รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 21 - 25 ตุลาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 28, 2013 10:37 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week
Indicators this week
  • ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนก.ย. 56 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 234.3 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อนโดยในเดือนก.ย. 56 มีการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบัน 218.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.5 แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 186.0 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.4 (2) รายจ่ายลงทุน 32.8 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -26.2 ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ รายจ่ายชำระหนี้ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ 32.1 พันล้านบาท รายจ่ายของกระทรวงกลาโหม 8.6 พันล้านบาท รายจ่ายเงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 8.1 พันล้านบาท และรายจ่ายเงินอุดหนุนของของสำนักงานประกันสังคม 5.9 พันล้านบาท เป็นสำคัญ สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณจากปีก่อนเบิกจ่ายได้ 15.5 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 59.9 ทั้งนี้ การเบิกจ่ายทั้งปีงบประมาณ 56 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 2,408.5 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.7 โดยรายจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้ 2,171.5 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.1 คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 90.5 ของวงเงินงบประมาณปี 56
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ก.ย. 56 พบว่า ดุลงบประมาณเกินดุลจำนวน 2.2 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุลจำนวน 150.4 พันล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการประมูลตั๋วเงินคลัง 102.1 พันล้านบาท การกันเงินสำหรับจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ. กำหนดแผนฯ 26.6 พันล้านบาท และรายจ่ายที่เหลื่อมไปเบิกจ่ายในเดือนหน้า 24.9 พันล้านบาท จึงส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้เกินดุลจำนวน 152.6 พันล้านบาท ทั้งนี้ ฐานะการคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณ 56 งบประมาณขาดดุลจำนวน -244.9 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุลจำนวน 6.5 พันล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดก่อนกู้จำนวน -238.4 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณ 56 อยู่ที่ 603.9 พันล้านบาท
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ในเดือนก.ย. 56 อยู่ที่ 47,304 คัน หรือหดตัวร้อยละ -30.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -16.4 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาลที่เริ่มลดลง นอกจากนี้คาดว่าบริษัทค่ายรถยนต์ต่างๆจะส่งมอบรถยนต์ที่ค้างจองได้ทั้งหมดในช่วงปลายปี 2556 ตามที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ( ส.อ.ท.) ระบุว่าจะสามารถเร่งทยอยการส่งมอบรถที่ค้างจองได้ทั้งหมดภายในเดือน ต.ค. 56 นี้ ทั้งนี้ในช่วง 9 เดือนแรกปี 56 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ขยายตัวร้อยละ 10.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ก.ย. 56 อยู่ที่ 47,641 หรือหดตัวร้อยละ -26.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -28.0 ตามการลดลงของยอดขายรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่หดตัวร้อยละ -29.1 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -32.9 เนื่องจากมีการเร่งผลิตและส่งมอบไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า ทำให้คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 56 ยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์จะยังหดตัว เนื่องจากปัจจัยฐานที่เร่งสูงมากในช่วงปลายปี 55 ทั้งนี้ในช่วง 9 เดือนแรกปี 56 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ หดตัวที่ร้อยละ -2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Economic Indicators: Next Week

  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนต.ค. 56 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 1.4 โดยราคาสินค้าเชื้อเพลิงคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ประกอบกับราคาสินค้าในหมวดไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปาและแสงสว่างคาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลของนโยบายการปรับขึ้นค่าผ่านทางพิเศษ ค่า FT และราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 0.3 (mom)

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal
  • การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ก.ย. 56 เพิ่มขึ้น 148,000 ตำแหน่ง ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 193,000 ตำแหน่ง ผลจากการจ้างงานภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 126,000 ตำแหน่ง จากภาคก่อสร้าง (+20,000 ตำแหน่ง) ภาคค้าปลีก (+20,800 ตำแหน่ง) และภาคขนส่งและโกดัง (23,400 ตำแหน่ง) เป็นสำคัญ ส่งผลให้อัตราการว่างงาน เดือน ก.ย. 56 แตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 5 ปีที่ร้อยละ 7.2 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า มูลค่าส่งออก เดือน ส.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่มูลค่านำเข้าหดตัวร้อยละ -0.8 ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ส.ค. 56 ขาดดุลลดลงที่ -62.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ยอดขายบ้านมือสอง เดือนก.ย. 56 อยู่ที่ 4.28 แสนหลัง หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 15.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตาม หากปรับผลทางฤดูกาลแล้ว ยอดขายจะหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -1.9 จากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ราคากลางบ้าน เดือน ก.ย. 56 อยู่ที่ 199,200 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลงเล็กน้อยจากดือนก่อนหน้า
China: improving economic trend
  • ราคาบ้าน เดือน ก.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 9.3 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ถือเป็นการเพิ่มขึ้นของราคาในอัตราสูงที่สุดในรอบ 33 เดือน และเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปี 55 โดยราคาบ้าน 69 เมือง ใน 70 เมืองปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาบ้านในเมืองใหญ่ เช่น กวางโจว เซินเจิ้น เซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง ที่ขยายตัวเร่งขึ้นถึงร้อยละ 19.9 19.6 16.9 และ 16.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการชะลอการขยายตัวของราคาอสังหาริมทรัพย์แล้วก็ตาม ส่งสัญญาณความเสี่ยงต่อเสถียรภาพภาคอสังหาริมทรัพย์ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) โดย HSBC อยู่ที่ระดับ 50.9 จุด สูงสุดในรอบ 7 เดือน และอยู่เหนือระดับ 50.0 จุด ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ระดับ 50.2 จุด ทั้งนี้ เป็นผลจากปรับตัวสูงขึ้นของในอัตราเร่งของดัชนีย่อยแทบทุกรายการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดัชนีผลผลิตที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 6 เดือนมาอยู่ที่ระดับ 51.0 จุด จากระดับ 50.2 จุด สะท้อนเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น
Australia: mixed signal
  • อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาสที่ 3 ปี 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 2.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยราคาสินค้าหมวดที่เร่งขึ้นชัดเจน คือหมวดไฟฟ้า สาธารณูปโภค และพลังงาน
Japan: improving economic
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 56 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 11.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปสหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรปที่ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง และมูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ย. 56 ขยายตัวสูงที่ร้อยละ 16.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากนำเข้าสินค้าทุนที่ยังคงขยายได้ในระดับสูง ส่งผลให้ดุลการค้าเดือนดังกล่าวขาดดุลมูลค่า -9.3 แสนล้านเยน อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นบวกต่อเนื่องติดต่อกัน 4 เดือน ผลจากราคาสินค้าหมวดอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นสำคัญ
Singapore: improving economic
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 2.0 ทั้งนี้ เป็นผลจากค่าใช้จ่ายในหมวดขนส่งที่หดตัวร้อยละ -1.5
Vietnam: improving economic
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 5.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 6.3 ทั้งนี้ เป็นผลจากราคาสินค้าในหมวดอสังหาริมทรัพย์และค่าใช้จ่ายในหมวดขนส่งขยายตัวชะลอลง
Philippines: improving economic
  • มูลค่าการนำเข้า เดือน ส.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 6.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 8.7 ทั้งนี้ เป็นผลจากการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัวร้อยละ -9.0 โดยสรุป ดุลการค้า เดือน ส.ค. 56 ขาดดุล -961 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
South Korea: improving economic
  • GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.5 และ 2.3 ในไตรมาสที่ 1 และ 2 ตามลำดับ โดยภาคการลงทุนขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับภาคการบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวและเป็นกำลังขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ ในขณะที่ภาคการส่งออกชะลอลงเล็กน้อย
Hong Kong: improving economic
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน กลับมาขยายตัวหลังจากที่หดตัวในเดือนก่อนหน้าร้อยละ -1.3 เนื่องจากการส่งออกไปจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 1 กลับมาขยายตัวเป็นสำคัญ ด้านมูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน กลับมาขยายตัวหลังจากที่หดตัวในเดือนก่อนหน้าร้อยละ -0.2 เนื่องจากการนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องดื่ม ยาสูบ เครื่องจักร และอุปกรณ์การขนส่งที่กลับมาขยายตัวเป็นสำคัญ ทำให้ดุลการค้า เดือน ก.ย. 56 เกินดุล 3.1 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ากว่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 4.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า จากราคาสินค้าหมวดอาหารที่เร่งขึ้นเป็นสำคัญ
Taiwan: improving economic
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากอุตสาหกรรมภาคการผลิตที่ขยายตัวเป็นสำคัญ อัตราว่างงาน เดือน ก.ย. 56 ทรงตัวที่ร้อยละ 4.18 ของกำลังแรงงานรวม โดยทรงตัวในระดับนี้ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7
Eurozone: mixed signal
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ต.ค. 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 27 เดือน มาอยู่ที่ระดับ -14.5 สะท้อนการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเสี่ยงจากภาวะการจ้างงานที่ยังคงลดลงต่อเนื่อง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน ต.ค. 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 51.5 อย่างไรก็ตาม ดัชนีดังกล่าวยังคงอยู่ที่ระดับสูงกว่าระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สะท้อนภาคการผลิตที่ยังขยายตัวได้โดยดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการอยู่ที่ระดับ 51.3 และ 50.9 ตามลำดับ
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวลดลงในช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนจะปรับตัวสูงขึ้น โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 24 ต.ค. 56 ปิดที่ 1,466.32 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ลดลงที่ 38,103 ล้านบาท ด้วยแรงซื้อจากนักลงทุนรายย่อยในประเทศและนักลงทุนต่างชาติ ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิถึง -5,564.5 ล้านบาท โดยระหว่างวันที่ 21 - 24 ต.ค. 56 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 638.03 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงเล็กน้อย 1-7 bps ตามทิศทางของ US Treasury ภายหลังนักลงทุนคลายความกังวลทั้งประเด็นเพดานหนี้สหรัฐฯ และอีกทั้งตลาดรอติดตามผลการประชุม FOMC กลางสัปดาห์หน้า ซึ่งตลาดคาดว่า Fed น่าจะเลื่อนการลดขนาดมาตรการ QE ออกไปเป็นการประชุมเดือน ธ.ค. 56 หรือต้นปีหน้า ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 21 - 24 ต.ค. 56 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 1,752.1 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 24 ต.ค. 56 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 31.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยร้อยละ -0.16 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาคโดยเฉพาะเงินริงกิตมาเลเซีย อย่างไรก้ตาม ค่าเงินสกุลอื่นๆ ที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงร้อยละ -0.52 จากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 24 ต.ค. 56 ปิดที่ 1,346.54 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ สูงขึ้นจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,315.14 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ