รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 22 ตุลาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 22, 2013 13:28 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 ตุลาคม 2556

Summary:

1. สนพ. ยันเดินหน้าทยอยปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มตามแผนเดิม โดยปรับขึ้นเดือนละ 50 สต.

ไปจนถึงราคา กก. ละ 24.82 บาท

2. โตโยต้าเผยยอดขายรถยนต์ในระบบ 9 เดือนอยู่ที่ 1,034,287 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4

3. การท่องเที่ยวโลกเติบโตร้อยละ 5 ในช่วงแปดเดือนแรกของปีนี้

Highlight:

1. สนพ.ยันเดินหน้าทยอยปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มตามแผนเดิม โดยปรับขึ้นเดือนละ 50 สต. ไปจนถึงราคา กก. ละ 24.82 บาท
  • ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวถึงนโยบายเร่งส่งเสริมการเชื่อมโยงพลังงานไทยไปสู่อาเซียน ทั้งการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า และผลักดันการส่งออกเอทานอลไปสู่ตลาดเออีซี ซึ่งจะสร้างม ความมั่นคงและสร้างรายได้แก่ประเทศ พร้อมส่งเสริมการใช้อี 20 ในประเทศ โดยใช้กลไกตลาดมาดูแล ขณะที่ราคาพลังงานจะเป็นไปตามกลไกเสรี มีการทยอยปรับขึ้นราคาแอลพีจีให้เหมาะสมตามกลไกการปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่ปรับขึ้นเดือนละ 50 สตางค์ ไปจนถึงราคา 24.82 บาท/กิโลกรัม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่กระทรวงพลังงานมีมติปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ภาคครัวเรือนตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 56 เดือนละ 50 สตางค์ และจะเพิ่มราคาไปสู่ระดับ 24.82 บาท/กก. ในเดือน ต.ค. 57 ซึ่งการปรับราคา LPG ดังกล่าวจะมีผลทำให้ต้นทุนด้านเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 56 โดยจะผ่านไปยังหมวดไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปาและแสงสว่างซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 4.88 ของตะกร้าสินค้าทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 9 เดือนแรกของปี 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย 7.7 ล้านครัวเรือน ซึ่งจะได้รับสิทธิ์ใช้ก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนราคาเดิมหลังวันที่ 1 ก.ย. 56 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 56 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.0 ถึง 2.5 ) ประมาณการ ณ เดือน ก.ย. 56
2. โตโยต้าเผยยอดขายรถยนต์ในระบบ 9 เดือนอยู่ที่ 1,034,287 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4
  • ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รายงานสถิติการขายรถยนต์เดือน ก.ย. 56 พบว่ามีปริมาณการขายทั้งสิ้น 94,945 คัน ลดลงร้อยละ -28.4 โดยเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 47,304 คัน ลดลงร้อยละ -30.7 รถเพื่อการพาณิชย์ 47,641 คัน ลดลงร้อยละ -26.0 รวมทั้ง รถกระบะขนาด 1 ตัน ในเซกเมนท์นี้ จำนวน 39,891 คัน ลดลงร้อยละ -29.1
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มตลาดรถยนต์ในปี 56 ยังคงขยายตัวได้แม้ว่าจะส่งสัญญาณชะลอตัว ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงสภาพตลาดภายในประเทศที่กลับเข้าสู่สภาวะปกติหลังจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงปีที่ผ่านมาจากนโยบายโครงการรถยนต์คันแรก ซึ่งการหดตัวอย่างต่อเนื่องของยอดขายรถยนต์ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายรถคันแรกที่สิ้นสุดลง ประกอบกับการการส่งมอบรถยนต์ในโครงการรถยนต์คันแรกก็ใกล้จะหมดลงตามที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ( ส.อ.ท.) ระบุว่าจะสามารถเร่งทยอยการส่งมอบรถที่ค้างจองได้ทั้งหมดภายในเดือน ต.ค. 56 นี้ ในขณะที่สถานการณ์ด้านการผลิตพบว่าหดตัวเช่นเดียวกัน โดยข้อมูลล่าสุดเดือน ก.ย. 56 ยอดผลิตยานยนต์อยู่ที่ 1.9 แสน คันคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -16.28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี คาดว่าการเปิดตัวของรถยนต์รุ่นใหม่หลายรุ่นในช่วงไตรมาสสุดท้ายและกิจกรรมส่งเสริมการขายของแต่ละค่ายรถจะมีส่วนทำให้ตลาดรถยนต์โดยรวมลดลงไม่มากนัก
3. การท่องเที่ยวโลกเติบโตร้อยละ 5 ในช่วงแปดเดือนแรกของปีนี้
  • องค์การการท่องเที่ยวโลกรายงานว่า จำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้สูงถึง 747 ล้านคน ซึ่งมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 38 ล้านคน ส่งผลให้ธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นแหล่งจ้างงานสำคัญในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยยุโรปได้ประโยชน์มากที่สุดเนื่องจากมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 20 ล้านคน ส่วนเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้น 10 ล้านคน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในขณะที่เศรษฐกิจโลกเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปและในหลายพื้นที่มีอัตราการเจริญเติบโตที่ชะลอลงหรือแม้แต่หดตัว การท่องเที่ยวระหว่างประเทศกลับมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก เช่นในยุโรป และ เอเซียแปซิฟิค สำหรับยุโรปนั้น มีส่วนช่วยบรรเทาสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังมีปัญหายืดเยื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจ้างงาน โดยการท่องเที่ยวช่วยสร้างงานและธุรกิจในหลายภาคส่วน และหลายประเทศ ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่า การท่องเที่ยวสร้างงานสัดส่วนประมาณ 1 ใน 12 ของงานทั่วโลกและคิดเป็นร้อยละ 30 ของการส่งออกการบริการทั่วโลก ซึ่งสร้างผลประโยชน์ทั้งทางตรง และทางอ้อมประมาณร้อยละ 9 ของ GDP โลก ทั้งนี้ ในบรรดาประเทศที่มีรายรับจากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในระดับสูง ได้แก่ ประเทศไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 27 ฮ่องกงเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ตุรกีเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 และญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 โดยประเทศที่มีรายจ่ายเพื่อการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในระดับสูง 3 ประเทศหลัก ได้แก่ ประเทศจีนเพิ่มขึ้นสูงมากที่ร้อยละ 31 รัสเซียเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 และบราซิลเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ในขณะที่ประเทศที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจมีระดับการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวชะลอลงหรือหดตัว เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อิตาลี เป็นต้น

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ