รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 9 ตุลาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 9, 2013 11:10 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 9 ตุลาคม 2556

Summary:

1. นายกฯเผยในที่ประชุมเอเปคระบุโครงการ 2 ล้านล้าน ช่วยเชื่อมโยงระดับภูมิภาค

2. สภาพัฒน์ คาดเศรษฐกิจไทยปี 56 ขยายตัวได้ในช่วงร้อยละ 3.8-4.3 ต่อปี

3. ธนาคารกลางอินโดนีเซียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 7.25

Highlight:

1. นายกฯเผยในที่ประชุมเอเปคระบุโครงการ 2 ล้านล้าน ช่วยเชื่อมโยงระดับภูมิภาค
  • นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ที่ประเทศบรูไน ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าวมีการหารือถึงความเชื่อมโยง หรือ Connectivity โดยได้เสนอความเห็นในประเด็นของการเชื่อมโยงในภูมิภาค ซึ่งไทยให้ความสำคัญ และสนับสนุนให้เป็นวาระเร่งด่วนของเอเปค และได้กล่าวในที่ประชุมของช่องว่างที่สองคือช่องว่างจากการเชื่อมโยงภายในประเทศว่า การเชื่อมโยงนั้นต้องเริ่มจากในประเทศ ไทยจึงมีแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งไม่เชื่อมโยงแต่เฉพาะไทยกับอาเซียน และต่อไปยังภูมิภาคอื่นเท่านั้น แต่ยังสร้างงาน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การลงทุนภายใต้ ร่าง พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... วงเงิน 2.0 ล้านล้านบาท นั้น เพื่อเป็นการพัฒนาโครงข่ายระบบการขนส่งของประเทศให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถด้านการค้า การลงทุน และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งการลงทุนดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งเชิงเศรษฐกิจทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการจ้างงาน โดยคาดว่า Real GDP จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากกรณีที่ไม่มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว เฉลี่ยในช่วงปี 56 - 63 จะขยายตัวร้อยละ 1.0 ต่อปี การจ้างงานรวมของประเทศจะเพิ่มขึ้น ประมาณ 5 แสนตำแหน่ง
2. สภาพัฒน์ คาดเศรษฐกิจไทยปี 56 ขยายตัวได้ในช่วงร้อยละ 3.8-4.3 ต่อปี
  • รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) รายงานต่อคณะรัฐมนตรี ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 56 คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.8-4.3 ต่อปี ซึ่งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีข้อจำกัดที่สำคัญ คือ ปัญหาน้ำท่วม การแก้ปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ที่ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ขณะที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 56 จะอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 2.3-2.8 ต่อปี และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลประมาณร้อยละ 2.3 ของ GDP
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่จะส่งผลต่อ 1) ภาคการส่งออกซึ่งมีสัดส่วนในโครงสร้างเศรษฐกิจไทยสูงถึงร้อยละ 75 ของ Nominal GDP และ 2) ความผันผวนของเงินทุนไหลเข้าออกซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ การเบิกจ่ายเงิน เพื่อใช้ในการลงทุนของภาครัฐ ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 56 โดยสศค. คาดการณ์ ณ เดือนก.ย. 56 ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 56 จะขยายตัวได้ในช่วงร้อยละ 3.5 - 4.0 และในปี 57 คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 5.1 ต่อปี
3. ธนาคารกลางอินโดนีเซียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 7.25
  • ธนาคารกลางอินโดนีเซียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 7.25 ในการประชุมวันนี้ หลังจากที่ได้คุมเข้มด้านการเงินมากที่สุดในรอบเกือบ 8 ปี ขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อคลี่คลายลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงที่ผ่านอัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าในหมวดอาหารและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นสำคัญ นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังคงประสบกับปัญหาเงินทุนไหลออกจากทั้งตลาดหลักทรัพย์ และตลาดตราสารหนี้ นับตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค.56 และทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงเดือน มิ.ย. 56 ซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้เงินรูเปียห์อ่อนค่าลงอย่างมาก โดยเฉลี่ยในเดือน ก.ย. 56 เงินรูเปียห์ อ่อนค่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 21.1 และหากเทียบกับต้นปี 56 พบว่า อ่อนค่าประมาณร้อยละ 19.7 แม้ว่าในแรงกดดันด้านเงินเฟ้อคลี่คลายลงเล็กน้อย สะท้อนได้จากอัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียเดือน ก.ย. 56 ปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 8.4 จากร้อยละ 8.8 ในเดือนก่อนหน้า แต่ก็ยังสูงกว่ากรอบนโยบายการเงินที่กำหนดอัตราเงินเฟ้อในปี 56 ที่ร้อยละ 4.5 ดังนั้นการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวได้ นอกจากนี้ ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้มีมาตรการเพื่อป้องกันการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้าย เช่น การปรับเวลาการถือครองเงินฝากเงินตราสกุลต่างประเทศให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น จาก 7 วัน 14 วัน และ 30 วัน เป็นตั้งแต่ 1 วันถึงสูงสุด 12 เดือน และการผ่อนคลายข้อจำกัดในการแลกเงินตราต่างประเทศสำหรับผู้ส่งออกที่ใช้สำหรับกระบวนการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ เป็นต้น

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ