รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 16 ตุลาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 16, 2013 11:48 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 16 ตุลาคม 2556

Summary:

1.ครม.เห็นชอบขยายเวลามาตรการยกเว้นภาษีสำหรับวิสาหกิจชุมชนอีก 3 ปี

2.BOI เผยยอดขอรับส่งเสริมลงทุน 9 เดือน มีมูลค่า 7.3 แสนลบ.เพิ่มจากปีก่อน 0.7%

3. ผลผลิตอุตสาหกรรมยูโรโซนในเดือน ส.ค. 56 เพิ่มขึ้นสูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

Highlight:

1. ครม.เห็นชอบขยายเวลามาตรการยกเว้นภาษีสำหรับวิสาหกิจชุมชนอีก 3 ปี
  • คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันอังคารที่ 15 ตุลาคม 2556 อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร มีสาระสำคัญ คือ การขยายระยะเวลา การกำหนดให้เงินได้ของวิสาหกิจชุมชุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินปีละไม่เกินหนึ่งล้านแปดแสนบาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า วิสาหกิจชุมชน คือ กิจการของชุมชนเกี่ยวกับการผลิตสินค้า การให้บริการหรือการอื่น ๆ ที่ดำเนินการโดยคณะบุคคลที่มีความผูกพัน มีวิถีชีวิตร่วมกันและรวมตัวกันประกอบกิจการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลในรูปแบบใด หรือไม่เป็นนิติบุคคล เพื่อสร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชนและระหว่างชุมชน ปัจจุบันประเทศไทยมีวิสาหกิจชุมชนประมาณ 11,740 ราย ได้แก่ (1) ออมทรัพย์ (ชุมชน) จำนวน 3,866 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 32.9 ของจำนวนวิสาหกิจชุมชน (2) ร้านค้าชุมชนจำนวน 1,863 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 15.9 ของจำนวนวิสาหกิจชุมชน (3) สุขภาพจำนวน 531 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 4.5 ของจำนวนวิสาหกิจชุมชน และ (4) การท่องเที่ยว 406 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 3.5 ของจำนวนวิสาหกิจชุมชน ทั้งนี้ มาตรการเวลามาตรการยกเว้นภาษีสำหรับวิสาหกิจชุมชนอีก 3 ปี จะช่วยให้วิสาหกิจชุมชน ที่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กได้รับการสนับสนุนและบรรเทาภาระอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การยกเว้นภาษีเงินได้จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของรัฐบาลเล็กน้อย แต่จะมีส่วนช่วยให้วิสาหกิจชุมชนได้มีการเรียนรู้ทางด้านภาษีและบัญชี เพิ่มความโปร่งใส และพัฒนาให้มีความพร้อมสำหรับการแข่งขันทางการค้าในอนาคต ซึ่งสอดคล้แงกับเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน
2. BOI เผยยอดขอรับส่งเสริมลงทุน 9 เดือน มีมูลค่า 7.3 แสนลบ.เพิ่มจากปีก่อน 0.7%
  • คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.- ก.ย. 56) มีนักลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 1,431 โครงการ เงินลงทุน 737,800 ล้านบาท โดยมีจำนวนโครงการปรับลดลงเล็กน้อย ประมาณร้อยละ 6.3 จากช่วงเดียวกันปี 55 ที่มีจำนวน 1,528 โครงการ ขณะที่มูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันของปี 2555 ที่มีมูลค่าเงินลงทุน 732,000 ล้านบาทสศค. วิเคราะห์ว่า ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนที่ยังคงขยายตัวได้ดีมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ (1) กลุ่มบริการและสาธารณูปโภค (2) กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง (3) กลุ่มเกษตรกรรม และผลิตผลจากการเกษตร และ (4) กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นสำคัญ ทั้งนี้ การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 9 เดือนแรกมีเงินลงทุนรวม 350.7 พันล้านบาท และมีโครงการลงทุนจำนวน 853 โครงการ โดยในช่วง 9 เดือนมีนักลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยสูงสุด ได้แก่ (1) นักลงทุนญี่ปุ่น มีการขอรับส่งเสริมจำนวน 448 โครงการ เงินลงทุนจำนวน 211.3 พันล้านบาท (2) นักลงทุนสหรัฐฯ มีการขอรับส่งเสริมจำนวน 44 โครงการ เงินลงทุนจำนวน 8.2 พันล้านบาท เป็นสำคัญ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ยังคงมีความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทย
3. ผลผลิตอุตสาหกรรมยูโรโซนในเดือน ส.ค. 56 เพิ่มขึ้นสูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
  • สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป เปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซนปรับตัวขึ้นร้อยละ 1.0 ในเดือน ส.ค.56 เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. 56 สูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ทั้งนี้ เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร 17 ประเทศ หลุดพ้นจากภาวะถดถอยในไตรมาส 2 เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 0.3 จากช่วงไตรมาสก่อนหน้า โดยมีความหวังว่าอัตราการขยายตัวในไตรมาส 3 อาจสูงขึ้นอีก หลังจากที่ผลสำรวจและข้อมูลเศรษฐกิจหลายตัวบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจยูโรโซนฟื้นตัวในวงกว้างมากขึ้น ไม่เฉพาะแต่ในเยอรมนี ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยูโรโซน โดยล่าสุดผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนส.ค. 56 ของเยอรมนี ฝรั่งเศส และสเปนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 0.2 และ 0.1 เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. 56 ตามลำดับ ขณะที่ อิตาลีลดลงร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. 56
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลล่าสุดในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 3 ปี 56 เศรษฐกิจยูโรโซนเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคบริการ ที่กลับมาเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 50.0 จุด มาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 50.8 และ 50.2 จุด ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากวิกฤติหนี้สาธารณะที่เริ่มบรรเทาลง ขณะที่ อุปสงค์ในประเทศส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนส.ค. 56 ที่เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 มาอยู่ที่ระดับเฉลี่ยที่ -15.6 จุด ทั้งนี้ สศค.คาดการณ์ ณ เดือนก.ย. 56 ว่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนในปี 56 จะหดตัวที่ร้อยละ -0.5 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -1.0 ถึง 0.0) ขณะที่ในปี 57 คาดว่า เศรษฐกิจยูโรโซนจะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี ส่วนหนึ่งจากปัจจัยฐานต่ำ ประกอบกับวิกฤติหนี้สาธารณะที่คาดว่าจะคลี่คลายอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ