ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลปีงบประมาณ 2556 (ตุลาคม 2555 — กันยายน 2556)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 21, 2013 10:25 —กระทรวงการคลัง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2556 (ตุลาคม 2555 — กันยายน 2556) รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ โดยจัดเก็บได้ 2,157,474 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 57,474 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.7 และ สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 9.2 โดยสาเหตุสำคัญมาจากการจัดเก็บรายได้ของส่วนราชการอื่นที่สูงกว่าเป้าหมายจำนวน 47,868 ล้านบาท หรือร้อยละ 45.7 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดเก็บรายได้สัมปทานปิโตรเลียม สูงกว่าเป้าหมาย นอกจากนี้ ยังมีรายได้พิเศษนอกเหนือจากที่ประมาณการไว้ที่สำคัญ เช่น รายได้จาก การประมูลให้ใช้คลื่นความถี่ 3G ย่าน 2.1 GHz และการส่งคืนเงินที่กันไว้เพื่อชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับ ผู้ส่งออกสินค้า เป็นต้น ทั้งนี้ ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญได้แก่ ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สะท้อนถึงกิจกรรมและธุรกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังดำเนินไปได้ด้วยดี ประกอบกับผลจากมาตรการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภาครัฐที่ทำให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีนี้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยในปีนี้การจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลังสูงกว่าเป้าหมาย 9,057 ล้านบาท

ทั้งนี้ นายสมชัยฯ สรุปว่า “ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในปีงบประมาณ 2556 ที่สูงกว่าเป้าหมายถึงกว่าห้าหมื่นล้านบาท ส่งผลให้ฐานะการคลังของประเทศมีความมั่นคงและเหมาะสมต่อการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีงบประมาณต่อไป”

ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลปีงบประมาณ 2556 (ตุลาคม 2555 — กันยายน 2556)

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 2,157,474 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 57,474 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.7 (สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 9.2) โดยการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลังสูงกว่าเป้าหมาย 9,057 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.4 ประกอบกับการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นและการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าเป้าหมาย 49,916 ล้านบาท และ 1,448 ล้านบาท หรือร้อยละ 45.8 และร้อยละ 1.4 ตามลำดับ

ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้

1. กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 1,764,707 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 9,293 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.5 (สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 9.1) สาเหตุสำคัญมาจากภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 47,501 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.4 (แต่สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 8.8) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีนี้ยังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 ส่งผลให้การชำระภาษีจากกำไรสุทธิรอบปีบัญชี (ภ.ง.ด.50) และจากประมาณการกำไรสุทธิครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (ภ.ง.ด.51) จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 11,913 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.7 เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย สืบเนื่องจากมูลค่านำเข้าที่ชะลอตัวลง ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคในประเทศยังจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย สะท้อนการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ (1) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 24,034 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.7 สะท้อนถึงรายได้ภาคครัวเรือน โดยเฉพาะฐานเงินเดือนและฐานเงินฝากที่ขยายตัวได้ดี (2) ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 16,291 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.8 สืบเนื่องจากผลประกอบการในธุรกิจปิโตรเลียมที่เติบโตดี และ (3) ภาษีธุรกิจเฉพาะจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 8,271 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.4 สาเหตุสำคัญมาจากภาษีที่เก็บจากธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย

2. กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 432,868 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 20,868 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.1 (สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 14.0) โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญได้แก่ (1) ภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 31,874 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.1 สืบเนื่องจากโครงการรถยนต์คันแรกเป็นสำคัญ (2) ภาษียาสูบจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 7,891 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.2 เนื่องจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบเมื่อเดือนสิงหาคม 2555 และ (3) ภาษีเบียร์จัดเก็บได้ สูงกว่าเป้าหมาย 3,086 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.7 จากปริมาณการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี ภาษีน้ำมันและภาษีสุราจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 17,198 และ 7,329 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.3 และ 12.2 ตามลำดับ

3. กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 113,382 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 2,518 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.2 (ต่ำกว่าปีที่แล้วร้อยละ 4.7) โดยอากรขาเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 2,982 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 2.6 เป็นผลจากมูลค่านำเข้าที่ชะลอตัวลง ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาท ในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2556 (ตุลาคม 2555 — สิงหาคม 2556) ขยายตัวร้อยละ 7.4 และร้อยละ 4.3 ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าอัตราการขยายตัวที่ประมาณการไว้ สำหรับสินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบรถยนต์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เหล็กและเหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า

4. รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 101,448 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 1,448 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.4 (ต่ำกว่าปีที่แล้วร้อยละ 17.4) โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้/เงินปันผลสูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ บมจ.ทีโอที ธนาคารออมสิน และบมจ.กสท โทรคมนาคม

5. หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 159,016 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 49,916 ล้านบาท หรือร้อยละ 45.8 (สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 36.3) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดเก็บรายได้สัมปทานปิโตรเลียมสูงกว่าเป้าหมาย เนื่องจากปริมาณปิโตรเลียมที่ขุดเจาะสูงกว่าที่คาดไว้ ประกอบกับกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมาย 2,048 ล้านบาท หรือร้อยละ 46.5 สืบเนื่องจากการจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน และเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ยังมีรายได้พิเศษนอกเหนือจากที่ประมาณการไว้ที่สำคัญ เช่น รายได้จากการประมูล ให้ใช้คลื่นความถี่ 3G ย่าน 2.1 GHz จำนวน 20,843 ล้านบาท การส่งคืนเงินที่กันไว้เพื่อชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับ ผู้ส่งออกสินค้า จำนวน 8,227 ล้านบาท และการเหลื่อมนำส่งรายได้จากกำไรสุทธิประจำปี 2553 ของ กสทช. จำนวน 1,655 ล้านบาท เป็นต้น

6. การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 287,641 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 7,141 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.5 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 232,112 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 4,912 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.2 และการคืนภาษีอื่นๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) 55,529 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,229 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.2

7. การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 15,701 ล้านบาทสูงกว่าประมาณการ 101 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.6 และเงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 16,992 ล้านบาท ใกล้เคียงกับที่ประมาณการไว้

8. การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผน

และขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ จำนวน 93,613 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4,287 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.4 เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต่ำกว่าประมาณการและการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่สูงกว่าประมาณการ (การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้ อปท. จะจัดสรรจากฐานจัดเก็บสุทธิคือภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บหักการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม)

สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. 02 273 9020 ต่อ 3543 และ 3569

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 108/2556 18 ตุลาคม 2556--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ