รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 14 - 18 ตุลาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 21, 2013 14:20 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในปี งปม. 56 (ต.ค. 55 - ก.ย. 56) ได้จำนวน 2,157 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และสูงกว่าประมาณการตามเอกสาร งปม. 57.4 พันล้านบาท หรือร้อยละ 2.7 โดยมีรายการสำคัญดังนี้ (1) ภาษีฐานรายได้จัดเก็บได้ 891.5 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนอุปสงค์ภายในประเทศและรายได้ภาคครัวเรือนที่ยังขยายตัวได้ดี และภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ลดลงร้อยละ 8.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (2) ภาษีฐานบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จัดเก็บได้ 698.1 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภค (ภ.พ.30) จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนการบริโภคที่เพิ่มขึ้นตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ภาษีจากการนำเข้าจัดเก็บได้เพิ่มขึ้น เพียงร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากอัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าที่ชะลอลง สอดคล้องกับอากรขาเข้าที่จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -4.9 อย่างไรก็ดี ภาษีรถยนต์จัดเก็บได้ 153.9 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และส่วนราชการอื่นนำส่งรายได้สูงกว่าเป้าหมาย เช่น รายได้สัมปทานปิโตรเลียม และรายได้จากการประมูลให้ใช้คลื่นความถี่ 3G ย่าน 2.1 GHz เป็นต้น
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน ก.ย. 56 มีมูลค่า 53.4 พันล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ -19.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.7 ตามการลดลงของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศที่หดตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ -31.5 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 9.0 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานสูงปีก่อน สอดคล้องกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้า ที่หดตัวต่อเนื่องเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -2.7 จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -4.7 ทั้งนี้ในช่วง 9 เดือนแรกปี 56 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ก.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 12.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 25.2 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าหดตัวร้อยละ -7.2 จากเดือนก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวของสินเชื่อ ประกอบกับราคาที่ดินเปล่าที่ชะลอตัวลง โดยในเดือน ส.ค. ราคาที่ดินขยายตัวร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 10.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • วันที่ 16 ต.ค. 56 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 จากการที่ กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มทรงตัว และมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ขณะที่นโยบายการคลังแม้มีความล่าช้าออกไปบ้างแต่ยังมีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจ การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในปัจจุบันจึงยังมีความเหมาะสมในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยเฉพาะภายใต้ภาวะเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังมีความไม่แน่นอน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.ย. 56 อยู่ที่ระดับ 90.4 ลดลงเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 91.3 เป็นการปรับตัวลดลงต่ำกว่า 100 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 และต่ำสุดในรอบ 23 เดือน จากความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการผลิตและการคมนาคมขนส่ง ในขณะที่เศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศยังมีแนวโน้มชะลอตัวประกอบกับภาวะทางการแข่งขันที่มีมากขึ้นและต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี เชื่อว่าหากการขับเคลื่อนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐมีรูปธรรมมากขึ้นก็จะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในระยะต่อไป
  • ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน ก.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว (m-o-m SA) หดตัวร้อยละ -0.8 จากเดือนก่อนหน้า สะท้อนภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีการเติบโตและกลับเข้าสู่ระดับปกติภายหลังจากที่มีการเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 55 นอกจากนี้ อุปทานของตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังถือว่ามีสัญญาณการขยายตัว โดยในช่วง 9 เดือนแรกปี 56 พื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุมัติสำหรับที่อยู่อาศัยขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ก.ย. 56 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.06 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 27.6 ต่อปี โดยมาจากนักท่องเที่ยว จีน มาเลเซีย และเวียดนาม ที่ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 102.8 15.3 และ 33.0 ต่อปี ตามลำดับ ส่งผลทำให้ไตรมาสที่ 3 ปี 56 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งสิ้น 6.75 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 26.1 ต่อปี ทั้งนี้ ต้นปีถึงปัจจุบัน (9 เดือนแรกปี 56) นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวน แล้วทั้งสิ้น 19.49 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 22.0 ต่อปี มาจากจีน รัสเซีย และมาเลเซีย เป็นหลัก โดยขยายตัวร้อยละ 90.1 36.4 และ 16.8 ต่อปี ตามลำดับ
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ส.ค. 56 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,300.1พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 74.3 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 44.6 ของ GDP ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะที่สำคัญเกิดจากหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นสุทธิ 37.5 พันล้านบาท โดยมีรายการสำคัญจากหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพื่อชดเชยการขาดดุลเงินงบประมาณและการบริหารหนี้จำนวน 28.4 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว (ร้อยละ 97.8 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นสกุลเงินบาท (ร้อยละ 92.9 ของยอดหนี้สาธารณะ)
Economic Indicators: Next Week
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ในเดือน ก.ย. 56 คาดว่าจะหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -20.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลจากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาลที่เริ่มลดลง นอกจากนี้คาดว่าบริษัทค่ายรถยนต์ต่างๆจะส่งมอบรถยนต์ที่ค้างจองได้ทั้งหมดในช่วงปลายปี 2556 ตามที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ( ส.อ.ท.) ระบุว่าจะสามารถเร่งทยอยการส่งมอบรถที่ค้างจองได้ทั้งหมดภายในเดือน ต.ค. 56 นี้

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend
  • เมื่อคืนวันที่ 16 ต.ค. 56 (ตามเวลาสหรัฐฯ) สภาคองเกรสสหรัฐฯ สามารถตกลงปรับเพิ่มเพดานหนี้ ตลอดจนผ่านร่างกฎหมายงบประมาณ ซึ่งเป็นการยุติการปิดทำการของรัฐบาลกลาง (Partial Government Shutdown) ได้สำเร็จ โดยอาจมีการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้ครั้งต่อไปในเดือน ก.พ. 57
China: mixed signal
  • GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาในปี 56 นี้ จากอุปสงค์ในประเทศที่ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่องเป็นสำคัญ ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 13.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ใกล้เคียงกับการขยายตัวในเดือนก่อนที่ร้อยละ 13.4 บ่งชี้อุปสงค์ในประเทศที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 56 หดตัวร้อยละ -0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานสูงใน เดือน ก.ย. 55 ซึ่งมีปัญหาการทุจริตปลอมแปลงใบแจ้งราคาสินค้าส่งออกเพื่อลักลอบเคลื่อนย้ายเงินทุน ที่ได้รับการแก้ไขในช่วง เดือน พ.ค. 56 ทำให้ใน เดือน ก.ย. 56 มูลค่าการส่งออกต้องเทียบกับฐานซึ่งสูงเกินกว่าความเป็นจริง ประกอบกับค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงที่ผ่านมา ส่วนมูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 7.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวได้ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า อนึ่ง การส่งออกที่หดตัวในขณะที่การนำเข้าขยายตัวต่อเนื่อง จึงทำให้ดุลการค้า เดือน ก.ย. 56 เกินดุลลดลงเหลือ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนหน้า และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 7 เดือน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานต่ำ และเป็นผลจากราคาอาหารที่เร่งตัวขึ้นเป็นสำคัญ
Japan: worsening economic trend
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 56 กลับมาหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากที่เคยขยายตัวร้อยละ 1.9 ในเดือนก่อนหน้าผลจากสินค้าหมวดโลหะที่มิใช่เหล็ก เครื่องจักรกล และอุปกรณ์การขนส่งที่กลับมาหดตัวในเดือนดังกล่าวเป็นสำคัญ
Eurozone: mixed signal
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 56 หดตัวร้อยละ -2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.0 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) บ่งชี้ภาคการผลิตที่ส่งสัญญาณฟื้นตัว มูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 56 หดตัวเป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่ต้น ปี มาอยู่ที่ร้อยละ -5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกสินค้าวัตถุดิบ และอุตสาหกรรมที่หดตัวเร่งขึ้น เป็นสำคัญโดยการส่งออกไปยังคู่ค้าสำคัญส่วนใหญ่หดตัวเร่งขึ้น สะท้อนอุปสงค์จากนอกประเทศที่ยังคงเปราะบาง มูลค่าการนำเข้า เดือน ส.ค. 56 หดตัวร้อยละ -7.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้าสินค้าในหมวดอาหาร เครื่องดื่ม และพลังงานที่หดตัว เป็นสำคัญ ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ส.ค. 56 เกินดุล 7.1 พันล้านยูโร อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 56 (ตัวเลขปรับปรุง) ลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามราคาพลังงานที่ยังคงลดลงต่อเนื่อง
Singapore: worsening economic trend
  • GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.2 แต่หากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะหดตัวร้อยละ -0.3 จากไตรมาสก่อนหน้าผลจากภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.3 ประกอบกับภาคบริการที่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.7 ขณะที่ภาคการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 3.6 ชะลอลงมากจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 6.9 จากการลงทุนของภาครัฐที่ชะลอตัว อีกทั้งยังเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ GDP ในไตรมาสนี้หดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ทั้งนี้ เศรษฐกิจสิงคโปร์ยังคงมีความเสี่ยงจากสภาวะตลาดแรงงานตึงตัว แรงกดดันจากเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และอุปสงค์โลกที่ยังชะลอตัว ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 56 หดตัวร้อยละ -6.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละหดตัวร้อยละ -6.9 ซึ่งเป็นผลจากนโยบายการเพิ่มอัตราภาษีจดทะเบียนรถยนต์โดยหากหักยอดขายรถยนต์ออก ยอดค้าปลีกจะยังขยายตัวร้อยละ 1.3 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากยอดขายสินค้าในหมวดเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ในบ้านที่หดตัว มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 9.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ3.9 เป็นผลจากการส่งออกไปยังฮ่องกง จีน และสหรัฐฯ ที่ขยายตัวในระดับสูง ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ย. 56 ขยายตัวเร่งขึ้นเช่นกันที่ร้อยละ 8.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 เป็นผลจากการนำเข้าสินค้าในหมวดเครื่องจักร และน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขยายตัวร้อยละ14.7 และ 9.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยสรุป ดุลการค้าในเดือน ก.ย. 56 เกินดุลมูลค่า 4.5 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์
South Korea: mixed signal
  • อัตราว่างงาน เดือน ก.ย. 56 ปรับลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ของกำลังแรงงานรวม นับเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 55 ส่วนหนึ่งมาจากภาคการจ้างงานในเดือนดังกล่าวขยายตัวสูงในรอบ 1 ปี โดยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 463,000 ตำแหน่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับการคาดการณ์ว่าตลาดแรงงานในเกาหลีใต้มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นสำคัญ
India: worsening economic trend
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งขยายตัวร้อยละ 2.8 จากการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหมวดสินค้าทุนที่หดตัวลงเป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 6.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 และเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งขยายตัวที่ร้อยละ 6.1 จากราคาสินค้าหมวดเชื่อเพลิงและพลังงาน และสินค้าที่ไม่ใช่อาหารที่ราคาเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ
Hong Kong: mixed signal
  • อัตราการว่างงาน เดือน ก.ย. 56 ทรงตัวต่อเนื่อง 3 เดือนติดต่อกัน อยู่ที่ร้อยละ 3.5 ของกำลังแรงงานรวม
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 17 ต.ค. 56 ปิดที่ 1,460.09 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ปรับสูงขึ้นที่ 42,645 ล้านบาท ด้วยแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติ หลังจากที่สภาคองเกรสสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายปรับขึ้นเพดานหนี้ และร่างกฎหมายงบประมาณ ทำให้รัฐบาลกลางสหรัฐฯ กลับมาเปิดทำการอีกครั้ง ภายหลังจากที่ปิดทำการมานานถึง 16 วัน โดยระหว่างวันที่ 14 - 17 ต.ค. 56 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 2,060.63 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงเล็กน้อย 1-7 bps ตามทิศทางของ US Treasury ภายหลังนักลงทุนคลายความกังวลว่าสหรัฐฯ อาจมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มปรับตัวลดลง โดยเฉพาะพันธบัตรระยะสั้น ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 14 - 17 ต.ค. 56 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 1,871.2 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 17 ต.ค. 56 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 31.05 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข้งค่าขึ้นร้อยละ 1.05 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักและสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่ อาทิ เยน ยูโร ริงกิตมาเลเซีย วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่แข็งค่าในอัตราที่มากกว่า ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.46 จากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 17 ต.ค. 56 ปิดที่ 1,319.09 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ สูงขึ้นจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,272.79 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ