Natural Resources Taxation in the Region) (3) การศึกษาช่องว่างทางภาษีที่จะส่งผลให้รายได้ที่จัดเก็บในอนาคตลดลง (Tax Base/Tax Mix — Need to Consider Tax Gap Studies และ Base Erosion/Profit Shifting- BEPS Report Prepared for G-20) (4) ผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการปฏิรูปภาษี (Wider Stakeholder Community in Tax Reforms) โดยจะมีผู้แทนจากประเทศไทยร่วมนำเสนอผลการศึกษาเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (5) การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษี และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคบริการ (Sharing Experiences on Tax Administration Reform และ Industry-Specific Taxation Issues Impacting the Services Sector) และ (6) ภาษีการค้าระหว่างประเทศและการปรับโครงสร้างภาษีให้สอดคล้องกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Interaction of International Tax and Trade Issues และ Tax Implications of the Demographic Realities in Aging Asia) เป็นต้น
สำหรับผลที่ได้จากการประชุมครั้งนี้คาดว่า จะมีส่วนสำคัญในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับมาตรการภาษี รวมทั้งให้ข้อคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ ที่คาดว่าจะมีส่วนช่วยให้ภาครัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างภาษีในประเทศไทยเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมและสนับสนุนการค้า การลงทุนระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคได้อีกทางหนึ่ง
สำนักนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 02 273 9020 ต่อ 3513
--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 103/2556 2 ตุลาคม 2556--