Macro Morning Focus ประจำวันที่ 25 ตุลาคม 2556
1. ธปท. เผย 8 เดือนแรกปี 56 เอกชนไทยลงทุนต่างประเทศมูลค่า 1.71 แสนล้านบาท
2. อุตสาหกรรม-BOI เตรียมลงนาม MOU กับญี่ปุ่นเพื่อกระตุ้นการลงทุนโดยตรงจาก SMEs ญี่ปุ่นในไทย
3. ดัชนี PMI ของจีน เดือน ต.ค. 56 จัดทำโดย HSBC (ตัวเลขเบื้องต้น) เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 7 เดือน
Highlight:
- นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการฯ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ช่วง 8 เดือนแรกของปี 56 นี้มีเงินทุนไทยไปลงทุนโดยตรงต่างประเทศแล้วกว่า 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.71 แสนล้านบาท) ทั้งนี้ จำนวนเงินทุนดังกล่าวมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อนซึ่งมีมูลค่า 7.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยทั้งปี 55 มีการลงทุนในต่างประเทศมูลค่ากว่า 12.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.94 แสนล้านบาท) อย่างไรก็ดี ธปท. ได้มีนโยบายส่งเสริมให้นักลงทุนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยรักษาความสมดุลของเงินทุนเคลื่อนย้ายในระยะต่อไป
- สศค. วิเคราะห์ว่า ข้อมูลการลงทุนในต่างประเทศของไทยช่วง 8 เดือนแรกของปี 56 ที่ชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมานั้น ส่วนหนึ่งมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกซึ่งมีทิศทางการฟื้นตัวเป็นไปอย่างเปราะบาง ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลก อาทิ เงินเยนและเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วงที่ผ่านมามีความผันผวนสูงจากการดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) ส่งผลให้นักลงทุนไทยต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน โดยอาจพิจารณาปิดความเสี่ยง (Hedge) ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ ในช่วงที่เหลือของปี ตลาดการเงินโลกยังคงมีความเสี่ยงจากเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ซึ่งยังคงเป็นประเด็นยืดเยื้อทางการเมืองต่อไปจนถึงเดือน ก.พ. 57 อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทที่มีระดับความผันผวนน้อยในช่วงที่ผ่านมาและต้นทุนแรงงานราคาถูกของประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ด้วยกัน ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่เอื้อต่อลงทุนของเอกชนไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในภาคธุรกิจไทยได้ในระยะต่อไป โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 56 ภาคเอกชนไทยลงทุนในประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็นเงินถึง 835 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า ในวันที่ 25 ต.ค.56 กระทรวงอุตสาหกรรมและ BOI จะลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับหน่วยงานราชการและสถาบันการเงินจากประเทศญี่ปุ่นจำนวน 2 ฉบับ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่น โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยความร่วมมือกันจากข้อตกลงทั้ง 2 ฉบับ จะครอบคลุม (1) การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจเพื่อกระตุ้นการลงทุนโดยตรงระหว่างกัน (2) การช่วยเหลือและประสานงานการจัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน และ (3) การส่งเสริมให้มีการสำรวจลู่ทางและโอกาสด้านการลงทุนร่วมกันให้มีแนวทางและรูปแบบที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
- สศค. วิเคราะว่า การลงนามใน MOU ดังกล่าวถือเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นระหว่างผู้ประกอบการไทย และญี่ปุ่น ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจเข้ามาลงทุนในอนาคตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs จากญี่ปุ่น ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และประชาสัมพันธ์กิจกรรมส่งเสริมการลงทุน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ประเทศญี่ปุ่นได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 56 ญี่ปุ่นได้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนสูงถึงร้อยละ 60.3 ของการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมด โดยการลงทุนจากญี่ปุ่นมีจำนวน 448 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 211,350 ล้านบาท อุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจเข้ามาลงทุนสูงสุดได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เหล็ก เครื่องจักรและอุปกรณ์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ กระดาษ และบริการ ตามลำดับ ทั้งนี้ คาดว่าการส่งเสริมการลงทุนดังกล่าวนอกจากจะเป็นการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนแล้ว ยังถือเป็นการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs จากการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ (Know-how) จากผู้ประกอบการญี่ปุ่น เพื่อเป็นการเตรียมส่งเสริมให้ SMEs ไทยขยายธุรกิจไปสู่ระดับสากลในอนาคต
- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Mfg PMI) ของจีนเดือน ต.ค. 56 จัดทำโดย HSBC (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 50.9 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ระดับ 50.2 จุด ทั้งนี้ เป็นผลจากปรับตัวสูงขึ้นของในอัตราเร่งของดัชนีย่อยแทบทุกรายการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดัชนีผลผลิตที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 6 เดือนอยู่ที่ระดับ 51.0 จุด จากระดับ 50.2 จุด สะท้อนเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 4 ปี 56 จากไตรมาสก่อนที่ชะลอตัวลง
- สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ทำให้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของจีนในเดือน ต.ค. 56 ปรับตัวสูงขึ้นนั้น นอกเหนือดัชนีผลผลิตแล้ว ส่วนหนึ่งยังมาจากดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง ส่งสัญญาณว่าอุปสงค์ภายในประเทศกำลังจะฟื้นตัว ทั้งนี้ ยอดค้าปลีกในไตรมาสที่ 3 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 13.4 เร่งขึ้นเพียงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 13.1 นอกจากนี้ ดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่ที่เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งเช่นกัน ยังสะท้อนให้เห็นถึงการส่งออกจีนที่มีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 4 ปี 56 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยูโรโซน คู่ค้าสำคัญอันดับที่ 1 และ 3 (คิดเป็นร้อยละ 17.17 และ 11.46 ของการส่งออกรวมของจีนในปี 55 สัดส่วนการส่งออก) อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อจะส่งสัญญาณว่า เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 เศรษฐกิจจีนยังคงมีความเสี่ยงจากปัญหาระบบธนาคารเงา (Shadow banking) และปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ จึงควรเฝ้าติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 56 ว่าเศรษฐกิจจีนในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 7.6 (ช่วงคาดการณ์ 7.1-8.1)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257